3 Min

ทำไมสิงโตตัวผู้ถึงไม่ทำมาหากิน ปล่อยให้ตัวเมียหาอาหาร?

3 Min
7063 Views
08 Sep 2021

สิ่งโตเป็นสัตว์ที่เรามองว่าเป็น “เจ้าป่า” แห่งทุ่งหญ้าสะวันนา เรามักจะมองว่าสิงโตคือนักล่าผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสู้ได้อีกแล้วในป่า ซึ่งภาพของเราที่มีเมื่อเรานึกถึงสิงโตเราก็มักจะนึกถึงสิงโตตัวผู้ที่มีแผงคอสวยงาม

อย่างไรก็ดีหลาย ๆ คนก็คงเคยได้ยินว่าสิงโตตัวผู้เป็นสัตว์ที่ “ขี้เกียจ” สุด ๆ วัน ๆ เอาแต่นอนเฉย ๆ ปล่อยให้หน้าที่ในการล่าสัตว์หาอาหารมาให้ฝูงเป็นหน้าที่ของสิงโตตัวเมีย

บางคนอาจมองว่านี่เป็นการสะท้อนภาวะ “ชายเป็นใหญ่” ตามธรรมชาติ ที่ตัวผู้ไม่ยอมทำมาหากิน เบ่งอำนาจให้ตัวเมียต้องทำมาหากิน

แต่ความจริงมันซับซ้อนกว่านั้นครับ เพราะถ้าจะอธิบายให้ตรงก็คือนี่เป็นการ “แบ่งงานกันทำ” ตามลักษณะทางกายภาพ

หรือให้ตรงกว่านั้น สิงโตตัวผู้ไม่ออกล่าเหยื่อ ปล่อยให้ตัวเมียออกล่าเหยื่อเป็นหลัก มันอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางกายภาพได้เลยว่า สิงโตตัวเมียเป็น “นักล่า” ที่ดีกว่า

ทำไมสิงโตตัวเมียเป็นนักล่าที่ดีกว่า? เหตุผลตรงนี้เราต้องไปดูการออกล่าสัตว์ส่วนใหญ่ของสิงโต

สิงโตก็ดังเช่นสัตว์นักล่าส่วนใหญ่ที่อยู่ส่วนบนสุดของห่วงโซ่อาหาร การล่ามักจะเป็นไปกับสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า (เช่นพวกกวาง) ซึ่งสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่านั้นไม่ได้หมายความว่ามันอ่อนแอกว่าเท่านั้น แต่มันหมายความว่ามันมีความว่องไวปราดเปรียวกว่าด้วย ดังนั้นในแง่นี้ สัตว์นักล่าที่ทั่วไปมักจะมีขนาดใหญ่กว่า จึงต้องมักจะต้องทำการ “ซุ่ม” ก่อนที่จะพุ่งเข้าหาเหยื่อ และถ้าจัดการไม่ได้ ก็ต้องวิ่งไล่กวดต่อ

การจะทำแบบนี้ สิงโตตัวผู้ไม่เหมาะด้วยประการทั้งมวลถ้าเทียบกับสิงโตตัวเมีย เพราะสิงโตตัวเมียนั้นจะตัวเล็กกว่าสิงโตตัวผู้ตามธรรมชาติ (น้ำหนักจะน้อยกว่าประมาณ 10-20%) และทำให้มีความว่องไวในการวิ่งมากกว่า หรือที่มากกว่านั้น สิงโตตัวเมียยังมีสีขนเรียบ ๆ สีเดียวทั้งตัว ทำให้เวลาซุ่มมันกลมกลืนกับภูมิประเทศ ในขณะที่แผงคออันโดดเด่นของสิงโตตัวผู้มันทำให้สิงโตตัวผู้ไม่เหมาะกับการซุ่มเท่าไร

เหตุผลทางกายภาพนี้ก็ทำให้ผู้มีหน้าที่ในการล่าเหยื่ออาหารของฝูงสิงโตคือตัวเมีย ส่วนตัวผู้ก็อย่างที่เราเห็นวัน ๆ ก็เอาแต่นอนรอกิน

คำถามตรงนี้คือ แบบนี้สิงโตตัวผู้มีหน้าที่อะไร? ตัวเมียคอยหาอาหารมาเลี้ยงไว้แค่ไว้ผสมพันธุ์ เท่านั้นเหรอ?

คำตอบคือ ไม่ใช่ สิงโตตัวผู้มีหน้าที่ที่สำคัญกว่านั้น และเอาจริง ๆ มันก็ไม่ได้ไม่ “ล่าเหยื่อ” โดยสิ้นเชิงด้วย

สิงโตตัวผู้ถ้าจะให้เทียบแบบเกม ๆ หน่อย มันคือ นักสู้ (fighter) ส่วนตัวเมียนั้นคือ นักลอบสังหาร (assassin)

สิงโตตัวผู้แม้ว่าจะไม่ถนัดการซุ่ม หรือลอบสังหาร แต่ถ้าสู้กันต่อหน้า ด้วยพลังงานดิบ ๆ ของกล้ามเนื้อ สิงโตตัวเมียไม่มีทางสู้สิงโตตัวผู้ได้ ซึ่งในแง่นี้ สิงโตตัวผู้จึงมีหน้าที่เป็น “ผู้คุ้มครอง” ฝูง ที่คอยสู้กับสิงโตฝูงอื่น หรือสัตว์อื่น ๆ ที่เข้ามารังควานฝูง เพราะการสู้กันต่อหน้า คืองานถนัดของสิงโตตัวผู้ที่ตัวเมียไม่มีความสามารถจะสู้ได้

ซึ่งลักษณะแบบนี้ก็สอดคล้องกับการล่าของสิงโตตัวผู้ด้วย เพราะเอาจริง ๆ เวลาที่ฝูงขาดอาหาร ไม่มีสัตว์เล็ก ๆ ไว้ล่ากิน สิงโตตัวผู้จะช่วยล่าสัตว์ใหญ่ ๆ ที่ช้ากว่าสิงโต เช่น พวกวัวป่า ไปจนถึงยีราฟ หรือกระทั่งช้างแอฟริกา เพราะก็อย่างที่อธิบายไป สิงโตตัวผู้ไม่มีปัญหากับการสู้กับแบบต่อหน้า มันแค่มีปัญหากับการซุ่มล่า เพราะมันทำไม่ได้ดีเท่าตัวเมีย นอกจากนี้ การล่าสัตว์ตัวใหญ่ ความเร็วของตัวเมียมันไม่ได้มีประโยชน์นัก แต่สิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าในการล่าสัตว์ตัวใหญ่คือแรงกัดและแรงตะปบของสิงโตตัวผู้มากกว่า

ทั้งหมดนี้ ถ้าเราคิดว่าสิงโตตัวผู้ “ขี้เกียจ” เราก็อาจต้องมองพวกมันใหม่ เพราะมันคือ “สุดยอดนักสู้” ของฝูง ที่พลังโจมตี และพลังป้องกันสูงกว่าตัวเมียเยอะ มันแค่ช้ากว่า และพรางตัวได้ไม่ดี แต่เมื่อถึงบทบาทหน้าที่ของมัน มันก็เล่นบทบาทของมันได้อย่างเหมาะสมอยู่

ซึ่งไป ๆ มา ๆ นี่ก็เป็น “เรื่องธรรมชาติ” มาก เพราะการแบ่งงานกันทำตามเพศนั้นเป็นเรื่องปกติของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากอยู่แล้ว และการพยายามให้ทั้งสองเพศมีบทบาทหน้าที่ทัดเทียมกันในทุกมิติของสังคมอย่างสมบูรณ์ มันเป็นเรื่องประหลาดของมนุษย์เสียมากกว่า ซึ่งนั่นก็อาจสอดคล้องกับ “งาน” ต่าง ๆ ในสังคมสมัยใหม่ของมนุษย์ที่มักจะต้องพึ่งพาลักษณะทางกายภาพพื้นฐานน้อยลงเรื่อย ๆ

อ้างอิง