ประเทศที่มีคะแนนความสุขมากที่สุดในโลก จัดอันดับโดย World Happiness Report ประจำปี 2021 (อ้างอิงจากรายงานของเว็ปไซต์ Statista) ได้แก่
1. ฟินแลนด์
2 เดนมาร์ก
3. ไอซ์แลนด์
4. สวิตเซอร์แลนด์
5. เนเธอร์แลนด์
6. สวีเดน
(จริง ๆ แล้วมีประเทศลักเซมเบิร์กที่ได้คะแนนมากกว่าสวีเดนด้วยนะ เพียงแต่ว่าหากเทียบกับจำนานประชากรที่มีจำนวน 632,000 คน ก็อาจจะเทียบกับประชากรสวีเดนที่มากกว่า 10.3 ล้านคน ค่อนข้างยาก)
———————————-
เรื่องของเรื่องก็คือ พวกเราได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ หลักแนวคิดของชาวสแกนดิเนเวีย
อย่าง A Little book of Hygge (ฮุกกะ) กับ Lykke (ลุกกะ) ที่เขียนโดย คุณ Meik Wiking
จากหนังสือทั้ง 2 เล่ม พวกเราก็ได้ไปค้นหา แนวคิดอื่น ๆ ของชาวสแกนดิเนเวียมาเพิ่มเติม
ก็จะพบแนวคิด อย่างเช่น Sisu (ซิสุ) และ Lagom (ลา-กอม)
(แนวคิดซิสุอันนี้ ก็มีหนังสือออกมาแล้วนะ)
พวกเราก็พบว่า หลักแนวคิดแบบนี้ ก็มีความน่าสนใจอยู่เลยละ
ซึ่งส่วนใหญ่ ทั้ง 4 หลักแนวคิด ก็จะมีธีมที่คล้ายคลึงกัน
คือ เน้นไปที่ การหาความสุขจากสิ่งง่าย ๆ การเริ่มมองเห็น ในสิ่งเล็ก ๆ ที่เรามองข้ามไป การหาความสงบจากความเรียบง่าย
ซึ่งบางทีแล้ว เวลาที่เราคิดถึงเรื่องของการพัฒนาตัวเอง
เราก็จะนึกถึงแต่การพัฒนาตัวเอง ที่แบบพัฒนาจริงจัง ๆ เลย
ไม่ว่าจะเป็น พัฒนาความสามารถ พัฒนาด้วยการศึกษา หาความรู้ หรือ อาจจะเป็นการเรียนรู้หลักคิดจากผู้ที่ประสบความสำเร็จคนอื่น ๆ ทั้งปัจจุบัน อย่างเช่น CEO
หรือ จากเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หรือว่าบุคคลในอดีตที่มีผลงานอย่างชัดเจน
จนบางทีแล้ว…
เราเอง ก็อาจลืมและมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย รอบตัวไป
หรือ แม้กระทั่งหลักคิดและมุมมองง่าย ๆ ที่เราสามารถเริ่มปรับใช้ได้ทันที
ซึ่งนี่อาจจะเป็น หนึ่งในปัจจัยของการเริ่มต้นพัฒนาตัวเองแบบยั่งยืน ก็ได้เป็นได้นะ !
เอาละ งั้นพวกเราจะขอหยิบหลักแนวคิดสุดเรียบง่ายของชาวสแกนดิเนเวียน ทั้ง 4 แบบ
มาให้เพื่อน ๆ ดูกันแบบคร่าว ๆ
— — — — — — — — —
1. Hygge [ฮุกกะ]
หลักแนวคิดการพัฒนาตัวเอง และ การหาความสุขในชีวิต
ที่เป็นวิถีชีวิตและวิธีคิดของชาวเดนมาร์ก
ฮุกกะ มีความหมายว่า ความสบาย ความเรียบง่าย
ว่ากันว่า ฮุกกะเนี่ย ดั้งเดิม มาจากภาษานอร์เวย์ แปลว่า การอยู่ดีมีสุข
และต่อมาคอนเซปต์ของหลักแนวคิดนี้ ก็ได้กลายเป็นที่นิยมกับชาวเดนมาร์ก
โดยใจความของเขา จะประมาณว่า
ฮุกกะเนี่ย เปรียบได้กับ วัฒนธรรมอันแสนเรียบง่าย การไฝ่หาความสุขง่ายๆ จาก “สิ่งรอบตัว”
หรือ กรอบความคิด “น้อยแต่มาก” (สิ่งเล็กน้อย ก็สามารถสร้างความสุขให้เราได้มาก)
โดยทุกอย่างของฮุกกะ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
หากเราไม่ยอมเปิดใจเรา ให้รับรู้ความรู้สึกของตัวเอง ในขณะนั้น
ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังมีความสุขอยู่นะ กับการดื่มชากาแฟ
หรือ อ่านหนังสือเล่มโปรดที่อยู่ในมือเรา ในตอนนี้
หรือ ตอนนี้เรากำลังทานอาหารมื้อค่ำอยู่ภายใต้แสงเทียน และถึงแม้ว่า อากาศจะหนาวสักเพียงใด แต่ก็ยังโชคดีที่เรามีเตาผิงไฟเล็ก ๆ อันนี้ ที่คอยสร้างความอบอุ่นให้กับเรา
ทั้งหมดนี้ ฮุกกะหรือความอบอุ่นสบาย ก็จะเกิดขึ้นในหัวใจของเรา
และพอเราสามารถมองเรื่องราวต่าง ๆ ให้มีความสุขได้
มันก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราต่อยอดพัฒนาตัวเองได้อย่งามีประสิทธิภาพ นั่นเอง
— — — — — — — — —
2. Lagom [ลา-กม]
LAGOM หรือ ลา-กอม/ลา-กม เป็นคำในภาษาสวีเดน ที่แปลว่า ไม่มากและไม่น้อยไป
ก็คือ เขาจะเน้นไปที่เรื่องของความพอดี นั่นเอง
โดยความพอดีในแบบของชาวสวีเดนนั้น หรือ ลา-กม เนี่ย
เขาก็จะเปรียบเทียบไปยังเรื่องของ การเลือกซื้อนมของชาวสวีเดน
โดยชาวสวีเดน จะชอบเลือกดื่มนม ที่มีไขมัน 1.5 เปอร์เซ็นต์
เพราะพวกเขามองว่ามีไขมันที่พอดี ไม่มากไม่น้อย เกินไป
หรือว่าจะเป็นในเรื่องของความพอดี ในการเลือกสีและเฟอร์นิเจอร์ในการตกแต่งบ้าน
โดยชาวสวีเดนจะเลือกใช้สีประมาณ 2-3 โทนสี และจะเป็นไปในทางเดียวกัน ทั้งตัวบ้านและเฟอร์นิเจอร์
หลักคิดของ ลา-กอม เนี่ย ก็ยังสามารถนำไปปรับใช้ในเรื่องของความพอดีของการทานอาหาร ได้อีกด้วยนะ
อย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่า เราทานของทอดมากเกินไปแล้วเป็นร้อนใน…
ทำไมเราถึงไม่ทานให้น้อยลงละ ?
หลักแนวคิดความพอดีของ ลา-กอม ก็เลยทำให้เกิดมุมมองในการพัฒนาตัวเองได้
อย่างเช่น การหาช่วงจังหวะที่ดีที่สุดของชีวิตให้เจอ หรือ การพัฒนาตัวเองแบบยั่งยืน โดยเน้นไปที่เป้าหมายระยะไกล หรือ การมองในเรื่องของการแข่งขันเพื่อเอาชนะตัวเอง มากกว่าเพื่อเอาชนะผู้อื่น เป็นต้น
— — — — — — — — —
3. Lykke [ลุกกะ]
Lykke เป็นภาษาเดนมาร์ก ที่แปลว่า ความสุข
ฟังดูแล้ว ก็อาจจะง่ายไปสักหน่อยเนอะ
อันที่จริงแล้ว คอนเซปต์ของ Lykke เนี่ย ก็เป็นหนึ่งในงานเขียน งานวิจัยของ คุณ Meik Wiking
โดยคุณ Meik เขาได้พูดถึงเรื่องราวของการค้นหาความสุข ของชาวเดนมาร์ก
(ซึ่งหนังสืออ่านสนุก เพลินดี มีตัวอย่างงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบที่ค่อนข้างเยอะ ในความรู้สึกของเรา ก็คล้าย ๆ กับหนังสือ “Think Fast and Slow ที่เขียนโดย Daniel Kahneman”)
แต่ว่าเรื่องราวในหนังสือ ก็จะเป็นการสะท้อนวิธีการค้นหาความสุขจากทั่วทุกมุมโลก เสียมากกว่า
โดยเรื่องราวของ ลุกกะ กับ คอนเซปต์ของการหาความสุข ก็จะถูกแบ่งออกเป็น 6 ปัจจัยด้วยกัน
(จะขอเลือกเฉพาะสิ่งที่ผู้เขียนได้ไฮไลท์มาถึงชาวเดนมาร์กละกันนะ)
– ความเป็นหนึ่งเดียวกัน
คือความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างคนในหมู่บ้าน
การมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ปาร์ตี้น้ำชา
– เงิน
อันนี้คงไม่ได้พูดถึงเยอะ
เงินไม่สามารถซื้อความสุขได้โดยตรง แต่เงินสามารถซื้อสิ่งของหรือกิจกรรมที่ทำให้เรามีความสุข
คนเดนมาร์กเองก็เช่นกัน ต้องการเงิน สำหรับการค้นหาความสุข
– สุขภาพ
ชาวเดนมาร์กจะให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพมาก ๆ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
นั่นจึงทำให้พวกเขามีความสุข ในการเดินทางไปเรียนหรือไปทำงาน โดยการปั่นจักรยาน เพื่อสูดรับลมอากาศดี ๆ และยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว
แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว
– เสรีภาพ
เสรีภาพกับความสุขในที่นี้ คือ เสรีภาพทางการทำงาน
คือ ชาวเดนมาร์กจะมีวัฒนธรรมของ การให้ความสำคัญกับ “Work-life balance” ที่ดีมาก ๆ
โดยเวลาเฉลี่ยในการทำงานต่อสัปดาห์ของชาวเดนมาร์กคือ 37 ชั่วโมง/สัปดาห์
(ซึ่งจะต่ำว่ามาตรฐานของโลกที่ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์)
และ เสรีภาพในการเลือกวันลา ที่ไม่ได้มีการบีบบังคับ หรือสร้างพันธสัญญากันระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง
นั่นรวมไปถึง เสรีภาพในการเลือกพาหนะสำหรับการเดินทางไปทำงาน ด้วยก็เช่นกัน
โดยมีงานวิจัยในเรื่องของปัจจัยการสร้างความหงุดหงิด หากเรามีการใช้วลาเดินทางระหว่างวันเกิน 1 ชั่วโมง
สำหรับชาวเดนมาร์กแล้ว พวกเขาสามารถเลือกได้ ว่าจะเดินทางไปให้ถึงเร็วขึ้นด้วยการปั่นจักรยาน
– ความไว้เนื้อเชื่อใจ
ตรงนี้จะเป็นในลักษณะของ ความสุขที่ได้มาจากการที่ผู้คนไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการแข่งขันกันเอง
รวมถึงหลักคิดในเรื่องของ “Empathy” หรือ ความเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ และผลลัพธ์ก็คือ ก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่เพิ่มมากขึ้น ในแต่ละบุคคล
– ความสุขที่ได้มาจาก “น้ำใจ หรือ การให้”
วัฒนธรรมการมีความสุข จากการมอบให้ มากกว่าการได้รับ
โดย การให้ตรงนี้ อาจฝังลึกเข้าไปยังนิสัยเลย
จนบางที ผู้คนก็จะติดนิสัยที่ชอบให้ มากกว่าเป็นผู้รับ
หรือ ผู้ได้รับ ก็มักจะหาบางสิ่งนำมาให้เป็นการตอบแทน
— — — — — — — — —
4. Sisu [ซิสุ]
หลักแนวคิด ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบชาวฟินแลนด์
ที่ว่าด้วย “การยอมรับว่าชีวิตเต็มไปด้วยความท้าทาย”
ซึ่งจะแตกต่างจากหลักคิดของชาวสแกนดิเนเวียนอันก่อน ๆ ที่จะพูดถึงการมีความสุข และ พัฒนาตนเองจากความเรียบง่าย
ซิสุ ในภาษาฟินน์ จะแปลว่า ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ
ซิสุ จึงเป็นหลักแนวคิดที่ว่าด้วย จะเป็นการปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งความ แข็งแกร่ง และความอุตสาหะ ไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัด เสียมากกว่า
หรือ ความสามารถในการก้าวต่อไปในยามที่ยากลำบาก และ ผลักดันไม่ให้ตัวเองยึดติดอยู่กับ Comfort Zone
โดยชาวฟินแลนด์มองว่า ทุกเรื่องราวความสำเร็จ ย่อมต้องมีความเจ็บปวดระหว่างทางเกิดขึ้น
หากพวกเขาไม่พยายามให้ถึงที่สุด และ ไม่ได้ลิ้มรสความเจ็บปวดก่อนที่จะไปถึงความสำเร็จที่แสนหอมหวาน
พวกเขาก็อาจจะไม่เรียกสิ่งนั้นว่า “ความสุข”
ว่ากันว่า ปรัชญาซิสุเนี่ย ยังเป็นปรัชญาสำคัญที่ เรียกได้ว่าเป็น “ปรัชญาสร้างชาติ” ที่ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างฟินแลนด์ สามารถเอาชนะประเทศมหาอำนาจ อย่างสหภาพโซเวียตในสงครามฤดูหนาวเมื่อปี ค.ศ. 1940
— — — — — — — — —
อย่างไรก็ดี ขอปิดท้ายนิดนึงว่า
ถึงแม้ว่าตัวเนื้อหาหรือแก่นแท้ ทุกหลักแนวคิดเนี่ย
จะพูดถึงเรื่องของความพอดี หรือ ความสบาย ๆ
แต่หากเพื่อน ๆ นำแนวคิดเหล่านี้ มาปรับใช้มากจนเกินไป (หรือกลายเป็นความไม่พอดี นั่นเอง)
เพื่อน ๆ ก็อาจจะกลายเป็นเฉื่อยชา หรือ ชิวเกินไป
รู้ตัวอีกทีก็ เราอาจจะไม่รับรู้ร้อนหรือหนาว กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวไปซะแล้ว
และสำหรับเพื่อน ๆ บางคน ที่อาจมองว่า หลักแนวคิดแบบนี้
มันก็จะมีมักจะถูกโยงไปยังเรื่องราวของการตลาด…
ซึ่ง จะบอกแบบนั้น ก็ไม่ผิด หรือ ไม่ถูกเสียทีเดียว
เพราะในโลกสมัยใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างคือการสร้างโอกาส
โดยเราจะสามารถเห็นได้ว่า บางแบรนด์ก็จะหยิบนำหลักแนวคิด
ที่เปรียบเสมือนกับจุดขายของประเทศตัวเอง มาปรับใช้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์และจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เช่นกันนะ
ปรับสมดุลของตัวเองให้ได้ ไม่ยึดติดกับบางหลักการมากจนเกินไป
พวกเรา InfoStory ก็ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ค้นหาเป้าหมายและความสุขของตัวเองได้ ในทุก ๆ วัน
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
-หนังสือ A Little Book of Hygge โดย Meik Wiking
-หนังสือ A Little Book of Lykke โดย Meik Wiking
-หนังสือ Finding Sisu โดย Katja Pantza