เอมมี่-นัทธมน ทายาทรุ่น 2 เดอะเวโรน่าที่กลับมาทำที่บ้านด้วยการปรับไม่ใช่เปลี่ยน

5 Min
1678 Views
17 May 2022

หลายครั้งคุณอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำไว้และอยากที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แต่หลายครั้งการ ‘เปลี่ยน’ อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะธุรกิจอาจต้องการแค่ ‘ปรับ’

วันนี้จะชวนมาพูดคุยกับเอมมี่-นัทธมน นักการตลาดสาวและทายาทรุ่น 2 ของอาณาจักรเดอะเวโรน่าแอททับลาน บูทีคโฮเทลสไตล์อิตาลีที่ปราจีนบุรี ซึ่งเธอมีมุมมองและวิธีคิดในการกลับมา ทำที่บ้าน ได้น่าสนใจมากๆ และวันนี้เพจทำที่บ้านจะมาสรุปให้ฟังครับ

1. ปรับ Mindset ตัวเองก่อน
ถ้าธุรกิจของที่บ้านเราเป็นสินค้าอะไรสักอย่าง การเปลี่ยนดีไซน์ หรือ การเปลี่ยน Packaging ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ยากนัก แต่ธุรกิจของเอมมี่คือ โรงแรม ซึ่งไม่สามารถทำแบบนั้นได้

ดังนั้นสิ่งเริ่มต้นคือไม่ใช่การบอกว่าเราไม่ชอบอะไร และจะเปลี่ยนทุกอย่างเสียหมด แต่ต้องเป็นการปรับที่ Mindset ของตัวเอง กลับไปทำความเข้าใจกับที่มาที่ไป วิธีคิด และจุดเริ่มต้นทุกอย่าง เพราะเธอเชื่อว่าหากสิ่งนี้ที่เรามองมันไม่สวยงาม มันไม่ดีจริงๆ มันไม่มีทางตกทอดมาถึงเราได้หรอก หรือไม่อย่างนั้นก็คงเจ๊งไปนานแล้ว

เอมมี่กลับมาโดยเริ่มจากการเข้าไปพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของธุรกิจ เพราะเชื่อว่าก่อนที่เธอจะปรับธุรกิจนี้เธอต้องเข้าใจทุกอย่างให้ดีก่อน ซึ่งเธอกลับไปถามพ่อแม่ว่าตอนนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ? ทำไมถึงได้ตัดสินใจทำแบบนี้ ? เทรนด์ธุรกิจตอนนั้นเป็นอย่างไร ? พฤติกรรมผู้บริโภคตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ?

2. ปรับ ไม่ต้อง เปลี่ยน
หลังจากปรับ Mindset ของตัวเองลงนั้น เธอก็ได้เข้าใจที่มาที่ไปว่า ที่โรงแรมของเธอมีดีไซน์เป็นแนวอิตาลีเนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าในช่วงนั้นชอบแบบนี้ แต่พอเวลาเปลี่ยนไปพฤติกรรมลูกค้าก็เปลี่ยนไปด้วย ลูกค้าสมัยนั้นอาจจะชอบสถานที่ที่โอ่อ่า อลังการ สถาปัตยกรรมแบบโรมัน แต่สมัยนี้สิ่งที่ลูกค้าชอบคืออะไรก็ได้ที่ “ถ่ายรูปสวย”

ดังนั้น สิ่งที่เธอต้องทำคือตามหา Magnet ใหม่
ที่จะดึงลูกค้าเข้ามาที่โรงแรมของเธอให้มากขึ้น
สิ่งที่โรงแรมของเธอต้องการมีเพียงการ ปรับ ไม่ใช่ เปลี่ยน

3. สร้าง Magnet ใหม่
เมื่อมีเป้าหมายแล้วสิ่งที่เธอทำคือการกลับมามองหาว่า Resource ของเธอที่มีคืออะไรกันแน่ เพื่อมาจับกับเทรนด์ลูกค้าในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่โรงแรมของเธอมีอยู่แล้ว คือ 1. พื้นที่ว่าง 2. คนดูแลสวนมีอาชีพที่ทำงานกับเธออยู่แล้ว และเทรนด์ลูกค้าตอนนั้นคืออะไร ?

เอมมี่มองเห็นว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ในต่างประเทศชอบถ่ายรูปกับทุ่งดอกไม้สวยๆ จากการที่เธอมีโอกาสไปเที่ยวทุ่งลาเวนเดอร์ที่ต่างประเทศและพบว่าคนจำนวนมากนิยมและชอบมากๆ และเห็นว่าในประเทศไทยยังไม่มีทุ่งดอกไม้สีม่วงสวยๆ แบบนี้

เมื่อรู้แล้วว่า สิ่งที่เรามีคืออะไร ? สิ่งที่ลูกค้าชอบคืออะไร ?
ใช่ครับ เธอจะสร้างทุ่งดอกไม้แสนสวยขนาดใหญ่ในโรงแรมของเธอ

4. ทดสอบไอเดียก่อนเสมอ
สิ่งที่เอมมี่ทำไม่ใช่การนำโปรเจ็คนี้ไปและเดินไปขอเงินพ่อกับแม่มาลงทุนสร้างทุ่งลาเวนเดอร์ขนาดใหญ่ (ซึ่งต้องลงทุนหลายแสน) ที่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ? แต่สิ่งที่เอมมี่ทำคือเริ่มจากการรีเสิร์ชและทดสอบไอเดียก่อน

เอมมี่เริ่มต้นจากการมองหาดอกไม้ในประเทศไทยที่สวยๆ และมีพฤติกรรมคล้ายลาเวนเดอร์ ซึ่งดอกที่เธอพบคือ ดอกคอสมอส ซึ่งใช้งบประมาณไม่เยอะในการปลูกและดูแลรักษา เธอเริ่มต้นทดสอบไอเดียโดยการสร้างทุ่งดอกคอสมอสขึ้นมาก่อนเพราะหากมีการผิดพลาด ก็จะไม่สูญเสียเยอะ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่ดีมากๆ

นอกจากการทดสอบไอเดียผ่านการสร้างทุ่งดอกคอสมอสก่อนแทนที่จะลงทุนเป็นทุ่งลาเวนเดอร์เลยทีเดียว จะทำให้เธอมั่นใจในไอเดียของตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างการยอมรับในตัวเอมมี่ที่มีจากผู้ใหญ่อีกด้วย

หลังจากนั้น เธอก็ได้ทำการรีเสิร์ชข้อมูลและพบว่าดอกลาเวนเดอร์ไม่เหมาะกับการปลูกในสภาพอากาศของประเทศไทย เพราะจะได้ผลลัพธ์ออกมาไม่สวยแบบที่ในต่างประเทศ เธอและทีมงานจึงพยายามเสาะหาพันธุ์ดอกไม้ที่ใช่ จนมาลงตัวกับ “ดอกเวอร์บีน่า” ซึ่งมีสีม่วงที่สดใสสวยงามกว่าลาเวนเดอร์ อีกทั้งยังพ้องไปกับชื่อรีสอร์ต “เวโรน่า” อีกด้วย

และหลังจากนั้นเราก็ได้เห็น #ทุ่งเวอร์บีน่าที่เวโรน่า ทุ่งดอกไม้ขนาดใหญ่อลังการกว่า 30 ไร่ ที่โรงแรมเดอะเวโรน่าแอททับลาน พร้อมกับคาเฟ่ Bliss and Bloom ที่คนต่างเข้าไปเช็คอินและถ่ายรูปกันอย่างไม่ขาดสายเลยทีเดียว

5. การทำงานที่บ้านต้องเป็นมืออาชีพ
หัวใจสำคัญของเอมมี่ในครั้งนี้เธอเปิดเผยว่าที่เธอสามารถทำโปรเจ็คนี้สำเร็จได้ ไม่ได้มาจากเพราะการที่เธอเป็นลูก ถึงได้รับการยอมรับ แต่คือการทำงานแบบมืออาชีพ

การกลับมา ทำที่บ้าน ไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นลูก พ่อแม่จึงต้องฟัง แต่สิ่งที่เราทำคือต้องทำให้เค้าสนใจและอยากฟังเรามากกว่า

เราต้องเข้าใจว่าการกลับมา ทำที่บ้าน แท้จริงแล้วเราเป็นเพียงพนักงานคนนึงเท่านั้น เพียงแค่พนักงานคนนี้มีสายเลือดเดียวกับเจ้าของเท่านั้นเอง

ดังนั้นพนักงานคนนี้ ก็จำเป็นต้องมีผลงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองเช่นกัน

และการเป็นลูกเป็นข้อได้เปรียบด้วยซ้ำไปเพราะว่ามีโอกาสที่เราจะได้รับการยอมรับมากกว่าการเป็นพนักงานทั่วไปอย่างแน่นอน

สิ่งสำคัญคือต้องค่อยๆ สร้างการยอมรับ
ผ่านการทำ Quick Win และ Small Win ไปเรื่อยๆ
ผ่านการทดลองทำเล็กๆ ก่อน
ผ่านการทำ Prototype เพื่อทดสอบไอเดีย
และค่อยๆ สะสมสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ต่อไป

6. ไม่ใช่แค่กับพ่อแม่ แต่กับพนักงานก็ต้องทำ
นอกจากเรื่องโปรเจ็คนี้สิ่งที่เอมมี่ทำคือการปรับและพัฒนารูปแบบการทำงานของที่โรงแรมใหม่ ซึ่งจากเดิมเป็นการทำงานโดยไม่มีการวัดผล ไม่มีการประเมินที่ชัดเจน ซึ่งทำให้พนักงานขาดเป้าหมายในการทำงาน และหลายครั้งการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกับพนักงานแบบนี้ หากเราทำไม่ดีก็อาจจะมีแรงต่อต้าน หรือสร้างความอึดอัดให้กับเหล่าพนักงานได้

เอมมี่เข้าใจเรื่องนี้ดี ดังนั้นวิธีการเข้าหาเหล่าพนักงานต้องไม่ใช่การเข้าไปสั่งแบบ Boss แต่เป็นการเข้าไปเป็นพวกเขา เข้าไปช่วยให้พวกเขาทำงานกันได้ง่ายขึ้น ไม่ได้มองว่าการที่เราเป็นลูกเจ้าของ เท่ากับ เค้าต้องฟังเราเหมือนที่ฟังพ่อแม่

เช่น ทุกครั้งที่มีการเสนอไอเดียใหม่ๆ ก็จะออกตัวก่อนเลยว่า เรามาเสนอให้ทุกคนฟังและทำงานร่วมกัน และคิดถึงพนักงานเสมอว่าการหากเราทำแบบนี้ส่งผลอะไรกับหน้างานของทุกคนไหม และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้โยน ได้เสนอไอเดีย หรือ Concern กันอย่างเต็มที่เสมอ

วิธีการเช่นนี้นอกจากการจะได้รับการยอมรับจากพนักงานแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับพนักงานอีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับพวกเขาด้วยเพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมเสนอไอเดียด้วยกันเสมอ

7. สร้างคนมาทำแทนถอยมาดูภาพใหญ่
สองปีแรกในการทำงาน สิ่งที่เอมมี่ตั้งใจทำมากๆ คือ การสร้างคน ยิ่งพนักงานเก่งๆ มีมาก ก็ยิ่งทำให้องค์กรเก่งมากขึ้นด้วย และการที่พนักงานเก่ง พนักงานจะสามารถทำงานแทนเราได้

ซึ่งการทำแบบนี้จะสามารถทำให้เราสามารถถอยมาดูงานในภาพใหญ่ หาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้ ซึ่งหลายครั้งเจ้าของธุรกิจไม่ได้สร้างคนขึ้นมาทำงานแทน และตัวเองลงไปทำเองทั้งหมด ทำให้ไม่มีเวลาไปทำงานที่สำคัญที่สุดเหล่านี้

8. กำหนดบทบาทของคนในครอบครัวให้ชัด
สมาชิกในครอบครัวของเอมมี่ที่กลับมาสานต่อธุรกิจของที่บ้านไม่ได้มีแค่เอมมี่เท่านั้น แต่ยังมีพี่สาวของเธอด้วย แต่เธอเล่าให้ฟังว่า เธอไม่เคยมีปัญหาเรื่องงานกับพี่สาวเลย !

หลายครอบครัวนอกจากมีปัญหาในการทำงานระหว่างเรากับผู้ใหญ่แล้ว กับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวก็ไม่ต่างอะไรกัน ดังนั้นผมจึงแปลกใจและอยากรู้มากกว่า เอมมี่ ทำได้อย่างไร ?

สิ่งที่ทำให้เธอและพี่สาวทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี คือ การกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ว่าใครมีหน้าที่อะไร ใครรับผิดชอบส่วนไหน ใครมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องใด

และที่สำคัญคือ ความเชื่อใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เมื่อไรก็ตามที่เธอมีไอเดียหรือพบปัญหาที่อยู่ใน Role ของพี่ เธอก็จะแค่เสนอไปหรือแจ้งให้ทราบ และปล่อยให้พี่สาวเป็นคนตัดสินใจ เพราะเอมมี่เชื่อว่า

สำหรับเรา คนๆ นี้คือคนที่เก่งที่สุดในเรื่องนี้แล้วในโลกของเธอ เราจึงไว้ใจให้เค้ารับผิดชอบในส่วนนั้น หากเราสามารถมองในมุมนี้ได้ เราจะไม่มีข้อกังขาในการทำงานระหว่างกันเลย – เอมมี่กล่าวทิ้งท้าย

9. ออกไปคุยกับลูกค้าถ้าคิดอะไรไม่ออก
เราอาจจะสงสัยว่าเป็นเพราะเอมมี่เรียนจบการตลาดมาหรือเปล่า ที่ทำให้เธอสามารถมีไอเดียใหม่ๆ หรือสามารถคิดอะไรสร้างสรรค์ให้กับธุรกิจออกมาได้ใหม่เสมอ

แต่หัวใจสำคัญไม่ใช่เพราะเรื่องนี้ แต่เป็นเพราะการออกไปคุยกับลูกค้า
When you are lost , Go to empathize with your customers.

หลายครั้งที่เราคิดอะไรไม่ออก มันเกิดจากเราคิดจากมุมมองของเรา ซึ่งมันก็ตันและบางครั้งต่อให้คิดได้ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการก็เป็นได้ เราต้องอย่าลืมว่าลูกค้ามีปัญหาใหม่ มาให้เราแก้เสมอ

ลองออกไปพูดคุย สังเกตและฟังเค้าดูนะครับว่าเค้าอยากได้อะไร