10 หนังหลอนในดวงใจ ประกอบเป็นตัวตนของคนทำหนังสุดเฮี้ยน Ari Aster แห่ง Beau Is Afraid

4 Min
829 Views
19 May 2023

เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว สำหรับดีกรีความเฮี้ยน ความบ้าคลั่งของ อารี แอสเตอร์ (Ari Aster) ผู้กำกับจอมหลอน ผู้สร้างความสยองให้กับผู้ชมด้วยไอเดียที่แสนพิลึกพิลั่นและบ้าคลั่ง

และภายใต้ความเดือดดาลในบรรยากาศที่ไม่ปกติและหายใจไม่ทั่วท้องในหนังของเขา มีแรงบันดาลใจจากหนังต้นแบบและเป็นหนังในดวงใจของเขาจำนวนมากถึง 58 เรื่องเลยทีเดียว

เราเลยคัดสรร 10 หนังที่ว่าเฮี้ยนสุด คลั่งสุด และน่าจะหาชมกันได้ไม่ยาก มาให้แฟนๆ ลองไปตามหาว่าแรงบันดาลใจแห่งความหลอนเหล่านี้ ประกอบเป็นตัวตนของอารี แอสเตอร์ ได้อย่างไร

The Piano Teacher (Michael Haneke, 2001)

เริ่มที่หนังปั่นป่วนกระอักกระอ่วนใจ ของครูเปียโนสาววัยกลางคนที่แม้จะสร้างความรู้สึกอึดอัดและความหวาดเสียวตลอดการรับชม แต่มันจุดประกายให้กับแอสเตอร์ในตอนที่เขาอายุ 14 ปี ได้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะการแสดงของ อิซาแบล อูแปร์ (Isabelle Huppert) ที่เรียกได้ว่าจิตสุดในประวัติศาสตร์แห่งการแสดงเลยทีเดียว

“อูแปร์แสดงได้อย่างยอดเยี่ยม ที่บาลานซ์ความนิ่งเฉยและความโหดเหี้ยมได้ในเวลาเดียวกัน มันเป็นการแสดงที่ผมชื่นชอบตลอดกาล”

Vertigo (Alfred Hitchcock, 1958)

หนังยอดเยี่ยมเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงและความระทึกสุดขีดคลั่ง หนังฮิตช์ค็อกเรื่องนี้ คือหนึ่งในหนังที่แอสเตอร์โปรดปราน โดยเขาพูดถึงหนังเรื่องนี้และโหวตหนังเรื่องนี้ให้กับโพลล่าสุดของ Sight and Sound อีกด้วย

“เป็นหนังสืบสวนสอบสวนที่ส่วนตัวและวิปริตที่สุดของฮิตช์ค็อกที่เกี่ยวกับความหลงใหลของเขาเองที่มีต่อหญิงสาว ด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่ควบคุมมัน มันอาจจะสวยงามที่สุดและน่ารำคาญที่สุดที่ความเจ็บป่วยในการกำกับ สร้างภาพโรแมนติกชวนฝัน และทำลายล้างอย่างงดงามราวกับภาพฝัน”

Raging Bull (Martin Scorsese, 1980)

แม้ภาพรวมของหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังดราม่าสู้ชีวิต แต่การแสดงของ โรเบิร์ต เดอ นิโร และการกำกับของ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่เรียกว่าเฮี้ยนสุดชีวิต ก็ทำให้แอสเตอร์หลงรักหนังเรื่องนี้จนโงหัวไม่ขึ้นเช่นกัน

“Raging Bull สร้างขึ้นหลังจากที่สกอร์เซซีประสบความสำเร็จ จนทำให้เขาค้นพบ ‘วิธีการสร้างหนังแบบกามิกาเซ่’ และให้ความรู้สึกเหมือนเป็นภาพยนตร์อเมริกันที่เปลือยเปล่าและประนีประนอมน้อยที่สุดเรื่องหนึ่งที่เคยสร้างในสตูดิโอ คำสรรเสริญเยินยอของสกอร์เซซีที่มีต่อคนอนาถา คือเสียงคร่ำครวญของความปวดร้าวและความอ่อนล้าโรยแรงระดับมหภาค ในขณะเดียวกันก็เป็นผลงานแห่งความเห็นอกเห็นใจอย่างสุดโต่ง แสดงออกทางอารมณ์ที่ทรงพลังอย่างท่วมท้น”

Black Narcissus (Michael Powell & Emeric Pressburger, 1947)
ราคะที่ซ่อนอยู่ใต้กรอบแห่งศาสนา นำพาหนังอื้อฉาวที่มาก่อนกาล เป็น 1 ในงานที่แอสเตอร์รักที่สุด โดยเขาเลือกหนังเรื่องนี้ในรายการ Aster’s 2018 list for The Criterion Collection

‘Black Narcissus’ ของโพเวลล์ และเพรสเบอร์เกอร์ ตั้งอยู่ในชุมชนแม่ชีบนเทือกเขาหิมาลัยที่หยุดชะงักด้วยการมาถึงของสาวพื้นเมืองที่งดงามและอื้อฉาว ผู้กำกับทั้งสองทำให้ภูเขาหิมาลัยกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทไม่ต่างกับคนแสดง”

Ugetsu (dir. Kenji Mizoguchi, 1953)

แอสเตอร์ให้คำจำกัดความถึง ‘Ugetsu’ ว่า “เป็นหนังผีที่แสนล่องลอยสวยงาม” โดยแอสเตอร์สังเกตว่าความรักของเขาที่มีต่อหนังเรื่องนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่เขาได้ยินว่า มาร์ติน สกอร์เซซี ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ “หนังของเขาดูเงียบขรึมในขณะเดียวกันก็รุนแรงและโหดเหี้ยมมาก” แอสเตอร์ กล่าว “หนังเรื่องนี้อาจจะห่างไกลในฐานะหนังเยียวยาหัวใจ แต่ก็มีเลือดเนื้อความเป็นมนุษย์ที่เจ็บปวดซึ่งเป็นหัวใจหลักของงานที่เขาทำ”

Rosemary’s Baby (dir. Roman Polanski, 1968)

หนังแสนอื้อฉาวของการตั้งคำถามกับศาสนาและความเชื่อ ชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ โรมัน โปลันสกี ต้องสูญเสียคนรักและลูกในท้องที่สังเวยลัทธิเมสันแฟมิลีที่โหดร้ายทารุณ แม้ผลลัพธ์ของหนังเรื่องนี้จะโหดร้ายเพียงไร แต่ก็สร้างต้นธารชั้นดีของการรุกคืบและตั้งคำถามทางความเชื่อแต่โบราณนานมา และยังเป็นพิมพ์เขียวที่แอสเตอร์ยึดเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนัง ‘Hereditary’ ของเขาเองอีกด้วย

Songs from the Second Floor (Roy Andersson, 2000)

“หากมีใครโต้แย้งความเหนือชั้นของภาพในภาพยนตร์ ผลงานของ รอย แอนเดอร์สสัน (Roy Andersson) เป็นตัวแทนของความสุดยอดที่ตื่นตาตื่นใจ” แอสเตอร์ กล่าวถึงหนังปี 2000 นี้ “ไม่มีผู้สร้างหนังรายใดที่เข้าใกล้การเทียบเคียงภาพของหนังที่ว่ากันว่าเป็นเหมือน ‘ภาพวาด’ อย่างแท้จริง ทุกอย่างสร้างจากศูนย์บนเวที (แม้แต่ฉากกลางแจ้ง!) รวมไปถึงอารมณ์ขันอันยอดเยี่ยมของเขา บอกเล่าการมองโลกในแง่ร้ายของชาวสวีเดนได้อย่างยอดเยี่ยม และความสะเปะสะปะของหนังเรื่องนี้เป็นของขวัญที่ยอดเยี่ยมในวงการภาพยนตร์สมัยใหม่”

Barry Lyndon (Stanley Kubrick, 1975)

“หนังที่สนุกที่สุด สง่างามที่สุด และในเวลาเดียวกันเป็นหนังที่น่ารักที่สุดและแปลกแยกที่สุด” แอสเตอร์ให้ความเห็นถึงผลงานของคูบริกจากการลงคะแนนโหวต Sight & Sound ของเขา

“ทุกสิ่งทุกอย่างในหนังรู้สึกเหมือนถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ตั้งแต่จังหวะฉากที่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ไปจนถึงการซูมกล้องช้าๆ ที่ไร้ที่ติอันเลื่องชื่อ จนเปลี่ยนไปใช้กล้องมือถืออย่างกะทันหันและน่าขบขัน ลีออน วิตาลี รับบทเป็นลอร์ดบูลลิงดอนได้อย่างสมศักดิ์ศรีและยิ่งใหญ่!”

Cure (Kiyoshi Kurosawa, 1997)

หนังเขย่าขวัญคลื่นลูกใหม่ในยุคสมัยที่ J-Horror เป็นเทรนด์ฮิตในตลาดหนังโลก ‘Cure’ เล่าถึงการตามล่าหาฆาตกรต่อเนื่อง ที่ชอบทิ้งรอยกากบาท X ไว้ที่คอผู้ตายไว้ดูต่างหน้า เมื่อตำรวจค่อยๆ ตามหา ยิ่งพบความน่าสะพรึงที่กัดกินตัวตนเขาไปอย่างช้าๆ

แอสเตอร์พูดถึงหนังเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย แต่ภาพยนตร์ที่กำกับโดย คิโยชิ คุโรซาวะ นี้ เต็มไปด้วยข้อโต้แย้งที่น่าศึกษา แถมแอสเตอร์ยังกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ว่า “Is the greatest movie ever made.” เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วกับความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้

Woman in the Dunes (dir. Hiroshi Teshigahara, 1964)

‘Woman in the Dunes’ ของผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ฮิโรชิ เทชิกาฮาระ (Hiroshi Teshigahara) เป็นหนังเซอร์เรียลเกี่ยวกับนักกีฏวิทยาที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับหญิงปริศนาในเมืองริมชายหาดที่บรรยากาศสุดอึมครึม แอสเตอร์กล่าวถึงหนังเรื่องนี้ที่ได้ดูซ้ำในช่วงกักตัวจาก COVID-19 ว่า

“เป็นหนังที่สมบูรณ์แบบมากในช่วงกักตัว และเป็นหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายและผู้หญิง”