2 Min

“เงินฝืด” คืออะไร? ส่งผลอะไรกับชีวิตเรา

2 Min
2001 Views
30 Jul 2020

ท่ามกลาง “ความปกติ” หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น หลายคนพูดถึง “ภัยเงียบ” ที่สืบเนื่องจากการ “ล็อกดาวน์” ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

หนึ่งในนั้นคือภาวะ “เงินฝืด”

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศว่า “เงินไม่ฝืด” แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ถกเถียงว่า “เงินฝืดแล้ว”

สรุปว่าตอนนี้เงินฝืดหรือไม่?

การจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องกลับไปที่นิยาม เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ถ้าใช้บางนิยามของเงินฝืด ถือว่าฝืดแล้ว แต่ถ้าใช้อีกนิยาม ก็ยังไม่ฝืด

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่า “เงินฝืด” คืออะไร?

เงินฝืด ถ้าจะอธิบายระดับปรากฏการณ์แบบที่มองเห็นได้ ก็คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในท้องตลาดลดลงทั้งแผงแบบพร้อมเพรียงกัน

ใครไปเดินห้างเดินตลาดก็คงจะพอเห็นว่าราคาสินค้าต่างๆ ช่วงนี้ลดลงพอควร เพราะมีโปรโมชั่นลดราคากันกระหน่ำ นอกจากนี้ราคาสินค้าเกษตรต่างๆ ก็ลดลงอย่างชัดเจน

พูดในอีกมุมคือ เรามีเงินในกระเป๋าเท่าเดิม แต่เราซื้อสินค้าได้มากขึ้น

นี่คือ “ภาวะเงินฝืด” ในมุมของผู้บริโภค

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะงงว่า แล้วเราจะกลัวภาวะเงินฝืดไปทำไม?

“หนี้” คือคำตอบที่น่าจะตรงประเด็นที่สุด

ภาคธุรกิจวันนี้ทั้งหมดถูกผลักดันด้วย “หนี้” ฉะนั้นการเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเมืองไทยที่หนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูด จนเรียกได้ว่า มองไปทางไหนก็มีแต่หนี้

แล้ว “หนี้” เกี่ยวอะไรกับ “เงินฝืด”?

คำตอบคือเงินฝืดเพิ่มหนี้ให้มีมูลค่ามากขึ้น เรียกว่าเจ้าหนี้สบาย แต่ลูกหนี้ซวย

เพราะเงินฝืดทำให้คนในภาพรวมมี “รายได้” ลดลง เนื่องจากราคาสินค้าทุกอย่างลดลง แต่ “หนี้” ที่มียังก้อนเท่าเดิม เพราะหนี้ไม่ได้ปรับลดตามเงินเฟ้อหรือเงินฝืด

ยกตัวอย่างให้ชัดกว่านี้ เช่น ถ้าคุณไปกู้เงินซื้อบ้านหรือซื้อรถก่อนโควิด-19 คุณก็ยังเป็นหนี้ก้อนเท่าเดิม (พักชำระหนี้หรือไม่ ไม่มีผล) แต่ถ้าบริษัทคุณได้รับผลกระทบ คุณโดนลดเงินเดือน 30% แต่หนี้ที่คุณต้องชำระหนี้เท่าเดิม

ถ้ารายได้คุณสูงพอ คุณก็อาจยังจ่ายไหว แต่ถ้าคุณดันกู้แบบเต็มแม็กซ์ โดนลดเงินเดือนแบบนี้ คุณก็อาจจะจ่ายไม่ไหว ในที่สุดหนี้ที่คุณก่อก็จะกลายเป็น “หนี้เน่า” สุดท้าย ธนาคารก็จะต้องยึดบ้านยึดรถคุณ

นี่คือ “ภัยของเงินฝืด” จากมุมคนทั่วไป

ทีนี้ลองมองภาพใหญ่ขึ้น บริษัทต่างๆ ในท้องตลาดที่ไปกู้เงินธนาคารมาก่อนหน้านี้ ถ้าเจอเงินฝืดเข้าไป รายได้ลดลงกันถ้วนหน้า แต่หนี้เท่าเดิม

ผลก็คือ ถ้าบริษัทจ่ายหนี้ธนาคารไม่ไหว “หนี้เน่า” ก็จะเกิดขึ้นมหาศาล

และถ้า “หนี้เน่า” เยอะ วิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มจากภาคการเงินก็จะเกิดขึ้นตามมา

นี่แหละ คนถึงกลัว “เงินฝืด” กัน

สรุปแล้วในไทยตอนนี้ เงินฝืดหรือไม่ฝืด?

ถ้าพูดตามตรงต้องบอกว่า “เงินเริ่มฝืดอ่อนๆ ” คือไม่ว่าจะใช้นิยามไหน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ อัตราเงินเฟ้อ “ติดลบ” (ภาษาชาวบ้านคือ ราคาสินค้าและบริการทั้งหมดลดลง)

สิ่งที่ต้องลุ้นกันคือ เมื่อคลายล็อกดาวน์แล้ว ทุกอย่างจะกลับมาสู่ภาวะปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าและบริการกลับมาเหมือนเดิม ถ้าเป็นแบบนั้น อัตราเงินเฟ้อก็จะไม่ติดลบอีกต่อไป

แต่ “ความปกติ” ของไทย ต้องเรียกว่า “ยังอีกไกล” เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก และสองอย่างนี้น่าจะเรียกได้ว่า “หยุดชะงัก” และยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน

ซึ่งต้องเน้นว่า นี่คือ “ปัญหาที่แก้ไม่ได้” เพราะเกิดจากปัจจัยภายนอกล้วนๆ ต่อให้เรา “ปลดล็อกดาวน์” แบบเต็มที่ จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่เหมือนเดิม เพราะชาวต่างชาติยังกลัวโควิด-19

ขณะที่การส่งออกน่าจะกลับมาไดัยากในเร็ววัน เพราะคนยังคง “รัดเข็มขัด” ทางการเงินกันทั่วโลก เห็นได้จากการบริโภคในภาพใหญ่ที่ลดลงมหาศาล

ดังนั้น เราก็คงจะได้แต่ลุ้นว่า “Old Normal” จะกลับมาเมื่อไร เพราะถ้า “New Normal” ไปนานๆ หายนะก็ (อาจ) จะเกิดขึ้นอย่างที่เล่ามาทั้งหมด