เตรียมปล่อย “นอแรดปลอม” ปั่นตลาดจนล่าไม่คุ้ม นักวิทย์ฯ ยันเหมือนจนแยกไม่ออก

2 Min
1119 Views
12 Oct 2020

“หากต้องจ่ายหลายพันเหรียญฯ เพื่อซื้อนอแรด คุณจะมั่นใจได้ยังไงว่าจะไม่ได้นอแรดปลอมกลับบ้าน” แนวคิดง่าย ๆ จากนักวิทยาศาสตร์ที่บุกเบิกโครงการ

‘ฟริทซ์ โวลแรท’ หนึ่งในนักวิจัยจากคณะสัตววิทยา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผยว่าทีมวิจัยในโครงการได้ค้นพบวัสดุหาง่ายราคาถูกที่สามารถนำมาผลิตนอแรดปลอม เราต่อสู้กับขบวนการล่าแรดเพื่อเอานอมาอย่างยาวนาน นี่คือวิธีลดการล่าลงโดยไม่ต้องนองเลือด คือต้องทำลายราคาในตลาดนอแรด จนไม่คุ้มที่จะล่ามันอีกต่อไป

ตลอดมาจำนวนการล่าแรดเพื่อเอานอไม่เคยลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนแรดที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ ด้วยนอแรดในตลาดซื้อขายอวัยวะสัตว์ป่านั้นมีราคาสูงมาก สูงจนกลุ่มผู้ล่ายอมเสี่ยงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้นอแรดมา

นอแรดจากการล่าส่วนใหญ่จะถูกนำมาทำเป็นยาโด๊ปและมีความต้องการสูงสุดที่ประเทศจีน “นอแรด” ไม่ใช่กระดูก โครงสร้างของนอแรดเกิดจากเส้นใยเคราตินจำนวนมากที่อัดตัวกันจนแน่นและแข็งเหมือนกระดูก ซึ่งเป็นเคราตินชนิดเดียวกันกับที่พบได้ในเส้นขนหรือเล็บของสิ่งมีชีวิตทั่วไป

หนึ่งในนั้นคือ “ขนจากหางม้า” จากการค้นหาสิ่งที่ทำมาจากเส้นในเคราตินหลากหลายชนิด นักวิทยาศาสตร์พบว่าขนจากหางม้านี่แหละ ที่มีโครงสร้างประกอบด้วยเส้นใยเคราตินที่เหมือนกับนอแรดจนยากที่จะแยกกันออก และยังมีองค์ประกอบทางเคมีที่คล้ายกันมาก

โครงการนี้เป็นการวิจัยร่วมกันระหว่างทีมจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยฟูตัน ในเซี่ยงไฮ้ จุดมุ่งหมายเพื่อป่วนราคานอแรดในตลาด เมื่อนอแรดปลอมราคาถูกจำนวนมากถูกปล่อยสู่ตลาด ราคาของนอแรดในตลาดจะค่อย ๆ พังไปเอง อันที่จริงแนวคิดการสร้างนอแรดปลอมนั่นเริ่มมีมาตั้งแต่ ปี 2558 โดยมีนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มที่ให้ความสนใจ แต่การค้นพบวัสดุทดแทนด้วยขนจากหางม้า พัฒนาและวิจัยโดยทีมจากทั้งสองมหาวิทยาลัยดังกล่าว และกำลังดำเนินโครงการและพัฒนาความเป็นไปได้ที่จะปล่อยนอแรดปลอมออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้นี้

แต่ใช่ว่าจะไม่มีเสียงคัดค้าน เพราะโครงการนี้ยังคงถูกตั้งคำถามว่าถ้าหากผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นตามที่หวัง “จอห์น เทเลอร์”ผู้อำนวยการโครงการ “Save the Rhino International”มีความกังวลว่าหากนอแรดปลอมที่ปล่อยออกไป กลับทำให้ราคาของนอแรดจริงพุ่งสูงขึ้นจะทำอย่างไร? หากเป็นเช่นนั้นแรดจะถูกล่าหนักกว่าเดิมแน่ ๆ

ซึ่งในส่วนของทีมนักวิจัยนั้นค่อนข้างเชื่อมั่นว่า “นอแรดปลอม” กับ “นอแรดจริง” จะแยกกันแทบไม่ออก เพราะนอกจากลักษณะภายนอกที่จะเหมือนนอแรดถูกตัดแล้ว ยังมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกันมาก แม้จะซูมลึกถึงโครงสร้างเส้นใยและนำภาพมาเทียบกัน ก็จะพบว่าทั้ง 2 ภาพระหว่างนอแรดปลอม และ นอแรดจริง นั้นเหมือนกันมาก (สามารถดูภาพเพิ่มเติมได้ในลิงก์แหล่งอ้างอิงข้อมูล)

สายพันธุ์ และ จำนวนประชากรแรดทั่วโลก
แรดสุมาตรา (Sumatran Rhino) 80 ตัว
แรดชวา (Javan Rhino) 65-68 ตัว
แรดดำ (Black Rhino) 5,366-5,627 ตัว
แรดนอเดียว (Greater One-Horned Rhino) 3,588 ตัว
แรดขาว (White Rhino) 17,212-18,915 ตัว
* แรดขาวเหนือ ตัวสุดท้ายของโลกตายไป เมื่อปี 2561

อ้างอิง: