มนุษย์กับการหัวเราะ 4 แบบ เมื่อการหัวเราะไม่ได้มาพร้อมกับเรื่องขำขันเสมอไป
Select Paragraph To Read
- 1. หัวเราะเชื่อมสัมพันธไมตรี
- 2. หัวเราะอย่างวิตกกังวล
- 3. หัวเราะด้วยความผิดปกติทางสมอง
- 4. หัวเราะเพราะรู้สึกจั๊กจี้
ในช่วงที่อารมณ์ดีหรือมีเรื่องตลก เรามักจะหัวเราะกันเป็นปกติ
แต่เคยสังเกตหรือเปล่าว่าในแต่ละวัน คุณยังหัวเราะตอนไหนอีกบ้าง
พรีเซนต์งานหน้าชั้นเรียนอยู่ดีๆ ก็หัวเราะกลางคัน
โดนหัวหน้าแผนกดุอยู่ดีๆ ก็หลุดหัวเราะออกมา
ทำไอศกรีมในมือตกพื้น แล้วยืนหัวเราะอยู่ตรงนั้น
แม้จะเคยหรือไม่เคย แต่อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลพอๆ กันที่เคยทำให้คุณหัวเราะสินะ
ในเมื่อเรื่องพวกนี้ดูไม่น่าเป็นใจให้หัวเราะสักเท่าไร แล้วทำไมคนเรายังหัวเราะออกมาได้ เจ้าเสียงหัวเราะนี่มันสื่อถึงอะไรกันแน่? นอกจากมุกตลกแล้วยังมีอะไรทำให้เราหัวเราะได้อีกนะ? มาร่วมหาคำตอบกันดีกว่า
1. หัวเราะเชื่อมสัมพันธไมตรี
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราต้องการที่จะสานสัมพันธ์กับผู้อื่น และโหยหาการยอมรับจากพวกเขา โดยความต้องการเหล่านี้ได้ฝังลึกอยู่ในสัญชาตญาณของเรา และการ “หัวเราะ” ก็นับเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงสัญชาตญาณดังกล่าวเช่นเดียวกัน
การหัวเราะ ถือเป็นวิธีหนึ่งที่มนุษย์เราใช้ในการสื่อสารให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราต้องการเชื่อมความสัมพันธ์กับเขา จะเห็นได้ว่า เวลาเราทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ระหว่างที่พูดคุยกัน เรายังมักจะหัวเราะออกมาบ่อยๆ เพื่อแสดงความเป็นมิตรต่อเขา และเสียงหัวเราะก็ช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายและเป็นกันเองมากขึ้นด้วย
จากผลการสำรวจส่วนใหญ่พบว่า ในวงสนทนา ผู้พูดมีแนวโน้มที่จะเป็นฝ่ายหัวเราะมากกว่าผู้ฟังถึง 46% สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเรามักจะใช้เสียงหัวเราะเพื่อให้เข้าถึงอีกฝ่ายได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ มนุษย์เรายังมีแนวโน้มที่จะหัวเราะมากขึ้น 30% เมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และมีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กในวัยสองปีครึ่งถึงสี่ปี มีแนวโน้มที่จะหัวเราะขณะดูการ์ตูนมากขึ้นถึงแปดเท่า เมื่อดูด้วยกันกับเด็กคนอื่นๆ
กล่าวได้ว่า การหัวเราะกับการเข้าสังคมของมนุษย์มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน อย่างเวลาที่ผู้คนหัวเราะออกมาอย่างจริงใจ เราจะสัมผัสได้ว่าพวกเขารู้สึกสบายใจที่จะอยู่ในสังคมนั้นๆ และบ่อยครั้งที่เวลามีใครหัวเราะขึ้นมา คนรอบข้างมักจะหัวเราะตามไปด้วย แม้จะไม่รู้สาเหตุของการหัวเราะก็ตาม เพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกได้มีส่วนร่วมไปกับบรรยากาศ และเสียงหัวเราะมักพ่วงมากับอารมณ์ที่สดใส จึงทำให้อารมณ์นั้นแผ่ขยายไปถึงคนที่ได้ยินด้วยนั่นเอง
2. หัวเราะอย่างวิตกกังวล
เวลาที่รู้สึกเศร้า เหงาหงอยหรือเคร่งเครียด การได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ดูภาพยนตร์ตลกกับครอบครัว หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงที่น่ารัก มักเรียกเสียงหัวเราะของเราได้เป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะจิตใจของเราผ่อนคลายลง และเนื่องจากความสุขที่เกิดขึ้นได้ช่วยให้ความทุกข์ในขณะนั้นเลือนหายไปชั่วขณะ
ในภาพจำของทุกคน การหัวเราะจึงมักพ่วงมากับความหรรษา ความขำขัน และความสบายใจ
แต่รู้หรือไม่? การหัวเราะยังเกิดจากความรู้สึกเชิงลบอย่างความกังวล ความประหม่า หรือความอับอายได้อีกด้วย
การหัวเราะในลักษณะนี้ เรียกว่า “Nervous Laughter” หรืออาจแปลเป็นไทยว่า การหัวเราะอย่างวิตกกังวล ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อภาวะความเครียด ความสับสน หรือความกลัวต่างๆ โดยแสดงออกในรูปของการหัวเราะเสียอย่างนั้น
“บางครั้ง เราหัวเราะเพื่อที่จะให้ตัวเองเชื่อว่า เรื่องแย่ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่มันอาจไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้” นักประสาทวิทยาชาวอินเดียนามว่า วิลยนอร์ สุพรหมัณยัม รามจันทรัน กล่าว
นอกจากนี้ โจเซฟ โนวินสกี้ นักจิตวิทยาคลินิก ได้อธิบายว่า การหัวเราะช่วยให้เราได้ปลดปล่อยพลังงานออกไป ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เพราะร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน สารแห่งความสุขที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและความรู้สึกแย่ๆ ซึ่งการหัวเราะอย่างวิตกกังวลก็เกี่ยวข้องกับกลไกนี้เช่นเดียวกัน โดยเป็นการหัวเราะที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดมากขึ้นนั่นเอง
การหัวเราะแบบนี้จะคล้ายกับการหัวเราะตามมารยาท (Courtesy laugh) นิดหน่อย ต่างกันที่การหัวเราะตามมารยาทจะควบคุมได้มากกว่า ในขณะที่การหัวเราะอย่างวิตกกังวลมักจะควบคุมไม่ได้
เรามักจะพบการหัวเราะแบบนี้บ่อยๆ จากผู้ที่มีบุคลิกไม่มั่นใจในตัวเองหรือไม่ชอบเข้าสังคม หรือผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) เมื่อพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับผู้คนจำนวนมากหรือทำสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เช่น การออกไปพูดบนเวทีเป็นครั้งแรก
3. หัวเราะด้วยความผิดปกติทางสมอง
หากใครเคยรับชมภาพยนตร์เรื่อง Joker คงจะนึกภาพออก อาการที่โจ๊กเกอร์เป็นคือเขามักจะหัวเราะออกมาเป็นพักๆ หากครั้งไหนแย่หน่อยก็จะหัวเราะไม่หยุดอย่างบ้าคลั่ง โดยที่เขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เลย แม้แต่ตอนที่กำลังโดนด่าหรือโดนรุมทำร้าย เขาก็ยังหัวเราะออกมาไม่หยุด ซึ่งการหัวเราะราวกับกำลังสนุกดูจะตรงข้ามกับอารมณ์ความรู้สึกของเขาอย่างสิ้นเชิง
อาการของโจ๊กเกอร์เป็นอาการของโรค Pseudobulbar affect (PBA) ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีอาการหลักๆ อยู่สองอย่างคือ การหัวเราะและการร้องไห้ โดยเมื่อพวกเขาถูกกระตุ้นให้รู้สึกตลก เศร้า หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจขึ้นมา พวกเขาก็จะหัวเราะหรือร้องไห้ออกมาติดต่อกันสักพักอย่างควบคุมไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่อาการร้องไห้จะพบได้มากกว่าอาการหัวเราะ
เรื่องที่มักมีการเข้าใจผิดกันบ่อย ๆ คือ โรค PBA เป็นอาการป่วยทางอารมณ์และจิตใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรค PBA เป็นอาการป่วยทางระบบประสาท โดยในอเมริกามีผู้ป่วยโรคนี้กว่า 1,000,000 คนเลยทีเดียว
4. หัวเราะเพราะรู้สึกจั๊กจี้
สำหรับอีกเรื่องที่น่าประหลาดใจไม่เบา คือทำไมเวลาเราโดนจั๊กจี้ เราถึงหัวเราะออกมา
การที่เราหัวเราะเมื่อถูกจั๊กจี้ เนื่องจากการจั๊กจี้จะไปกระตุ้นสมองสองส่วน ได้แก่ สมองส่วนโรแลนดิคโอเพอร์คิวลัม (Rolandic operculum) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า เสียง และปฏิกิริยาทางอารมณ์ และสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมปฏิกิริยาทางอารมณ์เช่นกัน รวมถึงการตอบสนองแบบเผชิญหน้าหรือวิ่งหนี และการตอบสนองต่อความเจ็บปวดอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า เวลาเราโดนจั๊กจี้ เราจะหัวเราะไม่หยุดพร้อมกับบิดไปมาเหมือนกำลังเจ็บปวด บวกกับมีความรู้สึกอึดอัดใจและอยากหลีกหนี การตอบสนองเช่นนี้เป็นการตอบสนองทางอารมณ์โดยอัตโนมัติ (Autonomic emotional response) ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อสมองของเราไม่รู้มาก่อนว่าจะต้องเจอกับอะไร และตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดและการสัมผัสของเราก็จะถูกกระตุ้นเมื่อถูกจั๊กจี้ด้วยเช่นกัน
แต่สาเหตุที่เราไม่รู้สึกจั๊กจี้เวลาเราจั๊กจี้ตัวเอง เป็นเพราะสมองของเรารู้ตัวอยู่แล้วว่าจะเกิดการเคลื่อนไหวและการสัมผัสแบบไหน ทำให้สมองสามารถประเมินผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นและรับมือกับมันได้ทันท่วงที
เป็นอย่างไรบ้าง การหัวเราะนั้นซับซ้อนกว่าที่คิดใช่หรือเปล่า ต่อจากนี้ ลองสังเกตตัวคุณเองและคนรอบตัวดีๆ ว่า พวกคุณหัวเราะกันด้วยเรื่องอะไรบ้าง เพื่อนคนไหนหัวเราะเก่ง เขาอาจจะไม่ได้มีอารมณ์ขันอย่างที่เราคิดก็ได้
ทั้งนี้การหัวเราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเราจึงต้องทำความเข้าใจกับมันให้ดี การหัวเราะบ่อยๆ นั้นดีต่อสุขภาพหากเป็นการหัวเราะที่เกิดจากอารมณ์เชิงบวก แต่ในทางกลับกัน หากเรารู้ตัวว่าการหัวเราะนั้นเกิดจากอารมณ์เชิงลบ เราก็ไม่ควรมองข้ามมันไป เพราะมันอาจส่งผลร้ายต่อเราได้เช่นกัน
อ้างอิง
- Bottomline. ไม่ตลกแต่หัวเราะ เพราะอะไรเราจึงหัวเราะในสถานการณ์แปลกๆ. bottomlineis.co
- CEO Channels. โจ๊กเกอร์ เป็นโรคอะไร : ทำความรู้จัก PBA โรคหัวเราะไม่หยุด. ceochannels.com
- Headspace. What’s so funny? Why we laugh when we’re nervous or uncomfortable. headspace.com
- Scientific American. Why Do We Laugh?. scientificamerican.com
- SciMath. วิทยาศาสตร์ของอาการบ้าจี้. scimath.org
- The Conversation. The science of laughter – and why it also has a dark side. theconversation.com
- Wikipedia. Nervous laughter. en.m.wikipedia.org