ปี 1789 ที่ฝรั่งเศส กษัตริย์ไม่ใช่สมมติเทพ แต่เป็นต้นตอปัญหาอดอยาก

3 Min
1028 Views
16 May 2021

ปี 1789 ที่ฝรั่งเศส ประชาชนเริ่มกระด้างกระเดื่องแล้วว่ากษัตริย์ที่ปกครองพวกเขา ไม่ได้เป็นสมมติเทพ หรือได้รับอำนาจมาจากพระเจ้าในการปกครองอย่างที่ในอดีตเคยอ้าง

เพราะหากพระเจ้าดลบันดาลให้ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16” มาปกครองพวกเขาจริง ใยประเทศจึงมีหนี้สินท่วมหัว และประชาชนต้องอยู่อย่างอดอยากเช่นนี้?

1.

| Wikimedia Commons

แม้กระทั่ง “ขนมปัง” มื้ออาหารหลักไว้ยาไส้ให้ประชาชนมีแรงไว้เลี้ยงตนก็กลายเป็นสินค้าราคาแพง

“อาเธอร์ ยัง (Arthur Young)” เกษตรกรชาวอังกฤษผู้ที่ได้เดินทางไปยังฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น ได้เห็นเมล็ดพันธุ์การปฏิวัติที่กำลังถูกบ่มเพาะขึ้นในแผ่นดินของมวลประชา เขาบันทึกว่า ผู้คนดิ้นรนหาขนมปังมาประทังท้องกันอย่างแสนสาหัส มีรายงานมาตลอดเวลาถึงการจ่อจลาจล ความไม่สงบในเขตต่างๆ และมีการขอกำลังทหารมารักษาความสงบในตลาด

2 .

| Wikimedia Commons

แรงกดดันที่คุกรุ่นอยู่นอกรั้ววัง ทำให้พระกายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เริ่มร้อนรน พระองค์จึงได้ปัดฝุ่น “การประชุมสภาฐานันดร” ขึ้นมาใช้อีกครั้ง

ในการประชุม ประชาชนหรือฐานันดรที่ 3 พบว่าเสียงของตนถูกกดขี่ เสียงที่เป็นของประชาชนมากมายถูกนับเป็นแค่หนึ่งโหวต ส่วนอีกสองฐานันดร พระและขุนนางรวมหัวกันเป็นสองโหวต กลายเป็นเสียงข้างมากที่โหวตแต่ในสิ่งที่ทำให้ตนเองยังถืออภิสิทธิ์เหนือกว่าต่อไป

3.

| Wikimedia Commons

เสียงข้างมาก ดันแพ้เสียงข้างน้อย เมื่อระบบการประชุมสภาฐานันดรไร้ความยุติธรรมเช่นนี้ เหล่านักกฎหมาย ปัญญาชน นักเขียน จึงรวมตัวกันแล้วตั้งสภาของตัวเองในนาม “สมัชชาแห่งชาติ” หรือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งเป็นคนหมู่มาก ผู้ไม่ขอยอมทนทำงานหนัก จ่ายภาษีเลี้ยงพวกคนส่วนน้อยอย่าง พระ ขุนนาง และพวกเจ้าอีกต่อไป

เหล่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ สาบานกันในสนามเทนนิส ว่าจะเปลี่ยนระบอบการปกครองเสียใหม่ และต้องทำให้ “กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ให้ได้

4.

| Wikimedia Commons

ในบรรดาขุนนางที่เสวยสุขอยู่บนหอคอยงาช้าง มีขุนนางผู้หนึ่ง ที่เหมือนก้าวเท้าลงมาอยู่บนแผ่นดินร่วมกับประชาชน เขามีนามว่า “ฌาค แนแกร์ (Jacques Necker)” ผู้พยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปหลายๆ อย่าง รวมถึงมีความตั้งใจจะทำให้ขนมปังมีราคาถูกลง เพื่อบรรเทาความหิวโหยของผู้เสียภาษี

แต่ความพยายามเช่นนั้น ทำให้ฌาคเป็นแกะดำในบรรดาขุนนางด้วยกัน พวกขุนนางจึงรวมหัวกัน กดดันให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทำอะไรสักอย่างกับฌาค ผู้ตอนนี้เป็นเหมือนภัยความมั่นคงในหมู่ขุนนางด้วยกัน

5.

| Wikimedia Commons

วันที่ 12 กรกฎาคม 1789 มีพระราชโองการจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ให้ปลดฌาค แนแกร์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

ทั้งความหิวโหย และความโกรธแค้นที่สุมไฟมานาน บวกกับต้องสูญเสียขุนนางผู้เป็นเหมือนตัวแทนชาวบ้าน เหล่าประชาชนจึงเริ่มลุกฮือประท้วงกันในปารีส ความโกรธของผู้คนมากมายรวมกันเป็นความรุนแรงที่ยากจะปราบปราม จนในเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม ประชาชนก็ได้บุกทำลายคุกบัสตีย์ ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการกดขี่จากชนชั้นปกครอง

ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งตัวพระองค์อยู่ห่างจากปารีสไปเพียง 20 กิโลเมตร ก็หาได้รู้เรื่องราวไม่ พระองค์เพิ่งกลับมาจากล่าสัตว์ นั่งอยู่บนเก้าอี้นุ่มในรั้ววังแวร์ซาย ก่อนจะบันทึกในไดอารี่ว่า “ไม่มีอะไร”

6.

| Wikimedia Commons

ในวันที่ 26 สิงหาคม 1789 สมัชชาแห่งชาติได้ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง และวลี “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” จึงได้กลายเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ได้ยอมศิโรราบต่อประชาชนในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน หลังพระองค์ถูกบุกวังแวร์ซายโดยเหล่าประชาชนคนหิวโหย และพระองค์โดนลากขึ้นรถม้า แล้วแห่พาไปยังปารีส เพื่อให้เห็นความเดือดร้อนและวุ่นวายของประชาชน ที่พระองค์ทรงมืดบอดเมินเฉยใส่มาเนิ่นนาน

7.

หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ และสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เข้มข้นไปด้วยกลิ่นอายการต่อสู้ และคาวเลือด สามารถเดินทางย้อนเวลาผ่านไทม์แมชชีนได้ในพอดแคสต์ “History Corgi ปฏิวัติฝรั่งเศส จุดเริ่มต้นของหยดเลือดและเสรีภาพ EP.1”

อ้างอิง:

  • The People. การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 : การทลายเรือนจำเพื่อหมุดหมายของเสรีภาพและเท่าเทียม. https://bit.ly/33pV4LU
  • History. How Bread Shortage Helped Ignite the French Revolution. https://bit.ly/2Sza9Zy