6 Min

22 Nakhonnok Listening Bar ไวนิลบาร์ในย่านเมืองเก่าสงขลา ที่อยากจะสร้างคอมมูนิตี้ให้กับคนรักแผ่นเสียงและการดื่มด่ำเสียงเพลง

6 Min
479 Views
23 Sep 2023

หากคุณมีโอกาสไปเยือนย่านเมืองเก่าสงขลา ที่นั่นมีบาร์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่เราไม่อยากให้พลาด

‘22 Nakhonnok Listening Bar’ คือชื่อของบาร์ที่ว่า ซึ่งหากคุณได้ลองแวะมาก็จะได้พบกับ ‘ปอ-ไพโรฒ ดำคง’ และ ‘ยูโกะ-Yugo Tham’ สองหนุ่มสาวเจ้าของ listening bar แห่งนี้ที่ไม่เพียงจะหลงรักในวัฒนธรรมแผ่นเสียง แต่ยังหลงใหลในการ ‘ขุดค้น’ (digging) แผ่นเสียงจากอดีต ซึ่งพาให้พวกเขาได้รู้จัก ‘ซาวด์’ อีกมากมาย

หากคุณได้ผลักบานประตูของบาร์ไวนิลอายุปีกว่าๆ แห่งนี้เข้ามา 

นอกจากคุณจะได้เห็นภาพของไวนิลนับพันที่เรียงรายเป็นฉากหลังของบาร์แล้ว คุณยังจะได้ฟังเพลงแนวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Funk, Disco, Electronic ไปจนถึงลูกทุ่ง ซึ่งล้วนมาจากคอลเลกชันแผ่นเสียงของเจ้าของร้าน ที่แม้ว่าหลายๆ เพลงที่พวกเขาเปิดนั้นคุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิตด้วยซ้ำ แต่เรากล้ารับประกันเลยว่า คุณจะตกหลุมรักมัน จนรู้ตัวอีกทีก็อาจตกหลุมรักไวนิลบาร์แห่งนี้ไม่ต่างกับเรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับเมืองเล็กๆ อย่างสงขลา listening bar ถือเป็นสิ่งใหม่ ทว่าในระยะเวลาปีกว่าๆ 22 Nakhonnok Listening Bar ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ยังมีผู้คนอีกมากมาย ไม่ใช่เฉพาะแค่คนในพื้นที่ ซึ่งตั้งใจเดินทางมาที่บาร์แห่งนี้เพื่อฟังเพลงจากแผ่นเสียงที่ปอและยูโกะเก็บสะสมโดยเฉพาะ

เราอยากชวนคุณไปพูดคุยกับปอและยูโกะ ว่าด้วยความหลงใหลของพวกเขาที่มีต่อวัฒนธรรมแผ่นเสียง จุดเริ่มต้นของบาร์แห่งนี้ ไปจนถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาที่จะสร้างคอมมูนิตี้ของนักฟังเพลงและดีเจรุ่นใหม่ให้กับสงขลา

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นระหว่างคุณกับแผ่นเสียง อยากรู้ว่าคุณเริ่มสนใจแผ่นเสียงได้อย่างไร

เราก็เป็นคนที่ชอบฟังเพลงคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนก็เคยขายเทปคาสเส็ตต์ตามตลาดนัดในสงขลา เพียงแต่เพลงที่เราสนใจคือเพลงของศิลปินที่ไม่คอยถูกพูดถึงหรือได้รับการโปรโมต มันมีศิลปินที่ทำเพลงดีๆ อยู่เยอะมากเลยนะแต่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราก็เลยชอบตามหาผลงานของศิลปินเหล่านั้นมาเก็บไว้ หรือเพื่อขาย 

ยิ่งพอปลายยุค 90s ที่แผ่นซีดีเริ่มเป็นที่นิยม จนส่งผลให้แผ่นเสียงราคาถูกลงไปมาก เราก็เลยเริ่มซื้อแผ่นเสียงมาเก็บมากขึ้นๆ รวมถึงไปตามหาจากไนต์คลับและสถานีวิทยุที่โยนแผ่นเสียงทิ้งไป

จำได้ไหมว่าบรรยากาศของการเล่นแผ่นเสียงในตอนนั้นเป็นอย่างไร

ตอนนั้นมีคนเล่นแผ่นเสียงน้อยมาก เพราะอย่างที่บอกว่าทุกคนหันไปนิยมแผ่นซีดีกันหมด อีกอย่างคือแผ่นซีดีมันแพงด้วย เราก็เลยฟังเพลงเก่าๆ จากแผ่นเสียงแทน ย้อนกลับไปเรื่อยๆ ในยุค 70s-80s ซึ่งมีแผ่นเสียงเยอะมาก ตอนนั้นการฟังแผ่นเสียงมันง่ายมาก แผ่นละ 10 บาท 20 บาทก็มี หรือบางแผ่นเราก็ได้มาฟรีๆ

เพียงแต่แผ่นเสียงมันก็จับต้องได้ยากด้วยแหละ เพราะตอนนั้นคนก็ไม่รู้จะไปหาซื้อเครื่องเล่นที่ไหน เพราะถ้าเครื่องใหม่มันก็แพงมาก ส่วนเครื่องเก่าๆ ก็ต้องไปหาซื้อตามร้านขายของเก่า แผ่นเสียงมันเป็นอะไรที่โบราณนะ มีแต่เพลงลูกทุ่งลูกกรุงเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่คอมมูนิตี้ของคนฟังเพลงใหม่เท่าไหร่

ถ้าพ้นไปจากเรื่องราคา มีเหตุผลอื่นอีกไหมที่ทำให้คุณเลือกฟังแผ่นเสียงแทนแผ่นซีดี

เพราะแผ่นเสียงมันมีเพลงเยอะกว่า แล้วเราก็สามารถจดจำว่าแต่ละแผ่นได้มาจากไหน ใครเป็นคนให้มา รวมถึงอาร์ตเวิร์กต่างๆ ที่พอขนาดของแผ่นเสียงมันใหญ่ก็เลยจำได้ง่าย อีกอย่างคือการได้เห็นร่องเสียงที่วิ่งไปตามแผ่น ซึ่งพอเป็นซีดีมันก็จะไม่เห็นรายละเอียดตรงนี้

เราเป็นสาย ‘digging’ คือซื้อเพลงที่ไม่มีคนอื่นฟัง เพราะเราสนุกกับการค้นหา ชอบที่จะได้เจอเพลงที่ไม่เคยฟังมาก่อนเพราะมันแปลกดี เราซื้อแผ่นเสียงเพื่อฟังเพลงที่เราไม่เคยฟัง โดยเฉพาะแนวฟังก์ ดิสโก้ อิเล็กทรอนิกส์ ที่เราจะชอบเป็นพิเศษ แต่ถ้าเป็นเพลงที่เคยฟังอยู่แล้วเราก็จะไม่ค่อยซื้อแผ่นเสียงมาเก็บไว้ บางแผ่นเสียงที่เราได้มาแทบจะไม่เคยถูกเปิดในสถานีวิทยุเลยด้วยซ้ำ

เสน่ห์ของการ Digging คืออะไร

มันคือการเดาไม่ออกเลยว่าจะเจอเพลงอะไร เพลงที่ไม่เคยฟังมาก่อน ซึ่งบางครั้งก็จากภาษาที่เราอ่านไม่ออกด้วยซ้ำ อย่างเราอ่านภาษาจีนไม่ออก พอได้แผ่นเสียงมาเราก็ต้องมาลองฟังไปทีละแผ่น ฟังจังหวะ ฟังเสียงของมัน 

แผ่นเสียงสำหรับเราคือการค้นหา เรามองหาซาวด์ใหม่ๆ วิธีการทำเพลงใหม่ๆ จากยุคก่อน เวลาที่ฟังเพลงจากแผ่นเสียงเราเลยไม่คิดถึงปัจจุบัน แต่คิดว่าทำไมยุคนั้นเขาถึงเลือกจะใช้เสียงแบบนี้ 

การฟังเพลงมันก็เหมือนการเสพงานศิลปะนะ เราฟังจากไอเดีย ซึ่งเพลงบางเพลงในช่วงเวลาหนึ่งมันอาจขายไม่ได้ ไม่มีคนฟัง แต่พอเวลาผ่านไปเพลงที่ว่านั้นก็อาจกลายเป็นเพลงที่ดีในอีกยุคสมัยหนึ่งก็ได้ เราเจออะไรแบบนี้เยอะมากๆ

อย่างเรื่องคุณภาพเสียงเราก็ไม่สนใจเลยนะ เพราะเราฟังแต่เพลงเก่า เราไม่สามารถเลือกได้หรอกว่าคุณภาพเสียงมันจะเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นการได้เจอเพลงที่ดีมันก็เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมแล้ว

ทุกวันนี้คุณเองก็ขายแผ่นเสียงด้วย

เราก็มีร้านออนไลน์ที่ขายแผ่นเสียงอยู่ชื่อ ‘baa records’ ซึ่งจะเน้นขายเพลงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก โดยเฉพาะ Thai Pop, ลูกทุ่ง และ Electro-funk

การได้นำเพลงที่เจอมาวางขายมันกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ก่อนหน้าที่เราซื้อเพลงเก่าๆ มาแล้วชอบมันไม่ได้คิดไปเอง เพราะเมื่อเราวางขายแล้วมีคนมาซื้อ มันก็ช่วยยืนยันว่า ต่อให้จะเป็นเพลงที่ไม่รู้จักแต่ก็ยังมีคนที่ยินดีจะซื้อถ้ามันเป็นเพลงที่ดี เรามีลูกค้าที่เป็นคนต่างประเทศเยอะมาก

สำหรับเรา การ digging มันคือการหาเพลงเก่าๆ แล้วส่งมันออกไป นำเสนอเพลงใหม่ๆ ซึ่งเป็นเพลงเก่านะ แต่มันกลับเป็นเพลงใหม่สำหรับโลกนี้

ช่วยเล่าที่มาที่ไปของ ‘22 Nakhonnok Listening Bar’ ให้ฟังหน่อยได้ไหม

เมื่อ 3-4 ปีก่อน หลังจากที่เราไปเรียนและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ พักใหญ่ๆ เราก็อยากกลับมาอยู่บ้านที่สงขลา ก็เลยมาเช่าที่อยู่ในเมืองเก่า ซึ่งจริงๆ เราก็แค่อยากหาที่เก็บแผ่นเสียงและทำ baa records ไปเรื่อยๆ เท่านั้นแหละ แต่พอบ้านที่เช่ามันมีพื้นที่พอสมควร เราก็เลยเอาโต๊ะกับเก้าอี้มาวาง แล้วเปิดบ้านให้เพื่อนเข้ามา 

จากตอนแรกที่มองว่าจะใช้เป็นที่เก็บของอย่างเดียว เราก็เริ่มเปิดเป็นบาร์เล็กๆ เพียงแต่ด้วยความที่ตอนนั้นสงขลาเงียบมาก ก็เลยคิดจะเปิดแค่เสาร์-อาทิตย์เท่านั้น แต่ไปๆ มาๆ ก็ขยายเป็น 4 วัน เพราะอยู่ๆ ก็มีคนมาเยอะมากขึ้น จนต้องมีการโทรมาจอง เราพบว่า คนที่มาก็ไม่ได้มีแค่คนสงขลาอย่างเดียว แต่มีคนจากหาดใหญ่ ปัตตานี แล้วก็มีคนจากกรุงเทพฯ ภูเก็ตมาที่บาร์ของเราด้วย ซึ่งคนที่มาก็มีทั้งคนที่ชอบฟังเพลงอยู่แล้วก็มี หรือบ้างก็มาเพราะชอบไวบ์ของร้าน

แปลกใจไหม

ก็งงนะ เพราะไม่คิดว่าจะมีคนมา อีกอย่างคือพอวงการแผ่นเสียงมันค่อนข้างเล็ก มันก็ทำให้มีคนต่างประเทศรู้จัก มีแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเริ่มมาสัมภาษณ์เรา คงเพราะสงขลาเป็นเมืองเงียบๆ ด้วย การที่อยู่ๆ มี listening bar เกิดขึ้นมันเลยเป็นเรื่องแปลกหน่อย

Listening Bar คืออะไร

listening bar เริ่มต้นในญี่ปุ่นซึ่งมีไวนิลบาร์อยู่เต็มไปหมด โดยที่เจ้าของร้านก็จะรับหน้าที่เป็นคนเปิดแผ่นเสียงของตัวเองที่เก็บสะสมไว้ และทำเครื่องดื่มให้ วัฒนธรรมนี้มีอยู่ในญี่ปุ่นหลายสิบปีแล้ว เราเลยอยากจะสร้างบาร์สำหรับฟังเพลงโดยเฉพาะขึ้นมาบ้าง บาร์ที่ให้ลูกค้าได้เข้ามาเพื่อฟังเพลงจากแผ่นเสียงของเรา

ที่ผ่านมาคุณได้มีโอกาสชวนดีเจคนอื่นๆ มาเปิดเพลงที่ร้านบ้างไหม

เราชวนเพื่อนดีเจจากหลายๆ ที่มาเล่น เพื่อนๆ จากกรุงเทพฯ อย่าง แป๋ง Yellow Fang หรือดีเจจากสิงคโปร์ รวมถึงดีเจหน้าใหม่และบรรดานักสะสมแผ่นเสียงในท้องถิ่นก็สามารถมาเปิดที่ร้านเราได้ โดยเราจะมี session ชื่อ ‘share your record’ ที่จะเปิดโอกาสให้นักสะสมเพลงมาเปิดแผ่นเสียงของแต่ละคน จะเปิดเพลงอะไรก็ได้ เพราะเราอยากให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นเก็บแผ่นเสียงได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไวนิล

แล้วถ้าเขาจะมาเปิด Bruno Mars อะไรแบบนี้คุณก็ยินดี?

ได้เลย ดีด้วยเพราะลูกค้าชอบ (หัวเราะ) เขาร้องได้ เพราะเราเคารพแนวของทุกคน คุณจะมาเปิด Polycat หรือ The 1975 อะไรก็ได้ ซึ่งมันดีสำหรับเราด้วยนะ เพราะมันทำให้เราได้ฟังเพลงใหม่ๆ ด้วย

อย่าง Listening Bar ก็ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับสงขลา อยากรู้ว่าการตอบรับของคนในที่พื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง

พวกเขาเปิดกว้างมากเลยนะ ซึ่งเราก็เข้าใจด้วยว่า บางทีเพลงที่เราเปิดมันก็อาจไม่ง่ายสำหรับคนที่นี่เท่าไหร่ แต่บางคนเขาก็มาถามนะว่าเปิดเพลงอะไร เดินมาดูร้านเพราะอยากรู้ เห็นว่าไวบ์ดี หรือกระทั่งมาขอเพลงที่อยากฟังก็มี เพียงแต่เราอาจไม่มีเพลงที่เขาขอฟัง อีกอย่างคือ คนมักจะคิดว่าบาร์ของเราเปิดแต่เพลงแจ๊สอย่างเดียว 

คุณคิดว่า 22 Nakhonnok Listening Bar สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสงขลาแค่ไหน

เราคิดว่าบาร์ของเราสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการฟังเพลงในพื้นที่อยู่พอตัวนะ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากที่คนที่นี่อาจไม่เคยฟังเสียงในแบบเรา แต่พอมาที่บาร์ของเราก็เลยได้ยินเสียงใหม่ๆ ผู้คนรู้จักบาร์ของเราว่าเป็นบาร์ที่เปิดเพลงแปลกๆ เพลงที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพลงจากบราซิล แอฟริกัน หรืออิตาลี ซึ่งสำหรับพวกเขามันแปลกใหม่ 

ภูมิใจไหมที่บาร์ของคุณสร้างผลในเชิงบวกเช่นนี้

ไม่นะ เราก็เฉยๆ (หัวเราะ) ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เรายังสนุกกับการหาเพลงมากกว่า เพราะการเปิดบาร์มันทำให้เราได้ซื้อแผ่นมากขึ้น รันวงการไปเรื่อยๆ สร้างคนฟังเพลงใหม่ๆ ขึ้นมา ภาคใต้ยังไม่ค่อยมีคอมมูนิตี้ของดีเจสักเท่าไหร่ เราเลยอยากจะช่วยสร้างคอมมูนิตี้คนฟังเพลงและดีเจใหม่ๆ ขึ้นมา ต่อไปถ้าคนในพื้นที่มีความเข้าใจทางด้านดนตรีมากขึ้น มีวัฒนธรรมการฟังเพลงที่ใหญ่ขึ้น มันก็อาจเกิดเป็นเฟสติวัลแบบเดียวกับกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ก็ได้ 

เราอยากผลักดันให้ผู้คนได้มีพื้นที่ใหม่ๆ มีร้านใหม่ๆ ให้คนได้ฟังเพลงมากขึ้น ตอนนี้มันยังมีไม่เยอะ คงต้องใช้เวลา ค่อยๆ ปั้น ค่อยๆ หาดีเจรุ่นใหม่กันต่อไป ซึ่งก็เป็นความท้าทายของเราแหละ 

แต่เอาจริงๆ แล้ว แค่มีลูกค้ามาที่บาร์แล้วรู้สึกแฮปปี้กับเพลงที่เราเปิด เท่านี้ก็โอเคแล้ว (ยิ้ม)