มนุษย์ทำให้นกหายไปจากโลก ทั้งหมด 469 สายพันธุ์

3 Min
929 Views
27 Jan 2022

ชิ้นส่วนกระดูกนกโดโด ที่สมบูรณ์ที่สุด l Gareth Fuller/PA Wire

หนึ่งในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้ นอกจากวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีเรื่อง ‘การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่’ ที่ดูเหมือนว่านักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลมากเป็นพิเศษ และต่างก็เชื่อว่า เรากำลังเข้าสู่ยุค ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เหตุที่นักวิทยาศาสตร์พากันเชื่อเช่นนั้น หากอธิบายอย่างรวบรัดก็จะเห็นได้ว่าในยุคสมัยปัจจุบันที่สิ่งมีชีวิตหลายชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วเป็นจำนวนมากแบบที่สามารถสังเกตได้ เช่น เวลาขับรถตอนกลางคืนจะมีแมลงมากมายบินมาชนกระจก ต้องคอยเปิดที่ปัดน้ำฝนอยู่ตลอดเวลา แต่เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีเหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นอีกแล้ว แม้ในถนนสายเปลี่ยวก็ตาม

ขณะเดียวกัน การประเมินสถานะของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘บัญชีแดงไอยูซีเอ็น’ ตอนนี้ก็เป็นไปในทางลบมากกว่าบวก การปรับสถานะแต่ละครั้งมีแต่จะเพิ่มจำนวนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เสียเป็นส่วนใหญ่

ในแต่ละปีจะมีสัตว์แค่ไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่ได้รับรายงานว่า ‘รอด’ จากสถานะใกล้สูญพันธุ์ และข่าวดีแบบนี้ก็ไม่ได้มีให้อ่านกันทุกปี ซึ่งนี่คือคำอธิบายแบบรวบรัดที่บอกว่าทำไมเราถึงกำลังอยู่ในยุคของ ‘การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่’ และนักวิทยาศาสตร์ต่างก็โทษว่า มนุษย์นี่แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนปัญหาของเรื่องนี้ เช่นเดียวกับปัญหาวิกฤตโลกร้อน

และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ในที่นี้เราจะยกตัวอย่างการสูญพันธุ์ของ ‘นก’

ข้อมูลจากการศึกษาใหม่ใน Journal of Biogeography ที่วิเคราะห์เจาะจงไปยังสัตว์กลุ่มนก พบว่า กิจกรรมของมนุษย์ทำให้นกสูญพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อย 469 สายพันธุ์ นับตั้งแต่ยุคสมัยไพลสโตซีนเริ่มดำเนินเดินทางมา

สาเหตุที่ทำให้นก 469 สายพันธุ์ต้องพบกับจุดจบ มาจากเหตุผลใหญ่ 3 ประการ

ประการแรก 90 เปอร์เซ็นต์ของนกที่สูญพันธุ์เป็นกลุ่มที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะบนเกาะต่างๆ เมื่อมนุษยชาติรู้จักการเดินทางข้ามมหาสมุทรและค้นพบกับเกาะอันน่าตั้งหลักปักฐาน นกก็เริ่มถูกล่าอย่างไร้ความปรานี

ตัวอย่างคลาสสิคที่ถูกยกมานำเสนออยู่เสมอ คือ กรณีของนกโดโด ที่อาศัยอยู่แถบหมู่เกาะมอริเชียสในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อ 200 ปีก่อน พวกมันถูกล่าเป็นอาหาร แม้จะมีบันทึกหลายชิ้นกล่าวว่าเนื้อของมันไม่ค่อยอร่อยก็ตาม แต่ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ และล่าได้ง่าย พวกมันจึงกลายเป็นเหยื่อลำดับต้นๆ

และยังนำไปสู่คำอธิบายสาเหตุประการที่สองต่อด้วยว่า “นกที่มีขนาดใหญ่จะถูกล่าก่อนเสมอ”

ตัวอย่างเช่นนกโมอา (นกขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายนกกระจอกเทศ) ในนิวซีแลนด์ที่ถูกชาวเมารีล่าเสียจนเกลี้ยง

สาเหตุประการสุดท้ายพบว่า นกที่จากไปก่อน มักเป็นกลุ่มที่บินไม่ได้ โอกาสหาทางหนีทีไล่จึงถูกจำกัด

เหตุการณ์สมมติในการล่านกโมอา l wikipedia

นอกจากนี้ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ ประกอบอีกหลายประการ เช่น กรณีนกโดโดไม่ได้ตายเพราะถูกล่าเป็นอาหารทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่บางส่วนเกิดจากการล่าของพวกสัตว์ต่างถิ่นที่คนพาเข้าไปเลี้ยง

ขณะที่นกบางชนิดมักทำรังบนพื้นดิน เพราะเดิมไม่เคยมีศัตรูตัวไหนมาขโมยกินไข่ แต่พอสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาโจมตีแบบกะทันหัน พวกมันก็ไม่สามารถปรับตัวหรือวิวัฒนาการให้เอาตัวรอดได้ทันก่อนการสูญพันธุ์

หรือในกรณีพวกนกที่บินได้ ก็ใช่ว่าจะรอด เพราะถึงจะบินได้ แต่เมื่ออยู่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องบินไปไหนไกลแบบพวกนกอพยพที่ต้องหนีสภาพอากาศตามฤดูกาล กลุ่มนี้มักจะเสียที่อยู่อาศัย ที่วางไข่ และที่หาอาหารจากการเปลี่ยนแปลงที่ดิน การทำลายป่า จนสิ้นสูญในที่สุด

ในกรณีของนกโมอา เมื่อพวกมันจากไป ก็ส่งผลให้อินทรีฮาสท์ต้องสูญพันธุ์ตาม เพราะไม่เหลือเหยื่อให้ล่า ไม่มีอาหารไว้กิน

ทั้งนี้ ในจำนวน 469 สายพันธุ์ที่ถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ยังเป็นการประเมินในระดับต่ำ เนื่องจากยังมีนกอีกมากที่พวกเราไม่รู้จัก และไม่มีหลักฐานบันทึกไว้อย่างแน่ชัด อาจมีมากกว่า 500 สายพันธุ์ หรือเกิน 1,000 สายพันธุ์ ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากหัวข้องานวิจัยที่นำมาเล่าสู่กันฟังเป็นตัวอย่างแล้ว ก็ยังมีรายงานอีกชิ้นที่กล่าวถึงการสูญพันธุ์ของนกไว้อย่างน่าสนใจ โดยนักวิจัยจากอินเดียและอินโดนีเซียได้ร่วมกันอภิปรายว่า นกทั่วโลกกำลังลดลง และมีอีก 1,200 สายพันธุ์กำลังจะสูญพันธุ์ในอีกไม่ช้า

นักวิจัยเสนอว่า หากจะอนุรักษ์นกให้สำเร็จจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากกว่าที่เป็นอยู่

เพราะต่อให้นกมีปีกบินไปที่ไหนก็ได้ แต่หากถิ่นที่อยู่ รังพักระหว่างทางระหว่างฤดูกาลถูกทำลาย สุดท้ายพวกมันก็คงไม่รอด

อ้างอิง