1 Min

ทำไมอุณหภูมิ 40 องศาฯ มันชิลๆ แถวทะเลทราย แต่อาจทำให้เราตายได้ในเขตร้อนชื้น?

1 Min
491 Views
21 Jun 2023

ปัจจุบันเราคงไม่ต้องถกเถียงกันอีกแล้วว่าภาวะโลกร้อนยังเป็นเรื่องใหญ่อยู่หรือไม่ เพราะทุกวันนี้หน้าร้อนของไทยอุณหภูมิก็ทะลุ 40 องศาเซลเซียส กันเป็นเรื่องปกติแล้ว และอาจจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่คงบอกถึงวิกฤตของปัญหาโลกร้อนได้เป็นอย่างดีแล้ว

แม้หลายคนอาจจะมองโลกในแง่ดีว่า เอาจริงๆ พื้นที่ร้อนกว่านี้ก็มีเยอะ คนก็ยังอยู่ได้ เช่นทะเลทราย อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เป็นเรื่องปกติ บางทีทะลุไป 50 องศาเซลเซียส คนยังชิลๆ แบบนี้บ้านเราที่อุณหภูมิแตะ 40 องศาเซลเซียสมันก็ไม่ควรจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเปล่า เพราะร่างกายมนุษย์มันทนได้มากกว่านั้น

แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะคิดง่ายๆ แบบนี้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำให้เรา ‘รู้สึกร้อน’ จริงๆ มันไม่ใช่แค่อุณหภูมิ แต่คือความชื้น 

มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีกลไกในการระบายความร้อนที่ค่อนข้างดีมาก ซึ่งกลไกระบายความร้อนของมนุษย์หลักๆ คือเหงื่อ การระบายความร้อนของมนุษย์ 75 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นผ่านเหงื่อที่ออกมาและระเหยออกไป ช่วยลดความร้อนให้ร่างกาย (ที่เหลืออีก 25 เปอร์เซ็นต์ ก็มาจากการหายใจออกบ้าง และถ่ายเทไปบนพื้นผิวที่เราสัมผัสบ้าง

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเหงื่อออกแล้วระเหยได้ ร้อนแค่ไหน ร่างกายมนุษย์ก็จัดการได้

ทีนี้ประเด็นคือ ถ้าอากาศมีความชื้นมากๆ เหงื่อจะไม่ระเหย และทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี และในแง่นี้ มันเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมในอุณหภูมิเท่ากัน ถ้าพื้นที่ที่มีความชื้นมากกว่า เราจะรู้สึกร้อนกว่า เหตุผลคือในพื้นที่แบบนี้ ร่างกายจะสามารถระบายความร้อนได้แย่กว่านั่นเอง

ดังนั้นนี่เลยเป็นคำอธิบายว่า ทำไมอากาศร้อนเท่าๆ กัน ในทะเลทรายเราถึงรู้สึก ‘เย็น’ กว่าในเขตร้อนชื้น คำตอบคือทะเลทรายมันแห้งกว่า เหงื่อออกก็ระเหยอย่างเร็ว เหงื่อออกไปเรื่อยๆ ร่างกายก็จะไม่ร้อนเท่าไหร่นั่นเอง (แต่อาจต้องห่วงเรื่องการขาดน้ำ แต่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) 

อ้างอิง