4 Min

อีลอน มัสก์ ‘บุรุษแห่งยุคสมัย’ ปีที่แล้ว ‘นักธุรกิจแห่งปี’ ของ Fortune ปีนี้ ‘บุคคลแห่งปี’ ของ Time

4 Min
171 Views
15 Dec 2021

Select Paragraph To Read

  • แต่แค่รวยขึ้นและรวยที่สุดในโลก มันไม่ได้ทำให้เขาเป็นบุคคลแห่งปี แต่ ‘อิทธิพล’ ของเขาต่างหากที่ชัดมากๆ ในปี 2021
  • และที่โหดว่านั้น นักวิเคราะห์ประเมินกันว่าในอนาคตสเปซเอ็กซ์จะมีมูลค่าสูงกว่าเทสลาอีก
  • แต่ก็แน่นอน พอเขามีอิทธิพลขนาดนี้ คนรักก็เพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่าคนเกลียด
  • หรือพูดอีกแบบ การดำรงอยู่ของอีลอน มัสก์ คือการยืนยันว่าอเมริกันดรีม และโลกทัศน์ ‘แบบเก่า’

เราเคยรายงานไปแล้วตอนต้นปี 2021 ว่านิตยสาร Fortune จัด อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เป็น ‘นักธุรกิจแห่งปี’ ไปรอบหนึ่งแล้ว ก็จัดได้ว่าในโลกธุรกิจที่ชาวบ้านเขาเจ๊งกันถ้วนหน้า แต่บริษัทเทสลาดันรุ่งเรือง ทำให้ชายคนนี้ จากที่ต้นปี 2020 รวยไม่ถึงท็อป 30 ของโลกด้วยซ้ำ แต่พอสิ้นปีเขากลายเป็นคนรวยระดับท็อป 5 ของโลกไปแล้ว

แต่ปี 2021 นี่ยิ่งกว่าเดิม เพราะผ่านมาถึงสิ้นปี ชายคนนี้กลายเป็นคนรวยที่สุดในโลกอย่างหนักแน่นมั่นคงไปเรียบร้อย และนิตยสาร Time ก็ยกให้เขาเป็นบุคคลแห่งปีในที่สุด

ในส่วนความรวยนี่ไม่มีข้อกังขาใดๆ แล้ว และความรวยนี้ก็เช่นเคยว่ามาจากหุ้นบริษัทเทสลาที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงโควิด จนเทสลาเป็นบริษัทรถยนต์ที่มูลค่าสูงสุดในโลกระดับที่ไม่ต้องไปเทียบกับบริษัทรถยนต์อันดับ 2 แล้ว เพราะเอามูลค่าบริษัทรถยนต์อันดับ 2 ถึง 9 ในโลกมาบวกกันยังมูลค่าสูงไม่เท่าเทสลาบริษัทเดียว

แต่แค่รวยขึ้นและรวยที่สุดในโลก มันไม่ได้ทำให้เขาเป็นบุคคลแห่งปี แต่ ‘อิทธิพล’ ของเขาต่างหากที่ชัดมากๆ ในปี 2021

ตอนต้นปี อีลอน มัสก์ ได้แสดงอิทธิฤทธิ์บนทวิตเตอร์ ในการปั่นราคาทั้งหุ้นและคริปโทให้ขึ้นลงตามทวีตของเขาและเป็นข่าวไปทั่วโลก ซึ่งที่พีกก็คือตอนที่ดึงตลาดคริปโทขึ้นโดยประกาศว่าเทสลาจะรับบิตคอยน์ ในเดือนมีนาคม 2021 และตบตลาดลงให้ซบเซาหลังจากประกาศระงับการรับบิตคอยน์ในเดือนพฤษภาคม 2021

แน่นอน นี่อาจเป็นเรื่องที่คนนอกตลาดการเงินไม่ได้รู้สึกว่ามันมีอะไรเท่าไร แต่อำนาจระดับขยับราคาสินทรัพย์ทางการเงินขึ้นลงได้ตามใจชอบขนาดนี้ มันเรียกได้ว่า ‘สะเทือนโลก’ มากๆ เพราะแค่รวยไม่พอ แต่ต้อง ‘มีอิทธิพล’ คือพูดแล้วคนเชื่อจำนวนมาก มันถึงจะทำได้ และสิ่งที่อีลอน มัสก์ ทำได้ก็คือการ ‘คุมพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อย’ จำนวนมากจนขยับราคาสินทรัพย์ขึ้นลงได้

แต่ถามว่าเขามีอิทธิพลแค่โลกการเงินเหรอ? คำตอบคือไม่ใช่ แต่เขามีอิทธิพลสูงสุดใน ‘อวกาศ’ แล้ว เพราะในวงโคจรรอบๆ โลก เขาเป็นคนที่มีดาวเทียมอยู่ในครอบครองมากที่สุด จากการปล่อยดาวเทียมรัวๆ (เขาส่งพวกมันไปพร้อมกับจรวดของสเปซเอ็กซ์ เรียกได้ว่าส่งจรวดออกไปที ก็จะมีดาวเทียมส่งไปเพิ่ม) ซึ่งนี่คือพื้นฐานบริการของสตาร์ลิงก์ที่น่าจะเป็นบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมแรกของโลกที่ส่งสัญญาณจากเครือข่ายดาวเทียมของเอกชนทั้งหมด

นี่ทำให้สเปซเอ็กซ์ที่เป็นบริษัทนอกตลาดหุ้นอยู่ได้รับการประเมินมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดปี 2021 และล่าสุดคือมูลค่าสูงไปถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐแล้ว และนี่คือเหตุผลที่ทำไมปีนี้อีลอน มัสก์ ถึงกลายเป็นคนรวยที่สุดในโลกอย่างถาวรแล้ว

คือตอนต้นปี มันมีแวบหนึ่งที่อีลอน มัสก์ กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกตามการขึ้นของราคาหุ้นเทสลา ก่อนจะตกลงมาแล้วก็ขึ้นๆ ลงๆ ในท็อป 5 ทั้งปี แต่หลังจากสเปซเอ็กซ์ได้รับการประเมินมูลค่าสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด อีลอน มัสก์ ก็เลยมีมูลค่าสินทรัพย์สูงที่สุดในโลกหรือรวยที่สุดในโลกอย่างหนักแน่นถาวรนั่นเอง

ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเข้าใจโครงสร้างสินทรัพย์ของมัสก์ ดิบมากๆ เพราะราว 75 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินคือหุ้นเทลล่า และราว 25 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินคือหุ้นสเปซเอ็กซ์ โดยตัวเขา ณ สิ้นปี 2021 ไม่มีบ้านสักหลังด้วยซ้ำ ขายทิ้งหมด เอาเงินไปทุ่มกับธุรกิจหมด (ซึ่งแน่นอนว่าต่างจากมหาเศรษฐีคนอื่นๆ ที่มีการกระจายทรัพย์สินอย่างหลากหลายกว่านี้มาก)

และที่โหดว่านั้น นักวิเคราะห์ประเมินกันว่าในอนาคตสเปซเอ็กซ์จะมีมูลค่าสูงกว่าเทสลาอีก

ดังนั้นหนทางข้างหน้าของมัสก์ ถึงมีแต่ความรวยและรวยขึ้นไปเรื่อยๆ

และก็คงไม่ต้องอะไรมาก เพราะ ณ ปัจจุบัน เขาเป็นเจ้าของบริษัทที่ ‘มูลค่าสูงที่สุด’ ของสองอุตสาหกรรมที่นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่ายังไงก็ต้องมาแรงในศตวรรษนี้ อย่างรถยนต์ไฟฟ้า และการเดินทางไปอวกาศ ซึ่งก็ไม่ต้องพูดอีกว่า เขาไม่ใช่แค่บริษัทที่ใหญ่ที่สุด แต่เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมและมีเทคโนโลยีสูงกว่าบริษัทอื่นๆ อีกมากๆ ด้วย ในระดับที่เขาไม่ต้องมีความเกรงกลัวบริษัทเอกชนที่ประกาศเดินทางไปอวกาศเจ้าอื่นๆ เลย เพราะยังตามหลังสเปซเอ็กซ์อยู่ไกล

เรียกได้ว่าเขารุ่งเรืองสุดๆ ในยุคสมัยที่คนอื่นๆ ทั่วโลกแทบจะ ‘หนีตาย’ กันจากแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจของโควิด และก็ให้ๆ เขาเป็น ‘บุคคลแห่งปี 2021’ ไปเถอะ

แต่ก็แน่นอน พอเขามีอิทธิพลขนาดนี้ คนรักก็เพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่าคนเกลียด

และก็ไม่ใช่แค่อิทธิพล แต่เขาเป็นคนที่ ‘พูดในสิ่งที่คิด’ เสมอ แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะ ‘ขัดหู’ คน และนี่ไม่ใช่เรื่องปกติแน่ๆ สำหรับ ‘คนที่รวยที่สุดในโลก’ หรือกระทั่ง ‘มหาเศรษฐี’

ตัวตนของมัสก์ ถ้าเราตามมาตลอด เขาไม่ใช่แค่มหาเศรษฐีเทคโนโลยีที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่เท่านั้น ในทางการเมือง เขามีจุดยืนค่อนข้าง ‘ขวา’ เลยในมาตรฐานอเมริกา คือเขาไม่เชื่อเรื่องการแทรกแซงของรัฐสไตล์รัฐสวัสดิการ เขาไม่เชื่อว่าเราควรจะมีสรรพนามที่ใช้เรียกคนเกิน 2 เพศ และอะไรพวกนี้เขาก็ทวีตบอกตลอดแบบไม่กลัว ‘ทัวร์ลง’ อะไรทั้งนั้น

ซึ่งถ้าเราอ่านบทสัมภาษณ์เขามากๆ เราจะยิ่งเห็นโลกทัศน์ของเขาว่ามีความคงเส้นคงวามาก และยึดความเป็น ‘วิทยาศาสตร์’ สุดๆ เขาเชื่อว่ามนุษย์ควรจะมีสองเพศ ควรจะมีการสืบทอดเผ่าพันธุ์เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ และคนรุ่นเก่าก็ควรจะตายไปในวันหนึ่งพร้อมกับไอเดียเก่าๆ เพื่อไอเดียใหม่ๆ จะได้มาแทนที่

เขาก็เชื่อในความก้าวหน้าของมนุษย์แบบสุดๆ มาตลอด ในระดับที่เขากังขากับพัฒนาการ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ มากๆ และเป็นคนดังคนแรกๆ ที่ออกมาเบรกการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในยุคที่คนทุกคนยังเห่อกับความมหัศจรรย์ของมันอยู่

เขาไม่ได้คิดแบบคนรุ่นใหม่ว่าทุนนิยมเฆี่ยนตีให้เราทำงานมากเกินไป แต่เขามองว่าคนส่วนใหญ่ทำงานหนักไม่พอด้วยซ้ำ และถ้ามีโอกาสจะให้คำแนะนำเรื่องการทำงานเขาก็ยืนยันแนวคิดแบบเดิมให้คนทุ่มทั้งชีวิตลงไปกับงานเสมอ

ก็ต้องเข้าใจอีกว่าความเชื่อมั่นในมนุษย์พวกนี้มันมาจากปากคนเจนเอ็กซ์ที่ประสบความสำเร็จแบบ ‘อเมริกันดรีม’ แท้ๆ คือเขาเป็นลูกครึ่งแคนาดา-แอฟริกาใต้ที่ดั้นด้นมา ‘แสวงโชค’ หรือทุ่มเทประกอบธุรกิจในแผ่นดินอเมริกาจนร่ำรวยที่สุดในโลกในที่สุด

หรือพูดอีกแบบ การดำรงอยู่ของอีลอน มัสก์ คือการยืนยันว่าอเมริกันดรีม และโลกทัศน์ ‘แบบเก่า’

ทั้งหมดมันยังอยู่ดีใน ‘ผู้มีอิทธิพล’ ของโลกยุคใหม่ที่เป็นคนเจนเอ็กซ์ ซึ่งมาแทนคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์อย่างบิลเกตส์ หรือกระทั่งสตีฟ จ็อบส์

และก็นี่แหละครับ บุคคลแห่งปี 2021 ของนิตยสาร Time ทั้งรวย ทรงอิทธิพล มีความคิดที่ไม่เหมือนใคร และไม่ลังเลที่จะผลักดันให้ความคิดเหล่านั้นกลายมาเป็นความจริง

ซึ่ง ณ สิ้นปี 2021 ว่ากันตรงๆ มันก็ไม่มีปัจจัยอะไรที่จะชี้ว่าในปี 2022 อีลอน มัสก์ จะรวยหรือมีอิทธิพลต่อโลกน้อยลงเลย และถ้าปีหน้าเขาจะเป็น ‘บุคคลแห่งปี’ ของสำนักจัดอันดับอะไรสักอย่าง ก็ไม่น่าแปลกใจเช่นกัน

อ้างอิง: