ชีวิต 1 วันของ “ลุงต๋อย” สัปเหร่อในยุคโควิด ที่น้ำหนักศพหนักขึ้นทุกวันเพราะรัฐเมินเฉย

5 Min
778 Views
30 Jul 2021

ทุกคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ “ลุงต๋อย” กันมาบ้าง เพราะในช่วงเดือนที่ผ่านมา แกคือหนึ่งในคนที่ออกสื่ออย่างแพร่หลาย เผื่อหวังถึงความช่วยเหลือและตีแผ่เรื่องราวชีวิตของ “สัปเหร่อ” ยุคโควิด

แต่คุณลุงผู้นี้ที่มีชื่อจริงว่า “สุรเสก เนื่องน้อย” ไม่ได้ปรารถนาจะให้ชื่อของตัวเองเป็นที่รู้จักตั้งแต่ต้น เขาเป็นเพียงคนหนึ่งที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อเพียรพยายามในหน้าที่ตัวเอง และกล้าออกมาพูด “ความจริง” ของชะตาชีวิตตนเองในฐานะ “ด่านสุดท้าย” ซึ่งสำคัญกับหลายๆ ชีวิต แต่กลับถูกเมินเฉยจากรัฐ

และความจริงข้อนั้น มันทำให้น้ำหนักศพที่เขาต้องแบกในแต่ละวันเหมือนหนักหนาขึ้นทุกทีๆ

ก่อนที่บทความนี้จะถูกเขียนขึ้นจริงๆ เราวางโครงร่างไว้คร่าวๆ ว่าจะบอกเล่าเรื่องราวชีวิต 1 วันของสัปเหร่อในช่วงที่ผู้ตายจากโรคระบาดพุ่งสูงขึ้นอยู่ทุกวัน แต่เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับลุงต๋อยจริงๆ ผ่านทางโทรศัพท์ในช่วงเย็นวันหนึ่ง เราจึงตระหนักได้ว่า นี่คือชีวิตที่ไม่สามารถเล่าให้เป็นเหมือนไดอารี่หนึ่งหน้าของชีวิตหนึ่งวันได้ง่ายๆ เลย

เพราะเมื่อชีวิตต้องแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน ตารางชีวิตจึงมีความไม่แน่นอนตามไปด้วย

และนี่คือชีวิตในหนึ่งวัน ของสัปเหร่อหนึ่งคน ที่เขาพอจะเล่าได้

“เริ่มวัน เริ่มต่อสู้”

ลุงต๋อยจะต้องตื่นขึ้นมาเวลาประมาณตีสี่หรือตีห้าในทุกๆ วันเพื่อมาเก็บกระดูกให้ญาติผู้เสียชีวิตมารับไปในตอนเช้า จนมาถึงวันนี้ เส้นทางการเป็นสัปเหร่อของเขาดำเนินมาได้เกือบ 30 ปีแล้ว ณ ที่วัดสุทธาวาส (ใหม่ตาสุต) ลุงต๋อยแทบไม่เคยจากที่นี่ไปไหน นับแต่วันที่เขาเริ่มฝากชีวิตในวัดของชุมชนแห่งนี้ในฐานะเณร พระ จนลาสิกขามาเป็นสัปเหร่อประจำจนถึงทุกวันนี้

วันที่ลุงต๋อยได้เริ่มเผาศพคนธรรมดาครั้งแรก เกิดขึ้นในตอนที่เขายังสวม “จีวรพระ”

ส่วนวันที่ลุงต๋อยได้เริ่มเผาศพติดโควิด เกิดขึ้นครั้งแรกในตอนที่เขาสวม “เสื้อกันฝน” ในฐานะสัปเหร่อ

และในตอนนั้น ลุงแทบไม่มีความรู้หรืออุปกรณ์เตรียมพร้อมกับเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นใดๆ เขามีเพียงแต่ใจสงสารแก่คนที่มาอ้อนวอนขอ หลังจากต้องโดนหลายวัดก่อนหน้านี้ปฏิเสธที่จะเผาร่างไร้วิญญาณของญาติมิตรตน

ถ้าลุงต๋อยไมได้มาออกสื่อจนคนรับรู้ปัญหาอย่างในปัจจุบัน เขาอาจได้ต่อสู้กับศึกน่าผวานี้ต่อไป โดยที่ตัวเองยังสวมแค่เสื้อกันฝัน กับถุงมือ และแว่นตาพลาสติกแบบที่หาได้ตามมีตามเกิด

ความช่วยเหลือทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากมือของคนธรรมดาๆ ที่เต็มใจยื่นเข้ามา ส่วนมือของภาครัฐนั้นแทบไม่เคยเข้ามาเฉียดกราย แม้รัฐคือส่วนสำคัญในการต้องรับผิดชอบกับวิกฤติครั้งนี้

วิกฤตินี้…บีบคั้นให้ชีวิตปกติสุขของชายวัยใกล้เกษียณคนหนึ่ง กลายเป็นชีวิตที่ไม่มีแม้แต่เวลากินข้าวให้ครบมื้อ ลุงต๋อยมักเริ่มต้นยามเช้าด้วยกาแฟเย็นเพียงหนึ่งถุง ส่วนมื้อต่อๆ มาจะโดนภาระหน้าที่เลื่อนมันออกไปบ่อยๆ ข้าวเช้าได้กินบ่าย ข้าวบ่ายได้กินค่ำ หรือบางวันก็ได้กินเพียงมื้อเดียวในช่วงใกล้หมดวัน

เมื่อเสร็จสิ้นหน้าที่เก็บเถ้ากระดูกใส่ผ้าขาวให้ญาติที่อาจมารับหรือไม่มารับเลย ลุงต๋อยก็จะเริ่มเตรียมศาลา พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ถูพื้น เตรียมดอกไม้จันทน์ เหมือนว่านี่เป็นหนึ่งในงานศพธรรมดาๆ งานหนึ่ง แต่ช่วงเวลาธรรมดาๆ นั้นจะหมดไปทันทีที่เท้าของเขาต้องก้าวออกจากศาลา เพื่อวิ่งออกไปเตือนเพื่อนบ้านละแวกวัดว่า จะมีรถขนศพโควิดเข้ามา

ถนนที่ปูทางมายังวัดราษฎร์แห่งนี้เป็นเพียงถนนสายเล็กๆ ซึ่งสองข้างทางขนาบไปด้วยบ้านเรือนผู้คนที่มากไปด้วยคนชราซึ่งอ่อนไหวกับเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย ลุงต๋อยจึงเป็นห่วงและคอยเตือนอยู่ตลอด แต่เพื่อนบ้านเหล่านั้นก็ไม่เคยมีคำตำหนิ กลับกันคือมีแต่คำห่วงใยให้เขาได้ยิน

เมื่อรถของโรงพยาบาลขับเข้ามาในอาณาเขตวัดตามเวลาที่นัดแนะไว้ หน้าที่ใหม่ของลุงต๋อยจึงได้เริ่มต้นขึ้น

“กลางวัน อย่างกังวล”

หน้าที่ของลุงต๋อยเมื่อรถพยาบาลมาเยือน คือ ต้องอุ้มศพจากรถไปยังเตาเผา ศพซึ่งถูกบรรจุในหีบห่อหนาสามชั้นจะไม่มีโอกาสได้พบหน้าญาติเป็นครั้งสุดท้าย คนสุดท้ายที่เห็นพวกเขาก่อนประตูเตาเผาจะเลื่อนปิดลง คือลุงต๋อยผู้เป็นคนกดสวิตช์

เมื่อเราถามว่า ลุงต๋อยป้องกันตัวจากเชื้อโรคต่างๆ อย่างไร เขาก็ได้แต่ตอบเล่าด้วยน้ำเสียงไม่แน่ใจ เพราะตัวเขาเองก็รู้ดีว่าตนเองจบเพียงแค่ ป.4 ไม่ได้มีความรู้ หรือเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีพอที่จะขวนขวายหาทางออกที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขามีสิ่งนามธรรมติดตัวที่ชื่อว่า “ใจสู้”

หน้าที่สัปเหร่อยุคโควิดนั้นมีน้ำหนักที่ต้องแบกรับในทุกวัน และไม่ได้มีแค่น้ำหนักของศพ แต่ยังมีน้ำหนักของความกังวลที่เกิดจากการที่รัฐไม่ได้เข้ามาช่วยดูแลหรือจัดการ

กังวลหนึ่ง คือ การขาดแคลนความรู้เรื่องการดูแลตัวเอง ซึ่งต้องรับหน้าที่ดูแลศพทุกวันๆ

กังวลสอง คือ เตาเผาที่เผาจนกำลังจะพัง เพราะภาวะขาดแคลนวัดเผาศพติดเชื้อโควิด

สองปัญหาแรก จะไม่กลายเป็นปัญหาหนัก ถ้ารัฐบาลสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีตั้งแต่ต้น

เกือบทุกวัดราษฎร์และวัดหลวงในกรุงเทพฯ มีเมรุ แต่ไม่ใช่ทุกเมรุที่จะยอมเปิดรับศพติดเชื้อโควิด ยิ่งวัดใดเสียสละ วัดนั้นยิ่งต้องรับภาระหนัก เหมือนเช่นวัดสุทธาวาศที่ยังคิดเงินค่าเผาเป็นเงินบริจาคตามศรัทธาเหมือนอย่างอดีต ทำให้วัดนี้กลายเป็นแหล่งที่พึ่งของคนทุกชนชั้น โดยเฉพาะคนยากคนจน

แม้การเผาศพแต่ละศพจะมีต้นทุนไม่น้อย แต่ลุงต๋อยก็ไม่อยากให้วัดแสวงหากำไรในความเป็นความตายมนุษย์ อีกทั้งเขายังเชื่อว่า ไม่ว่าวัดไหนๆ คงไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง หากขาดเงินทะนุบำรุงจากคนในชุมชน ดังนั้น เมื่อถึงคราวที่ชาวบ้านมีปัญหา วัดจึงสมควรอยู่เคียงข้างพวกเขา

กังวลสาม มาจากครอบครัวของลุงต๋อย เขาไม่ได้เจอครอบครัวเลยตั้งแต่ต้องรับหน้าที่นี้ เสียงของครอบครัวที่ลุงได้ยิน คือเสียงที่มาจากสายโทรศัพท์ และมักเป็นสารแสดงความห่วงใย ให้ดูแลตัวเองบ้าง หรือบางทีก็บอกให้ลุงหนีกลับถิ่นฐานไปเลย

แต่ลุงต๋อยบอกกับเราว่า “ยามมีสุข ลุงอยู่กับพวกเขา ยามเขาลำบาก ลุงจะทิ้งไปได้ยังไง”

เขาบอกลูกบุญธรรมว่าถ้าเกิดเขาตายก็ต้องตาย แต่เขาทิ้งหน้าที่ไม่ได้ จึงขอให้ทำใจ สิ่งเดียวที่อาจปลอบใจครอบครัวเขาได้ คือคำมั่นว่าอย่างน้อยเขาก็พยายามป้องกันตัวเองถึงที่สุด

แต่การพยายามป้องกันตัวของลุงต๋อย เป็นเพียงแค่ความพยายามแก้จากปลายเหตุเท่านั้น ส่วนการป้องกันจากปลายเหตุจาก “วัคซีน” นั้น ในวันที่ลุงต๋อยคุยกับเรา (20 ก.ค.) เขาบอกว่าตนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ส่วนทางโรงพยาบาลใกล้วัดก็ช่วยเหลือลุงลงทะเบียนเต็มที่ แม้สุดท้ายต้องมาเจอคำว่า “เลื่อนฉีด” จากผู้จัดสรรวัคซีนก็ตาม

“เย็นย่ำ ณ ด่านสุดท้าย”

เย็นวันที่ลุงต๋อยคุยกับเรา คือวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม และเป็นวันที่เขาเพิ่งได้เผาศพที่ 59 ไป

ในประโยคสนทนาที่คุยกัน ลุงต๋อยเปรียบว่าหน้าที่ของตนเป็นเหมือน “ด่านสุดท้าย” ที่ต้องพร้อมรับทุกความล้มเหลวของการจัดการในด่านหน้า แต่เขานึกน้อยใจที่ด่านสุดท้ายนี้ กลับถูกลืมและมองข้ามไป แม้หน้าที่ “สัปเหร่อ” จะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตทุกคน ที่ต้องแบกรับคนตายทุกประเภทอย่างไม่มีเงื่อนไขก็ตาม

“ไม่มีใครเห็นคุณค่าของเราเลยเหรอ เราก็คนนะ เราก็มีชีวิตจิตใจนะ”

ในวันนั้น หลังจากคุยกับเราไปสามสิบกว่านาที ลุงต๋อยต้องขอตัววางสายเราไปก่อน เพราะเขาต้องรีบรับอีกสายสำคัญจากโรงพยาบาล ที่คงโทรมาแจ้งให้ทราบว่าพรุ่งนี้จะเป็นอีกวันที่ลุงต๋อยต้องแบกรับน้ำหนักศพเข้าเตาเผา ซึ่งตอนนี้ แม้แต่พระในวัดก็ยังต้องเข้ามาช่วยแบก เพราะร่างกายที่เริ่มชราภาพของวัยใกล้หกสิบของแกไม่สามารถรับไหวทั้งหมด

ลุงต๋อยบอกกับเราอีกด้วยว่า ที่ผ่านมา เขาไม่เคยกลัวการเผาศพเลย แต่ตอนนี้เขาสงสัยแล้วว่า ตนเองจะเอาชีวิตรอดกับหน้าที่นี้ไปได้ไหม?

ชีวิตของลุงต๋อย จึงเป็นเหมือนอีกด้านของหลายร้อยพันเรื่องราวที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคโควิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกำลัง “ล้มเหลว” อย่างไร

คืนนี้ จึงอาจเป็นอีกคืนที่ลุงต๋อยต้องเข้านอนโดยที่ใจยังคิดคำนึง ว่าหน้าที่ของเขาส่งเสียงดังพอหรือยัง ที่จะทำให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาและทำงานหนักขึ้น เพื่อเร่งให้วิกฤตินี้จบลงให้เร็วที่สุด

เพราะทุกการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคโควิด ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลขสถิติ แต่คือ “ใครคนหนึ่ง” ที่มีครอบครัว มีภาระ และอาจมีห่วงที่ไม่อาจสานต่อได้ เพราะตัวเองต้องมาสิ้นใจจากโรคระบาด ซึ่งสามารถป้องกันได้และบรรเทาได้…ด้วยวัคซีนคุณภาพและการบริหารจัดการที่ดี