5 Min

ปิดดีลเจ้าสัว กับ 3 กรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รวบกิจการเพื่อให้ ‘ใหญ่ขึ้นไปอีก’

5 Min
344 Views
13 Jan 2022

Select Paragraph To Read

  • ศาลยกฟ้องคดี ซีพี-เทสโก โลตัส
  • ‘ทรู’ ควบ ‘ดีแทค’ เหลือเจ้าตลาดสื่อสารเพียงแค่สอง?
  • ‘เซ็นทรัล’ กวาดซื้อห้างไทย-ต่างชาติ

ในปี 2021 ที่ผ่านมาเราได้เห็นอะไรบ้าง? 

นอกเหนือจากการจัดการด้านสาธารณสุข ปัญหาเรื่องโควิด-19 และการล้มลุกคลุกคลานของธุรกิจเอสเอ็มอี สิ่งที่เราเห็นในภาคธุรกิจคือปีนี้มีการ ‘ปิดดีล’ ยักษ์ใหญ่ของเครือธุรกิจอันดับต้นๆ ของไทยหลายครั้ง ทั้งการควบรวมกิจการ เข้าซื้อ หรือบริหารร่วม ทำให้เจ้าใหญ่ที่เคยใหญ่อยู่แล้วก็ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม จนหลายคนมาตั้งข้อสังเกตและกังขาว่าการควบรวมกิจการของเจ้าใหญ่ๆ นั้นมีการควบคุมดูแลหรือไม่ แล้วจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือประชาชนอย่างไร

BrandThink ขอชวนย้อนดู 3 กรณีปิดดีลยักษ์ใหญ่ของเจ้าใหญ่ที่น่าสนใจในปีที่ผ่านมากัน

ศาลยกฟ้องคดี ซีพี-เทสโก โลตัส

แม้ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 หลังเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย
‘ซีพี รีเทล โฮลดิ้ง’ ได้ควบรวม ‘เทสโก้ โลตัส’ ของบริษัทบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยมูลค่ากว่า 3.38 แสนล้านบาท 

แน่นอนว่าการที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งดำเนินกิจการเซเว่น อีเลเว่น ตัดสินใจเข้า ‘ควบรวม’
กับเทสโก้โลตัส ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และมีความใกล้เคียงกัน ทำให้หลายคนกังขาถึงกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าว่าเข้าเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาด คือมีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปหรือไม่

ช่วงต้นปี 2021 ในเดือนมีนาคม 37 องค์กรนำโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมกับเทสโก้โลตัส หรือหากไม่มีการเพิกถอนขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างธุรกิจต่างๆ และตั้งเงื่อนไขพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองการแข่งขันของตลาด เนื่องจากหลังการควบรวมแล้วหากธุรกิจซีพีและโลตัสเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันจะทำให้มีมีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 83.47 เปอร์เซ็นต์

ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกเลิกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของ 37 องค์กร โดยคำพิพากษาระบุว่า การควบรวมธุรกิจทั้งสองนั้นเป็นไปตามหลักการและวิธีการที่ พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดและชอบด้วยกฎหมาย ให้บังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองไว้พิจารณาให้เป็นที่สุด คู่กรณีไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งมีมติออกมา 4:3 เสียง เห็นสมควรให้ซีพีสามารถควบรวมธุรกิจได้ แต่จะมีการกำหนดระยะเวลาเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เป็นการผูกขาดตลาดจำนวน 7 ข้อ ได้แก่

  1. ห้ามซีพีและธุรกิจในเครือควบรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นนาน 3 ปี
  2. หลังควบรวมให้เพิ่มสัดส่วนสินค้า SME ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี
  3. ไม่ให้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด
  4. ให้เทสโก้โลตัส คงสัญญาข้อตกลงระหว่างซัพพลายเออร์ไว้ 2 ปี
  5. เพิ่ม Credit team กลุ่มเอสเอ็มอี เป็นระยะเวลา 30-45 วัน นาน 3 ปี
  6. ทั้งสองบริษัทต้องรายงานผลประกอบต่อกขค. เป็นเวลา 3 ปี
  7. จัดทำ Code of Conduct เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ

หลังจากศาลปกครองวินิจฉัยไม่ยกฟ้อง ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงการควบรวมกิจที่สำเร็จงดงามของเครือซีพี และจากเทสโก้ โลตัส เดิม ก็มาอยู่ในรูปโฉมใหม่ที่เหลือชื่อเพียง  ‘โลตัส’ พร้อมสีและโลโก้ใหม่ที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ไปจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางการเฝ้าตรวจสอบว่าซีพีให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง 7 ข้อของกขค. หรือไม่ และถ้าหากทำผิดจะมีการลงโทษอย่างไร

‘ทรู’ ควบ ‘ดีแทค’ เหลือเจ้าตลาดสื่อสารเพียงแค่สอง?

อีกหนึ่งข่าวควบรวมกิจการที่ทำให้หลายคนตกตะลึงในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังคงพันเกี่ยวกับเครือซีพี เมื่อบริษัท ทรู คอปเปอร์เรชั่น และ บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด หรือดีแทค ได้ประกาศ ‘รวมตัว’ ท่ามกลางข่าวลือที่แจ้งกับทางตลาดหลักทรัพย์ว่าไม่ใช่การซื้อกิจการ แต่เป็นการ ‘รวม’ กิจการของบริษัทอย่างเท่าเทียม และเมื่อรวมมูลค่าตลาดทั้งสองแล้วบริษัทใหม่จะมีมูลค่ารวมราว 2.5 แสนล้านบาท

หากนำลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปของ TRUE และ DTAC รวมกันจะอยู่ที่ 206,384.11 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 19 จากปัจจุบัน TRUE อยู่อันดับที่ 30 และ DTAC อยู่อันดับที่ 46 

ที่ผ่านมาตลาดการสื่อสารเจ้าใหญ่ในไทยนั้นมีเพียง 3 เจ้า คือ ทรู ดีแทค และเอไอเอส การประกาศควบรวมของเจ้าตลาด 2 ใน 3 รวมกันจะมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 52 เปอร์เซ็นต์ และขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดทันที ท่ามกลางข้อครหาและความกังวลเรื่องการผูกขาดการตลาดของธุรกิจสื่อสาร ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลให้ไม่เกิดการแข่งขันทางการค้า ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าบริการที่สูง มีการบังคับขายสิทธิ์ต่างๆ หรือมีเงื่อนไขเพิ่มเติม

ประเด็นการควบรวมกิจการครั้งนี้ถูกยกขึ้นเป็นญัตติในสภาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ได้ยื่นเสนอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาผลกระทบของการควบรวมกิจการต่อประชาชน อาจก่อให้เกิดช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำและมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ซึ่งการพิจารณาถูกเลื่อนออกไปถึงความเหมาะสมของการดำเนินธุรกิจ

ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคมน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้มีการอภิปรายเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบของกรณีดังกล่าวโดยระบุว่าการควบรวมกิจการส่งผลให้แข่งขันที่ลดลงก็เท่ากับว่าต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะเพิ่มขึ้น ลดโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลของประชาชน

ในขณะที่ น.พ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ขอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชน กรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมและการค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจน ผลกระทบจากการขยายตัวของทุนขนาดใหญ่ที่กระทบต่อทุนขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกิดการขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

‘เซ็นทรัล’ กวาดซื้อห้างไทย-ต่างชาติ

เครือเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เจ้าของเครือศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปีนี้ได้ขยายอาณาจักรของตัวเองกว้างขึ้นไปอีกหลังเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สำเร็จในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

ในกิจการเหล่านั้นมีทั้งหมด 19 โครงการศูนย์การค้าในไทย ตั้งแต่ห้างขนาดใหญ่อย่าง เมกา บางนา เอสพลานาด ลาวิลล่า เจ อเวนิว และอื่นๆ โดยถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 96.24 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าทั้งหมดกว่า 7,765,901,652 บาท และเตรียมถอน SF ออกจากตลาดหลักทรัพย์

การเข้าซื้อหุ้น SF ครั้งนี้ทำให้ CPN มีศูนย์การค้าภายใต้การดำเนินงานทั้งสิ้น 34 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 1.8 ล้านตารางเมตร

ในปีนี้เครือเซ็นทรัลได้ขยายอาณาจักรศูนย์การค้าของเซ็นทรัลให้ ‘ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม’ แต่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นในต้นเดือนธันวาคม ได้มีการเปิดเผยว่าเซ็นทรัลเตรียมเข้าซื้อ ‘เซลฟริดจ์ส’ (Selfridges) ห้างหรูในอังกฤษซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาทจากมหาเศรษฐีในแคนาดา แต่ยังอยู่ในกระบวนการเจรจา และเชื่อว่าจะลากยาวถึงต้นปีหน้า

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครือเซ็นทรัลได้ขยายจักรวาลด้วยการเข้าซื้อห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้เซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการของห้างระดับไฮเอนท์ ‘รีนาเชนเต’ (Rinascente) ในอิตาลีด้วยเช่นกัน

3 กรณีที่เกิดขึ้นในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงการขยับขยายควบรวมกิจการของ ‘เจ้าใหญ่’ ในไทย ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มธุรกิจในอนาคตหากเจ้าใหญ่เริ่ม ‘กินรวบ’ ไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าใหญ่กินส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าครึ่งนั้นจะมีการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมการผูกขาดการตลาดได้จริงหรือไม่ เชื่อว่านี่ยังเป็นเรื่องที่คนไทยอีกหลายคนกังขา

อ้างอิง

  • Thansettakij. เปิดปมศาลปกครองกลาง ไฟเขียวดีล ‘ซีพี-โลตัส’ ยกคำฟ้อง 37 องค์กรผู้บริโภค. https://bit.ly/32dBuW4
  • Prachachat. ซี.พี.ฉลุยดีลควบรวมเทสโก้ โลตัส 2 เจ้าสัวรุกคุมค้าปลีกเบ็ดเสร็จ. https://bit.ly/3F7BULY
  • Bangkokbiznews. เปิดคำชี้แจงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คดีซีพีควบเทสโก้โลตัส. https://bit.ly/3yzKEIs
  • Mgronline. TRUE – DTAC ควบรวมลดต้นทุน ดันราคาหุ้นพุ่งเกิน 30% – รายได้ทะลุ 2 แสนล้านบาท. https://bit.ly/3IV8hjn
  • BBC. ทรู-ดีแทค: บอร์ด ทรู มีมติควบรวบ ดีแทค โดยตั้งบริษัทใหม่ทำคำเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข. https://bbc.in/3p3dOMX
  • Thansettakij. สภาเลื่อนถก TRUE-DTAC แม็คโคร-โลตัสส์ ควบรวมกิจการ> https://bit.ly/3DYOHzf
  • Workpointtoday. เซ็นทรัลฮุบ ‘เมกา บางนา’ หลังเมเจอร์ฯ อนุมัติขายหุ้น SF ให้ CPN> https://bit.ly/3IZRsUm
  • Prachachat. เซ็นทรัลจ่อปิดดีล Selfridges ห้างหรูอังกฤษ 1.8 แสนล้าน สื่อนอกรายงาน. https://bit.ly/3GQwFkl