จะเที่ยวยาวได้ไงเมื่อสิทธิลาหยุดพักร้อนเราน้อยเป็นอันดับโลก

4 Min
1632 Views
04 Jan 2021

เคยสังเกตมั้ยครับว่าเวลา “ฝรั่ง” มาเที่ยวบ้านเรานี่เขาอยู่กันยาวๆ เป็นเดือนเลย จนบางทีเราสงสัยว่าเขาไม่ต้องทำมาหากินหรืออย่างไร? ในขณะเดียวกันถ้าหันมามองบ้านเรา คนทำงานแล้วนี่หยุดงานไปเที่ยวสัก 10 วันนี่ก็เรียกว่าพีคสุดๆ ละ

เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมการลาหยุดของเรากับเขานี่มันมีความต่างกัน?

บางคนอาจคิดว่ามันเป็นเพราะรายได้เขาสูงกว่าเรา เขาก็เลยมาอยู่มาเที่ยวประเทศที่ค่าครองชีพต่ำกว่าอย่างเราเป็นเดือนๆ ได้

แต่เหตุผลมันแค่นั้นเหรอครับ?

คำตอบที่น่าจะเป็นระดับรากฐานกว่านั้นครับ และคำตอบก็คือ แรงงานของบ้านเขามี “สิทธิในการลาพักร้อนตามกฎหมายขั้นต่ำ” สูงกว่าเราเยอะครับ

ในประเทศแถบยุโรป วันลาพักร้อนเขาว่ากันเป็นเดือนครับ ไปไล่ดูได้เลย ปกติเขาจะให้ลาหยุดได้ 20 วันต่อปีเป็นอย่างต่ำ ซึ่งนี่ก็เป็นไปตามแนวทางของกฎหมายสหภาพยุโรปที่บังคับให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายให้ลูกจ้างลาหยุดได้ 20 วันต่อปีเป็นอย่างต่ำ

ดังนั้นเราก็จะเห็นเลยว่ามันเป็นปกติมากๆ ของคนยุโรปที่จะลามาเที่ยวเป็นเดือน เพราะเขามีวันหยุดปีละเป็นเดือนจริงๆ

จริงๆ ถ้ามากางดูกฎหมายแรงงานทั่วโลก เราก็จะเห็นได้เลยว่าสิทธิในการหยุดพักผ่อนตามกฎหมายนั้นไม่มี “มาตรฐานสากล” ใดๆ เลย พวกยุโรปไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปหรือไม่ ก็มักจะกำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 20 วัน (ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือหยุดหนึ่งเดือน) แต่บางประเทศก็จะมากกว่านั้น เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ฝรั่งเศส ออสเตรีย ได้ 25 วัน หรืออังกฤษก็ลาหยุดได้ปีละ 28 วันซึ่งถือว่ามากระดับท็อปของโลกเลย

และวันหยุดพวกนี้ เขาก็คาดหวังให้คนเอามาใช้จริงๆ นะครับ ไม่ใช่มีไว้เฉยๆ ให้เสียวันหยุดไปทิ้งๆ เมื่อขึ้นปีต่อไป คือมันเป็นวัฒนธรรมของเขาที่จะต้องใช้วันหยุดเพื่อหยุดจริงๆ และนี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายแรงงานที่ทำให้คนประเทศเขาสามารถออกท่องเที่ยวไกลๆ และยาวๆ ได้ทุกปี

ซึ่งสิทธิ์นี้โดยทั่วไปพวกเขาจะได้ตั้งแต่เริ่มทำงานในปีแรกเลยนะครับ ไม่ใช่ต้องทำงานมานานๆ ถึงจะได้สิทธิ์นี้

แต่พอเราหันกลับมาดูทางเอเชียเรา เราจะพบเลยว่ามันไม่มีวิธีคิดแบบนี้ วันหยุดตามกฎหมายแรงงานของทางเราน้อยกว่ามาก และวันหยุดที่น้อยนี้มันก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นวันหยุดเพื่อการ “พักร้อน” แบบโลกตะวันตก แต่มันถูกมองว่ามันเป็นวันหยุดเพื่อ “ลากิจ” มากกว่า

เอาง่ายๆ น่ะครับ ขนาดประเทศที่เจริญๆ หน่อยอย่างไต้หวันและญี่ปุ่นเนี่ย ตอนเริ่มงาน วันหยุดมันได้แค่ 7 วันในกรณีของไต้หวัน และ 10 วันในกรณีของญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้ว่าถ้า “ทำงานไปนานๆ” วันหยุดมันจะเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ เป็น 20 วัน แต่นั่นก็หมายความว่าคนที่ย้ายงานบ่อยๆ ชีวิตนี้ก็จะไม่ได้วันหยุดยาว เท่านั้นยังไม่พอ ถึงคนทำงานที่เดิม ก็ต้องทำเป็นสิบๆ ปีถึงจะได้หยุดยาวแบบที่คนยุโรปหยุดกัน ซึ่งอายุไปขนาดนั้นบางทีก็เที่ยวไม่ไหวแล้ว

ซึ่งถ้าเรามองลองดูประเทศเพื่อนบ้านเราว่าเขามีวันหยุดตามกฎหมายแรงงานกันเท่าไรก็จะพบว่ามันน้อยๆ ทั้งนั้น ถ้าจะไล่จากตั้งแต่มากมาน้อยก็คงจะเป็น 15 วัน (ลาวและกัมพูชา) 12 วัน (เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย) 10 วัน (พม่า) 7 วัน (สิงคโปร์และบรูไน) 6 วัน (ไทย) 5 วัน (ฟิลิปปินส์)

ใช่แล้วครับ ไทยเรานี่มีวันหยุดพักร้อนขั้นต่ำตามกฎหมายให้ลูกจ้างต่ำเกือบสุดในภูมิภาค

ที่น้อยกว่าไทยเราก็คือ ฟิลิปปินส์ซึ่งมี 5 วัน ซึ่งนั่นก็เท่ากับจีนเลยครับ

และที่เขียนมาก็อย่างที่เห็นครับ ขนาดประเทศที่เศรษฐกิจเป็นแบบโลกที่หนึ่งแล้วอย่างสิงคโปร์นี่ยังวันหยุดพักร้อนขั้นต่ำแค่ 7 วันเลยครับ แทบไม่ได้ดีไปกว่าบ้านเราเลย

พูดง่ายๆ คือคนเอเชียเรามีวันหยุดพักร้อนตามกฎหมายกันน้อยทั้งแถบครับ เป็นแบบนี้แบบไม่เกี่ยงว่าประเทศจะเจริญหรือไม่เจริญ ดังนั้นเราจึงไม่มีสิทธิเลยที่จะไปท่องโลกเป็นเดือนๆ ถ้าเราทำงานปกติ ในขณะที่คนยุโรปทำได้

ในทางกลับกันทางเอเชียเราก็มักจะมีความคิดว่า “ช่วงเที่ยว” ก็คือช่วงวันหยุดราชการหรือวันหยุดเทศกาลยาวๆ ซึ่งเราไปเที่ยวได้เต็มที่ก็สัก 10 วัน (แบบญี่ปุ่น จีน เขาก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า Golden Week)

แต่ผลของระบบแบบนี้คือ เราก็จะไปออกันสนามบินช่วงนั้น ถ้าคนมีรถก็จะนรกตั้งแต่หาที่จอดรถ แล้วตามด้วยคิวยาวสุดๆ ตอนโหลดกระเป๋า แล้วก็ไปแออัดกันที่ ตม. อีก

พวกคนยุโรปเขาจะไม่มีปัญหาทำนองเดียวกันนี้ เพราะเขาจะหยุดเมื่อไรก็ได้ คนเขาปกติก็จะไม่ได้หยุดพร้อมๆ กัน (ไม่งั้นบ้านเมืองก็แทบจะร้าง) ดังนั้นเขาจึงจะไม่มีความแออัดของการออกนอกประเทศแบบสนามบินบ้านเราช่วงหยุดยาว

ถามว่าทำไมเขาถึงมีวันหยุดยาวได้โดยอิสระแบบนี้มาตั้งแต่แรก ถ้าจะตอบให้สั้นสุดโดยรวมๆ ก็คือขบวนการสิทธิแรงงานของพวกเขานั้นเข้มแข็งและต่อสู้กันมายาวนาน จนมีสิทธิกันมากขนาดนี้ (ซึ่งจริงๆ แนวคิดว่าวันนึงลูกจ้างต้องทำงานไปเกิน 8 ชั่วโมง และวันเสาร์อาทิตย์คือวันหยุดนี่ก็เป็นผลจากการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในอดีตทั้งนั้น เพราะแรงงานสมัยก่อนทำงานกันเป็นสิบกว่าชั่วโมงและไม่มีวันหยุด)

ส่วนทางเอเชียเรา เราไม่เคยมีขบวนการสิทธิแรงงานที่เข้มแข็ง เท่านั้นไม่พอเรายังมี “วัฒนธรรมบ้างาน” อีก ดังนั้นเราจึงไม่คิดว่าการหยุดพักร้อนเป็นเดือนได้ปีละครั้งนี่คือเรื่องปกติของโลก เท่านั้นยังไม่พอ ขนาดมีวันหยุดพักร้อนกันน้อยๆ อยู่แล้ว เราก็ยังมีวัฒนธรรมที่จะต้องใช้วันหยุดไม่หมด ซึ่งกรณีชัดๆ ก็อย่างเกาหลีใต้ที่หยุดพักร้อนได้ปีละถึง 15 วันระดับเบสิกตามกฎหมาย (และจะเพิ่มขึ้นไปได้หลังจากการทำงานนานๆ จนเป็น 25 วัน) นี่นับว่าเยอะในมาตรฐานเอเชีย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยวัฒนธรรมการทำงานของคนเกาหลีใต้ เขาก็จะใช้วันหยุดพักร้อนเฉพาะยามจำเป็นเท่านั้น และก็ไม่มีใครคาดหวังว่าจะมีใครใช้วันหยุดให้หมด

หรือถ้าจะให้ร้ายกว่านั้น ถ้าเรามาดู เราก็จะเห็นว่า “วัฒนธรรมตะวันตก” ที่เรารับมามันเป็นวัฒนธรรมอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศเจริญแล้วประเทศเดียวในโลกที่ไม่มีวันหยุดขั้นต่ำระบุไว้ในกฎหมาย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายจ้าง ซึ่งก็ทำให้คนอเมริกันหยุดได้น้อยกว่าคนยุโรปอยู่แล้วไม่พอ คนอเมริกันก็ยังมีวัฒนธรรมการบ้างานระดับที่ปีๆ หนึ่งใช้วันหยุดกันไม่หมดเป็นปกติอีก ซึ่งคนยุโรปไม่เป็น

ดังนั้นถ้าจะกล่าวโดยสรุปแล้ว เราถูกรายล้อมด้วยภาวะที่การลาหยุดยาวๆ เป็นเรื่องผิดปกติ ประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นแบบนี้ ประเทศตะวันตกที่เรารับวัฒนธรรมมาเยอะๆ ก็เป็นแบบนี้ ดังนั้น เราจึงไม่รู้สึกรู้สาอะไรเท่าไรกับการที่กฎหมายเราระบุว่านายจ้างให้วันหยุดพักร้อนแก่เรา 6 วันต่อปีก็พอ

หรือจะพูดอีกแบบ เราเป็นเมืองระดับท็อปที่ชาวต่างชาติจากทั่วทุกสารทิศแห่กันมาเที่ยว แห่กันมาอยู่ยาวๆ แต่กฎหมายบ้านเราดันไม่เอื้อให้เราสามารถเป็น “นักท่องเที่ยว” ไปประเทศอื่นแล้วอยู่ยาวๆ ได้อย่างที่เขามาอยู่บ้านเรานั่นเองครับ

ซึ่งก็ไม่แปลกอีกนั่นแหละครับว่าทำไมคนบ้านเราถึงฝันจะรวยๆ เพื่อสักวันจะได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโดยไม่ต้องทำงาน ในขณะที่คนยุโรปเขาไม่ค่อยจะมีฝันแบบนั้น เพราะวันลาหยุดพักร้อนที่เขามีกันตั้งแต่เริ่มทำงานก็พอให้เขาเที่ยวได้อิ่มไปเลยปีละเดือน