130 ปี PHILIPS กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และก้าวต่อไปแห่งอนาคต
พอพูดถึง ‘ฟิลิปส์’ เชื่อว่าหลายท่านน่าจะคิดถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟ และนวัตกรรมส่องสว่าง แต่ทราบหรือไม่ว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความโดดเด่นและหลากหลายของสินค้าฟิลิปส์เท่านั้น และวันนี้ ฟิลิปส์พร้อมจะก้าวไปอีกขั้น กับการเข้าสู่ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบ
ซึ่งในช่วงวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฟิลิปส์ได้ฉลองครบรอบ 130 ปี พอดี BrandThink จึงเข้าไปร่วมพูดคุยกับ คุณวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียนรู้ถึงแนวทางของการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ
พวกเขามองเห็นอะไรในก้าวต่อไปนับจากนี้
เรามาดูกันดีกว่าว่า นวัตกรรมสุขภาพในยุคอนาคตผ่านมุมมองของฟิลิปส์จะเป็นอย่างไร
ต้นกำเนิดของนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน
ในช่วงต้นคุณวิโรจน์บอกเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวกว่า 130 ปีของฟิลิปส์
ตั้งแต่เรื่องของพ่อลูกครอบครัวฟิลิปส์
Gerard (เจอราร์ด) และ Frederik (เฟรเดอริก) ที่ทั้งคู่เริ่มพัฒนาจากธุรกิจโรงงานเป่าแก้ว
ที่ เนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ระดับตำนานอย่างหลอดไฟฟิลิปส์ ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาชีวิตผู้คนผ่านนวัตกรรมส่องสว่าง
ภาพที่ชัดเจนที่สุดก็คือเมืองไอนด์โฮเวน ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นเมืองที่มีแต่ทุ่งหญ้า ชาวบ้านยากจน
การเข้ามาและเติบโตของ ฟิลิปส์ทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม ผู้คนในไอนด์โฮเวน
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประชากรกว่า 80% ในยุคนั้นเป็นพนักงานของฟิลิปส์ทั้งหมด
ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนไอนด์โฮเวน เราจะเห็นเลยว่า จะมีอนุสาวรีย์ผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่หน้า
สถานีรถไฟ ซึ่งคนนั้นก็คือ Anton ผู้เป็นน้องชาย และเป็นหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จกับการนำหลอดไฟไปขายที่รัสเซีย
หรือจะพูดง่ายๆ ว่าคนในเมืองไอนด์โฮเวน ค่อนข้างยินดีกับความสำเร็จและการเติบโตของฟิลิปส์มาก
ซึ่งหลังรถไฟเที่ยวนั้น ชีวิตของพวกเขาก็นับว่าเปลี่ยนไปตลอดกาล ก่อนจะตามมาด้วย
ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
“ประมาณยี่สิบปีให้หลัง หลังจากที่ฟิลิปส์เริ่มผลิตหลอดไฟเพื่อการค้าแล้ว Dr. Wilhelm Roentgen
(ด๊อกเตอร์ วิลเฮล์ม เรินต์เกน) ซึ่งเป็นหมอที่เยอรมัน ก็ค้นพบว่ามีรังสีชนิดหนึ่งส่องผ่านทะลุร่างกายเราได้ ก็คือ รังสี X-ray นั่นเอง เพียงสัปดาห์เดียวหลังจากนั้น ฟิลิปส์สามารถผลิตหลอดเอกซเรย์ขึ้นได้”
คุณวิโรจน์เริ่มพูดถึงอีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญที่ฟิลิปส์ได้เริ่มเข้าสู่วงการเครื่องมือแพทย์
จากนั้นอีกประมาณสี่สิบปีหลังการผลิตหลอดไฟ ฟิลิปส์ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ นั่นก็คือ
เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า ซึ่งคุณวิโรจน์ย้ำเองเลยว่า ‘ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า’ โดยในปี 1939 ขายได้ 700 เครื่องต่อชั่วโมง นับว่าเป็นยอดขายจำนวนมหาศาล และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฟิลิปส์ก็เริ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อาทิ โทรทัศน์ เครื่องเสียง และอื่นๆ อีกมากมาย
“ถ้าเราดูโลโก้ฟิลิปส์ คลื่นสองเส้นที่เห็นก็คือคลื่นวิทยุนั่นเอง” คุณวิโรจน์เฉลยความลับในแบบ
ฉบับต้นกำเนิดของโลโก้ฟิลิปส์
การเดินทางที่ยาวนานและการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ช็อกโลก
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง มีนวัตกรรมของฟิลิปส์ออกมามหาศาล
‘เทปคาสเซ็ท’ หนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลกของวงการเพลงก็เป็นหนึ่งผลลัพธ์แห่งการสร้างสรรค์ของ
ฟิลิปส์ รวมถึงแผ่นซีดี กับการร่วมมือกับ JVC และ SONY ผลิตดีวีดีขึ้นมาอีกด้วย
“โดย ATM เครื่องแรกในประเทศไทย ก็เป็นเครื่องของฟิลิปส์ สมัยก่อนตอนรัฐสภาอยู่ตรงข้ามเขาดิน ตอนเขาลุกขึ้นมาอภิปรายใส่กัน เครื่องเสียงนั้นก็ของฟิลิปส์ และในยุคก่อน 9/11 ก่อนเครื่องบินจะชนตึก
เวิรด์เทรด เรียกว่ากล้องวงจรปิด CCTV เกือบทั่วโลกเนี่ยก็เป็นยี่ห้อฟิลิปส์หมดเลย สนามบินสุวรรณภูมิ ตอนเปิดสนามบินใหม่ ๆ กล้อง CCTV ก็ของฟิลิปส์หมด เมื่อก่อนผลิตภัณฑ์เราหลากหลายมาก”
โฟกัสผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์
“หลังจากสามสิบถึงสี่สิบปีที่ฟิลิปส์ ผลิตเครื่องเอกซเรย์ หลอดเอกซเรย์ ฟิลิปส์เริ่มผลิตเครื่องมือแพทย์ด้านรังสีวินิจฉัยอื่นๆ ออกมาอีกมากมาย อาทิ เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่อง MRI เครื่อง CT Scan เป็นต้น
ฟิลิปส์ มองไปข้างหน้า และมีวิสัยทัศน์เห็นว่า นับจากนี้ไปคนในโลกจะมีช่วงอายุที่ยืนยาวขึ้น คนจะอายุยืนขึ้นมาก ปัญหาที่ตามมาจะเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ต้องมีเทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้คนอายุยืนขึ้น แล้วคนที่อายุยืนขึ้นจะอยู่อย่างมีสุขภาพดีอย่างไร ฟิลิปส์ให้ความสำคัญกับตรงนี้ และเริ่มเบนเข็มชัดเจนว่า ในทศวรรษต่อๆ ไป ฟิลิปส์จะเริ่มโฟกัสที่สุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก”
ฟิลิปส์พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาได้พัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการให้ความสว่างกับโลกในช่วงที่ผ่านมา แต่จากนี้เป็นต้นไปจะเริ่มโฟกัสคุณภาพชีวิตคือเรื่องสุขภาพ จนกระทั่งนำมาสู่การตัดสินใจที่จะแยกธุรกิจหลอดไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กออกจากการดูแลของ ฟิลิปส์
“เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน ฟิลิปส์ตัดสินใจครั้งสำคัญที่ช็อกโลก โดยการขายธุรกิจหลอดไฟและ
ระบบส่องสว่างออกไป เพราะธุรกิจตรงนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ความมุ่งหมายของฟิลิปส์ที่จะ
พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คน และปีที่ผ่านมา ฟิลิปส์ก็เพิ่งจะขายธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กออกไป แต่เพราะผู้บริโภคยังคงเชื่อมั่นในแบรนด์ของเรา บริษัทที่เข้ามาดูแลแทนจึงยังคงใช้แบรนด์ฟิลิปส์อยู่ ทั้งหลอดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า และสำหรับพนักงานที่รับผิดชอบตรงนี้เราไม่ได้มีการปรับลดพนักงานโดยการให้ออก แต่พวกเขาจะถูกย้ายไปทำงานที่พวกเขาถนัดต่อภายใต้บริษัทที่ดูแลธุรกิจนั้นๆแทน”
นี่คือเส้นทาง 130 ปีของฟิลิปส์จนมาเป็นฟิลิปส์ในทุกวันนี้
ผลิตภัณฑ์ที่จะมีบทบาทสำคัญในโลกอนาคต
หลังจากเรารับรู้ถึงเรื่องราวอันยาวนานของฟิลิปส์ เราก็มานั่งคุยกันต่อกับประเด็น
‘นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต’ ที่ฟิลิปส์เล็งเห็น และตั้งใจจะเดินไปข้างหน้า
“130 ปีที่เราพัฒนาคุณภาพชีวิตคน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอยู่รอด ผ่านสงครามใหญ่ ๆ ในโลกนี้มาสองครั้ง เพราะดีเอ็นเอของ ฟิลิปส์มีคำว่า Innovation อยู่ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างที่ผมเล่าว่าเราคิดค้นเทปคาสเซ็ท CD DVD เป็นการเติบโตที่ไม่หยุดนิ่ง คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา”
โดยอย่างนวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพที่คุณวิโรจน์ได้เล่าให้เราฟังก็นับว่าน่าสนใจในหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ที่ฟิลิปส์เองก็นับว่าเป็นผู้นำรายใหญ่ ซึ่งต่อไปสินค้าตัวนี้กำลังจะกลายเป็น Mass Product หรือผลิตภัณฑ์ที่มีใช้ทั่วไป ตาม พรบ. ข้อกฎหมายใหม่ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้น
“ถ้าเคยไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น จะเห็นว่าตามสถานที่ต่าง ๆ มีป้ายติดว่า AED แล้วมีลูกศรชี้ หรือขึ้นชินคันเซ็น เบาะหน้าก็จะเขียนว่า AED อยู่ใต้เบาะนี้นะ ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญ เพราะถ้ามีคนไข้หัวใจล้มเหลวหรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขึ้นมา ถ้ามี AED อยู่จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตถึง 50 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งเยอะมากแล้ว การปั๊มหน้าอกอย่างเดียว โอกาสรอดไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้ามี AED ช่วย โอกาสรอดมีถึง
50 เปอร์เซ็นต์”
เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า Philips Tempus มีความพิเศษคือเป็น Military Grade ในขณะที่ทุกยี่ห้อในตลาดเป็น Portable นอกจากการเป็นเครื่องกระตุกหัวใจแล้ว Philips Tempus ยังเป็นทั้ง
เครื่องวัดสัญญาณชีพคนไข้และเครื่องอัลตร้าซาวด์ฝังอยู่ในตัวด้วย มีความสมบุกสมบัน ในแบบฉบับที่ทหารหิ้วไปในสนามรบ ตกในโคลนลุยน้ำ เจอแรงกระแทกอะไรก็ยังใช้งานได้ หรือขึ้นบนเฮลิคอปเตอร์ก็ยังใช้งานได้ เครื่องพวกนี้ไม่ใช่ว่าขึ้นเครื่องแล้วจะใช้ได้หมด แต่เครื่องเราใช้ได้ ช่วงที่ผ่านมาเพิ่งได้ทำสัญญากับแอร์บัส คือจะเอามอนิเตอร์นี้ของฟิลิปส์ไปใช้บนแอร์บัสทุกลำ ถ้าอยู่ ๆ มีผู้โดยสารมีปัญหา
จะใช้เครื่องนี้จับสัญญาณชีพ วินิจฉัย และส่งสัญญาณลงมาที่พื้นดิน เพื่อส่งข้อมูลให้กับโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดจากที่เครื่องบินกำลังบินอยู่”
“อันนี้เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค ส่งเสริมสุขภาพ โดยถ้าแพทย์วินิจฉัยได้ถูกต้องและเร็วด้วยก็จะรักษาได้เร็ว เป็นเครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังสูง (MRI) คนไข้จะนอนบนเตียงสีฟ้า เลื่อนไปตรง
รูโดนัท แล้วสนามแม่เหล็กก็จะทำงานโดยยิงเครื่องวิทยุใส่ตัวคนไข้ พอหยุดยิง พลังงานก็จะออกมาเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์แล้วก็สร้างเป็นภาพอวัยวะขึ้นมาทันที”
“อุปกรณ์นี้สำคัญมากโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด หากเคยไปเยี่ยมคนไข้ใน ICU จะเห็นว่าทุกสิบนาทีทุกครึ่งชั่วโมงจะมีพยาบาลถือฟอร์มกระดาษมาจดว่าวันนี้หยิบยาไปเท่าไร ปัสสาวะเท่าไร
หายใจเป็นอย่างไร ออกซิเจนในเลือดเป็นยังไงแล้วจด ๆ แต่ตอนนี้ถ้ามีระบบนี้อยู่ เรียกว่า SMART ICU พยาบาลไม่ต้องทำเลยเพราะข้อมูลทุกอย่างจะลิ้งก์เข้าระบบนี้ และทำการบันทึกเป็นรูปแบบรายงานออกมา ทำให้พยาบาลสะดวกและมีเวลาโฟกัสที่ตัวคนไข้มากขึ้น ไม่ต้องมาโฟกัสกับเครื่องพวกนี้ และในสถานการณ์โควิดก็ช่วยให้พยาบาลไม่ต้องเดินเข้าไปใกล้เตียงคนไข้บ่อยครั้งนัก สามารถอยู่ที่เคาน์เตอร์พยาบาลดูจอนี้ แล้วคอยดูสถานการณ์คนไข้ได้”
วงการ Health Care และการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ส่งผลกระทบทั้งตลาดนะ และเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลก เราคงรู้ว่าเราผ่านวิกฤตการณ์มาหลายอย่างเหลือเกิน ทั้งภายในประเทศจากการเมือง และการเงินต้มยำกุ้ง แต่จะสังเกตว่าวิกฤตการณ์พวกนั้น
ไม่กระทบต่อ Healthcare เลย เพิ่งมีโควิดอันแรกที่กระทบโดยตรงและมีผลอย่างมาก เราได้ผลกระทบแน่นอน อย่างในไทย งบประมาณเครื่องมือแพทย์ถูกโยกเข้าไปซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับโควิดมากขึ้น อุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวจะโดนดึงและชะลอตัว”
“โรงพยาบาลเอกชนก็ชะลอการลงทุน อันนี้ก็ส่งผลกับเรา และทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะมันเป็น pandemic ไปหมดเลย กำลังการผลิตที่โรงงานก็มีปัญหา เพราะต้องแบ่งทีมเป็นชุด ๆ หากใคร
ติดโควิดก็ดรอปไปหมดทั้งชุด คนน้อยลง กำลังการผลิตก็มีปัญหา Timing การส่งของยาวนานขึ้น เพราะต้องใช้เวลาการผลิตนานขึ้น เป็นต้น แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้นแล้วครับ ในยุโรป อเมริกา ก็กลับมาบางส่วน
ของเรามีโรงงานหลายแหล่งขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์”
Smart Health ในแบบฉบับของฟิลิปส์
พอพูดถึงเทรนด์สุขภาพในอนาคต คำว่า Smart Health น่าจะพอเป็นคำศัพท์ที่พวกเราได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ว่าแต่มันคืออะไร แล้วมันเชื่อมโยงกับฟิลิปส์ในรูปแบบไหนกันบ้าง มาฟังจากคุณวิโรจน์กัน
“Smart Health ในมุมของฟิลิปส์คือการที่ผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับผู้ดูแลสุขภาพทางไกลได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ตอนนี้ฟิลิปส์มีอุปกรณ์หนึ่งที่ในไทยยังไม่นำเข้ามา สมมติเราเป็นคนไข้แล้ว
กลับไปอยู่บ้าน จะมีอุปกรณ์ชิ้นนี้ติดที่หน้าอกเรา ตัวนี้จะจับสัญญาณคลื่นหัวใจไฟฟ้าเราแล้วส่งเข้าโทรศัพท์มือถือ เคยเห็นนาฬิกาที่เขาใช้ตอนวิ่งกันไหมครับ เป็นเทคโนโลยีเดียวกันเลย เป็นการส่งสัญญาณผ่านบลูทูธเข้าไปในโทรศัพท์แล้วต่อไปถึงโรงพยาบาลที่จะมีเซนเตอร์เป็น control center เพื่อแสดงข้อมูลว่าคนไข้เคสนี้เป็นอย่างนี้ สัญญาณไม่ดีแล้ว ควรโทรเรียกคนไข้กลับมาโรงพยาบาลหรือไม่ และผู้ป่วยก็ไม่ต้องรอให้ถึงสามเดือนแล้วมาหาหมอทีนึง บางคนต้องขับรถไปตั้งไกล ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐบางทีก็คิวยาวอีก อันนี้คือส่วนหนึ่งของ Smart Health และยังเป็นระบบที่รวมถึงการดูแลผู้ป่วยที่
แอดมิดนอนเตียงในโรงพยาบาล ซึ่งระบบนี้พยาบาลไม่ต้องเดินไปนั่งจดทุกสิบห้านาทีหรือทุกครึ่งชั่วโมง ระบบพวกนี้จะจัดการข้อมูลให้หมดเลย เป็นต้น”
เทรนด์สุขภาพกับโลกแห่งอนาคต
“คนอายุยืนยาวมากขึ้นเพราะเทคโนโลยี อีกเหตุผลเพราะคนสนใจสุขภาพมากขึ้นด้วย ยิ่งการสื่อสารทางเทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีกำลังใช้สอย ความเป็นอยู่ดีขึ้น ทุกคนก็อยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น อยากเอาเงินซื้อความสุขสบายมากกว่าการรักษาพยาบาล อย่างผมเองตอนนี้ก็ออกกำลังกายทุกวันจากที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ผมจะ 60 ปี แล้วนะแต่ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าผมแข็งแรงกว่าตอนเข้าฟิลิปส์ใหม่ ๆ เมื่อยี่สิบปีที่แล้วอีก เริ่มสนใจสุขภาพ เริ่มชั่งน้ำหนักบ่อย BMI เกินไม่ได้ละ ต้องกดลง”
“คนเริ่มสนใจสุขภาพมากขึ้นและติดตามเทรนด์ต่างๆได้เร็วขึ้น เพราะเริ่มกลืนไปกับระบบสื่อสารสนเทศ IT และระบบการแพทย์ที่แยกกันไม่ออก ฟิลิปส์เราก็ชัดเจนเรื่องนี้ คือเราจะเข้าสู่ธุรกิจซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น เราจะไม่โฟกัสแค่เอาเส้นลวดมาพันเป็นแม่เหล็ก เอกซเรย์
เครื่องกระตุกหัวใจ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท แต่ในขณะเดียวกันนวัตกรรมของฟิลิปส์ต่อจากนี้ไปจะเกี่ยวกับ IT มากขึ้นเรื่อย ๆ
วันนี้อาจจะดูไม่เห็นชัดแต่ผมจะบอกว่ามันจะเร็วมาก เพราะ IT เป็นเรื่องความเร็ว อีกอันนึงคือ Healthcare Personal Life คือเรื่องสุขภาพจะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากขึ้น เช่น
คนสองคนเป็นหวัดเหมือนกัน แต่อาจจะกินยาไม่เหมือนกัน เพราะยาตัวนี้ตอบสนองกับการรักษาของอีกคนได้ดีกว่า
อีกหน่อยเทรนด์โลกจะเป็นแบบนี้ ถามว่าดีไหม ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างคนเป็นมะเร็งเนี่ย ถ้าไปฉายแสง คีโม ฝังแร่ ออกมาคือทำลายเซลล์หมด อีกหน่อยจะเริ่มเฉพาะทางมากขึ้น มียาที่จัดการแค่เซลล์มะเร็ง จะไม่ทำร้ายเซลล์ดี ๆ ไม่ลำบากแบบปัจจุบัน.
“ตรงที่ผมบอกว่าคนในยุคต่อไป อายุเกินร้อยไม่ใช่เรื่องประหลาดเลย ในเมืองไทยเราก็เห็นคนอายุเกินร้อยมากขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนเห็นคนอายุ 80-90 เรายังตื่นเต้น แต่เดี๋ยวนี้ผมมองว่าเฉย ๆแล้ว ถือเป็นเรื่องธรรมดามากที่คนจะอายุยืนขึ้น เทรนด์คนเราอีกหน่อย อย่างคุณเนี่ยสบาย ๆ 100-120 ปี ถ้าไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ถ้าไม่เจ้าชู้ก็ไม่เจอใครเอาอะไรมาทำร้าย” – คุณวิโรจน์พูดถึงเรื่องอายุขัยแห่งโลกอนาคตปนกับเสียงหัวเราะ
หลังจากที่คุยกับคุณวิโรจน์จบ ตัวผู้เขียนเองก็แทบจะลืมเรื่องราวของหลอดไฟอย่างที่เข้าใจตอนแรกไปจนหมดสิ้น และเราเองก็เชื่อว่า หาก 130 ปีที่ผ่านมา หลอดไฟส่องสว่างสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตและนำทางผู้คนได้ เส้นทางนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ฟิลิปส์เชื่อมั่น ก็จะไม่ต่างอะไรกับหลอดไฟที่จะเข้ามาเปลี่ยนคุณภาพชีวิตพวกเราได้เช่นกัน