“เราอยากให้ a.e.y.space เป็นพื้นที่ธรรมดาที่ใครจะเดินเข้ามาก็ได้” คุยกับ ‘เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล’ ผู้ก่อตั้ง a.e.y.space พื้นที่ศิลปะแห่งเมืองสงขลาที่ปลุกชีวิตชีวาให้กับเมืองแห่งนี้
คงไม่เป็นการพูดเกินจริงแต่อย่างใด หากจะบอกว่า ‘เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล’ คือหนึ่งในบุคคลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในเมืองสงขลา
เขาเป็นเจ้าของ ‘a.e.y.space’ พื้นที่จัดแสดงในตึกเก่าสีขาวใจกลางเมืองสงขลา เป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนอีเวนต์ต่างๆ ให้กับเมือง ไม่ว่าจะเป็น Made in Songkhla, Portrait of Songkhla และล่าสุด Pakk Taii Design Week 2023 แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เขาเป็นชาวสงขลาโดยกำเนิด ที่หลังจากเดินทางไปใช้ชีวิตในเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ และนิวยอร์กมาหลายปี เอ๋ก็ตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิด และรับหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ ที่คอยเชื่อมโยงผู้คนต่างๆ เข้าด้วยกัน
หากย้อนเวลากลับไปสิบกว่าปีก่อน สงขลาคือเมืองทางผ่านที่ใครๆ ก็มองข้าม ทว่าสงขลาในเวลานี้เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันและความสว่างไสว ซึ่งไม่อาจมองข้าม โดยที่ในจุดกึ่งกลาง เอ๋คือพลังงานหนึ่งที่คอยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
เราอยากชวนทุกคนไปรู้จักกับเอ๋ หรือที่คนสงขลาเรียกกันว่า ‘พี่เอ๋’ ผู้ปลุกชีวิตชีวาให้กับเมืองเล็กๆ แห่งนี้
คุณเกิดและเติบโตที่สงขลา อยากรู้ว่า ตอนเด็กๆ ความรู้สึกของคุณที่มีต่อเมืองนี้เป็นอย่างไร
เราเกิดและเติบโตที่นี่ ซึ่งความเป็นเด็กสงขลามันจะชอบเปรียบเทียบกับเด็กหาดใหญ่อยู่ตลอด เพราะเราจะรู้สึกว่า ที่นี่ไม่มีอะไรเลย สิ่งที่ดีที่สุดคือทะเล ตื่นเช้ามาแต่ละวันก็จะได้กลิ่นปลา แล้วพื้นฐานที่บ้านเราทำประมงด้วย เราก็เลยคุ้นเคยกับท่าเรือ กลิ่นปลา และกลิ่นน้ำมันมาตั้งแต่เด็กๆ เราเลยรู้สึกอิจฉาหาดใหญ่ อย่างช่วงมัธยมปลายก็จะชอบขี่มอเตอร์ไซค์กับเพื่อนไปเที่ยวที่หาดใหญ่ ไปดูหนัง ไปซื้อของที่อยากได้ เครื่องเสียง รองเท้า และบรรดาของหนีภาษีที่มาจากมาเลเซีย หาดใหญ่มันเลยเป็นเมืองแห่งสีสันสำหรับเรา
เราไม่ได้ไม่ชอบสงขลานะ แต่มันรู้สึกว่า ถึงจุดหนึ่งเราก็อยากจะไปอยู่ในที่ซึ่งเจริญกว่านี้ เราเลยตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ไปเรียนด้านบริหารธุรกิจ คิดว่าอย่างน้อยๆ ก็ควรจะมีความรู้เรื่องธุรกิจไว้บ้าง
จากเด็กที่เติบโตในเมืองเล็กๆ อย่างสงขลา ความรู้สึกที่ได้ไปอยู่ในเมืองใหญ่ขึ้นอย่างกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง
มันก็ใหญ่ขึ้นนะ เพราะกรุงเทพฯ มันก็ใหญ่ขึ้นกว่าหาดใหญ่ มีหนังให้ดู มีร้านหนังสือ ซึ่งมันก็เติมเต็มเราดี เหมือนได้ไปอยู่ในโลกใบใหม่ ซึ่งพอเรียนจบเราก็ไปทำงานที่แผนกประชาสัมพันธ์และโฆษณาในบริษัทแห่งหนึ่ง แต่พอทำงานไปสักพักเรากลับรู้สึกว่า จริงๆ ไม่ใช่คนชอบธุรกิจขนาดนั้น
อีกอย่างคือ ตั้งแต่เด็กๆ เราเป็นคนชอบวาดรูป สามารถเขียนความคิดออกมาเป็นภาพได้ มันเลยเกิดความคิดที่อยากเรียนด้านกราฟิกดีไซน์ขึ้นมา เราเลยเลือกไปเรียน Communications Design ที่ Pratt Institute ที่นิวยอร์ก
เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า คุณไปเจออะไรที่ Pratt Institute บ้าง
ทุกคนเก่งมาก เราไปด้วยความรู้ที่แทบจะเป็นศูนย์ ใช้โปรแกรมยังไม่ค่อยจะเป็นเลย ซึ่งเขาก็ไม่สอนการใช้คอมพิวเตอร์ใดๆ ด้วย ทุกอย่างต้องเรียนรู้เองหมด โดยที่อาจารย์จะแค่สั่งงานมาแล้วคุณต้องทำให้ได้ มันเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากๆ ถามว่ากดดันไหม มันก็กดดันนะ เพียงแต่เราคิดว่าตัวเองเป็นคนที่รับความกดดันได้ค่อนข้างดี
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราก็เปลี่ยนที่ทางของตัวเองอยู่เรื่อยๆ ด้วย อย่างการที่เราเคยอยู่เมืองเล็กๆ แล้วพาตัวเองไปอยู่ในเมืองที่ใหญ่ขึ้นอย่างกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางมาถึงเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก อะไรเหล่านี้มันก็ถือเป็นความท้าทายเหมือนกัน
คิดถูกไหมที่พาตัวเองไปไกลถึงนิวยอร์ก
เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตมากกว่า เพราะเวลาไปอยู่ที่อื่น เราไม่ได้โฟกัสเรื่องการเรียนอย่างเดียว แต่คือความอยากไปใช้ชีวิตในเมืองใหม่ๆ ซึ่งการได้ไปอยู่นิวยอร์กมันก็ทำให้เราได้สัมผัสกับศิลปะมากขึ้น ที่นั่นมีอะไรให้ดูเยอะ กับอีกอย่างที่เราได้เรียนรู้คือ จากที่เคยคิดว่ากราฟิกดีไซน์คือเรียนไปเพื่อทำโฆษณา จริงๆ แล้วแล้วมันคือการย่อยสิ่งต่างๆ และผสมผสานเข้าด้วยกันมากกว่า คือการทำให้สิ่งยากๆ มันย่อยง่าย
เราอยู่นิวยอร์กเกือบ 4 ปี แล้วก็กลับเมืองไทย
พอกลับมาเมืองไทยแล้วคุณไปทำอะไรต่อ
เรากลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ พอดีว่าช่วงนั้นธุรกิจดนตรีกำลังรุ่ง เราเลยไปสมัครเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ให้กับบริษัทเพลงสัญชาติอังกฤษแห่งหนึ่ง ทำงานเรื่องอาร์ตเวิร์กของศิลปินต่างๆ อย่างการดูแลปกซีดี ซึ่งมันก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะนะ เราอยู่ที่นั่นประมาณ 3 ปี ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่ได้ใช้สองสิ่งที่ได้เรียนมา อย่างวิธีคิดแบบธุรกิจและกราฟิกดีไซน์ควบคู่กัน
จากที่อยู่เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กมาหลายปี การต้องกลับมาสู่เมืองที่มีขนาดเล็กลงอย่างกรุงเทพฯ อีกครั้ง รู้สึกอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นเราไม่มีความต้องการในชีวิตที่จะออกไปไขว่คว้าอีกแล้ว ขนาดของเมืองมันกลายเป็นอะไรที่อยู่นอกตัวเราไปเลย แต่พอทำงานไปสักพักพ่อก็เริ่มถามว่า “เอ๋เมื่อไหร่จะกลับมาทำงานที่บ้านล่ะ” เขาอยากให้เรากลับมาสืบทอดธุรกิจที่บ้าน เพราะอาชีพประมงมันแทบจะเป็นทุกอย่างในชีวิตเขาเลย เราก็เลยตัดสินใจลาออกและกลับมาที่สงขลา
มันมีความรู้สึกอยากกลับบ้านรวมอยู่ในการตัดสินใจนั้นไหม
ด้วยความที่พ่อพูดเรื่องนี้ทุกวัน เลยคิดว่า เขาก็ให้เรามาเยอะแล้ว เราลองทำในสิ่งที่เขาต้องการบ้างก็ได้ ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่การกลับมาดำเนินธุรกิจต่อจากพ่อทันทีหรอก เพราะว่าเขาก็ยังทำอยู่ เพียงแต่ความรู้สึกของพ่อคืออยากมีลูกอยู่ใกล้ๆ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งจะสามารถส่งต่อให้กับเราได้
พอต้องกลับมาสงขลา คุณเสียดายสิ่งที่เรียนมาบ้างไหม
เราคิดว่าทักษะมันอยู่ในตัว คงไม่น่าจะหายไปไหนหรอก แล้วด้วยความที่เราคุ้นเคยกับประมงมาตั้งแต่เด็กๆ เราก็คิดว่าน่าจะพอทำได้ แต่เมื่อกลับมาปุ๊บ เราพบว่า ธุรกิจประมงมันทำแค่ครึ่งวันก็เสร็จแล้ว เพราะทุกอย่างจะจบภายในช่วงเช้า พอบ่ายๆ มันก็ว่าง เราก็เลยเริ่มไปแฮงเอาต์ที่หาดใหญ่อีกครั้ง
เพียงแต่ตอนนั้น ข้อสังเกตหนึ่งที่เราพบคือ มันไม่มีกราฟิกดีไซเนอร์ท้องถิ่นเลย ซึ่งด้วยความที่เรามีเพื่อนที่เป็นสถาปนิกอยู่บ้าง เราก็เลยได้เริ่มทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับการดีไซน์ให้กับโรงแรมต่างๆ ในหาดใหญ่ ได้เริ่มทำแบรนดิ้ง จนในที่สุดก็ตัดสินใจเปิดโรงพิมพ์ของตัวเองที่สงขลา
แล้ว a.e.y.space เกิดขึ้นได้อย่างไร
มีอยู่วันหนึ่งเราไปเจอตึกเก่าตึกหนึ่งที่เขากำลังบอกขาย ซึ่งทำเลมันดี เราเลยบอกแม่ว่า ซื้อไว้เถอะเพราะมันถูกมาก ซึ่งมันก็คือตึกที่กลายมาเป็น a.e.y.space นั่นแหละ
บวกกับความโชคดีอีกอย่างคือ เราได้เจอกับพี่โก๋ (นพดล ขาวสำอางค์ ช่างภาพชื่อดัง) ซึ่งเราไม่ได้รู้จักเขามาก่อนหรอก แต่บังเอิญว่าเขามาซื้อบ้านที่สงขลา ซึ่งจริงๆ พี่โก๋ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจซื้อตึกเก่าหลังนั้นแหละ เราได้มีโอกาสเข้าไปดูบ้านเขาแล้วตกใจมากๆ เพราะมันเป็นบ้านที่เหมือนแกลเลอรีและทำให้เราได้เห็นว่า จริงๆ แล้วตึกเก่าๆ มันยังทำอะไรได้อีกเยอะ
อีกอย่างคือ ตอนอยู่นิวยอร์ก เราชอบไปเดินแกลเลอรี เราก็อยากให้มีพื้นที่แบบนี้ที่สงขลาบ้าง ด้วยความที่พี่โก๋เองก็เคยเปิดแกลเลอรีที่กรุงเทพฯ มาก่อน เขาก็เชียร์ให้เราเปิด a.e.y.space ซึ่งงานของพี่โก๋ก็กลายมาเป็นนิทรรศการแรกของตึกหลังนี้ โดยที่เขายังชวนเพื่อนศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ อย่าง โอ๋-ฟูตอง และ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า สงขลามันสามารถมีพื้นที่ศิลปะได้นะ เพียงแต่เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะอยู่ได้นานไหม
อยากรู้ว่า ตอนนั้นสายตาที่คุณมองสงขลาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
พอเราเดินทางมากๆ แล้วกลับมาอยู่บ้าน จากเมืองเก่าที่ไม่เคยสนใจ เราเริ่มพบว่า จริงๆ แล้วบ้านเราแม่งโคตรดีเลย อย่างการที่เราได้ใช้เวลาในเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ จนท้ายที่สุดก็วนกลับมาสู่เมืองขนาดเล็กอย่างสงขลาอีกครั้ง มันทำให้เราหันกลับมาโฟกัสที่ตัวเองมากขึ้น
คือแทนที่จะไปโฟกัสกับสิ่งที่เมืองไม่มี เรากลับเริ่มเห็นโอกาสว่า สิ่งที่ต้องการมันก็สามารถสร้างขึ้นมาเองได้นะ ตอนที่เรากลับมา สงขลามันเป็นศูนย์ ซึ่งเราคิดเพียงว่าถ้าเติมหนึ่งเข้าไปก่อน ไม่ได้คิดหรอกว่าปลายทางมันจะเป็นยังไง แต่ถ้าเติมอะไรสักอย่างเข้าไปก่อน มันคงจะพาเมืองไปที่ไหนสักแห่ง
ตอนที่คุณตัดสินใจเปิด a.e.y.space มีความกังวลแฝงอยู่ไหม
ก็มีความกลัวแฝงอยู่ กลัวว่ามันจะเป็นของแปลกสำหรับคนในพื้นที่ คือไม่ได้คิดว่าจะโดนเกลียดนะ แต่กลัวว่าคนที่นี่จะไม่เข้าใจว่า Art Gallery คืออะไร
ซึ่งตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราทำงานเพื่อตอบคำถามนี้มาตลอด มีครั้งหนึ่งเราโดนถามว่า “คุณมีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือเปล่า” ซึ่งมันก็ช็อกนะ แต่เราก็ค่อยๆ อธิบายไป เราคิดว่าถ้าทำงานแล้วมีชุมชนคอยซัปพอร์ตมันก็ย่อมจะดีกว่า เราเลยพยายามที่จะทำงานโดยมีงานวิจัยเข้ามาสนับสนุน พูดคุยกับผู้คนอย่างเต็มที่ ซึ่งพอเวลาผ่านไป งานต่างๆ ที่เราทำมันก็ค่อยๆ พิสูจน์ตัวเองว่ามีคุณค่า จนวันหนึ่งคนที่นี่เขาก็มองเห็นว่าเราทำ a.e.y.space ไปเพื่ออะไร
อย่างงานแรกที่เราจัด เราก็ใช้วิธีการเดินไปเชิญคนในพื้นที่ถึงบ้านเลยนะ พยายามอธิบายว่า นิทรรศการนี้คืออะไร แล้วทำไมเราต้องเอาภาพเหล่านี้มาจัดแสดง ซึ่งเขาก็เข้าใจนะ กลายเป็นว่าวันต่อมาเขาก็เริ่มไปชวนเพื่อนๆ มาดู หรืออย่าง Made in Songkhla และ Portrait of Songkhla ก็เป็นสองงานที่เราคิดว่ามีคุณค่ากับจิตใจของคนที่นี่จริงๆ
คุณคิดว่า a.e.y.space เป็นพื้นที่แบบไหน
เราอยากให้ a.e.y.space เป็นพื้นที่ธรรมดาๆ ที่ใครจะเดินเข้ามาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเท่ ซึ่งเราคิดว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของ a.e.y.space คือมันเสิร์ฟคนได้ทุกกลุ่ม มันเฟรนด์ลี่ สำหรับเราที่นี่ก็เหมือนกับ blank canvas ที่เราอยากจะเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้
ตอนไหนที่คุณรู้สึกว่า a.e.y.space กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงขลาแล้วจริงๆ
หลังจากงาน Portrait of Songkhla เราคิดว่าหลังจากงานนั้น ทุกคนที่นี่เข้าใจแล้วจริงๆ ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มันไม่ต้องมีคำอธิบายอีกแล้วว่า a.e.y.space คืออะไร ซึ่งคำถามที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ หลังจากนั้นคือ “เอ๋จัดงานหน้าอีกเมื่อไหร่ล่ะ”
เทียบกับกรุงเทพฯ อะไรคือความท้าทายของการสร้าง Art Gallery ในสงขลา
เราคิดว่าตัวเองโคตรโชคดีเลยนะที่กลับมาต่างจังหวัด เพราะเราไม่สามารถสร้าง a.e.y.space ที่กรุงเทพฯ ได้แน่ๆ ซึ่งการมาอยู่เมืองเล็กๆ ที่มองเห็นโอกาส แล้วสามารถทำได้จริงๆ ไม่ต้องใช้ทุนเยอะ อยู่ในชุมชนที่โตมา มันจะทำให้คุณมี asset บางอย่างที่คุณอาจมองไม่เห็น แต่ถ้าคุณสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำได้จริงๆ คุณจะพบว่ามีคนในพื้นที่ซึ่งพร้อมจะสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่
ความโชคดีของเราอีกอย่างคือ เราอยู่ในวัยซึ่งสามารถคอนเนกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ a.e.y.space มันเลยเป็นพื้นที่ตรงกลางที่เชื่อมโยงคนต่างๆ เข้าด้วยกัน
ถ้ามีคนถามว่า ทุกวันนี้คุณเป็นอะไร คุณจะตอบเขาว่าอย่างไร
คำถามนี้ดีจัง เรายังไม่มีคำจำกัดความเลยว่าตัวเองเป็นอะไร แต่ถ้ามีคำหนึ่งที่อยากจะใช้ เราคิดว่าตัวเองคงเป็นตัวกลาง (medium)
คิดว่าคนหาดใหญ่ทุกวันนี้อิจฉาคนสงขลาบ้างหรือยัง
เราไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยๆ ในช่วงวันหยุดก็มีคนมาเที่ยวมากขึ้นนะ เราคิดว่าสงขลาตอนนี้มันเติมเต็มเราได้แล้ว เมื่อก่อนคนจะชอบมองสงขลาว่าเป็นเมืองคนแก่ แต่เราคิดว่าทุกวันนี้คนที่นี่ก็ปรับตัว เพราะเขาก็รู้ว่าเมืองมันเปลี่ยนไป มันมีคนมาเที่ยวมากขึ้น เราคิดว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่สเตจไหนของชีวิต ถึงยังไงคุณก็ต้องเจอกับการปรับตัวอยู่ดี
คุณทำทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไร
ทำเพื่อตัวเองครับ ฟังดูเห็นแก่ตัวนะ แต่เรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้ามันยังมีความสุขอยู่ เราก็แค่ทำไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง