หนังแอนตี้ฮีโร่เฟื่องฟู เพราะเรารู้ว่าโลกนี้ไม่มีใคร ‘เก่งและดี’ ไปหมดทุกอย่าง

5 Min
666 Views
03 Feb 2022

Select Paragraph To Read

  • Watchmen (2009-2019)
  • Venom (2018-2021)
  • The Boys (2019-2021)
  • Dreamscape (2015)

คอหนังหลายคนอาจตกหลุมรักซูเปอร์ฮีโร่ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป บางคนอาจหลงใหลในพลังเหนือมนุษย์ บางคนก็ชื่นชมความกล้าหาญในการอุทิศตัวปฏิบัติภารกิจพิทักษ์โลกและมวลมนุษยชาติ หรือไม่ก็ชอบพล็อตที่คิดมาแล้วอย่างดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะอินกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ และแม้กระทั่งหนังซูเปอร์ฮีโร่หลายเรื่องทุกวันนี้ก็ยังต้องเพิ่มด้านมืดหรือแง่มุมที่เป็นปุถุชนให้กับตัวละครหลักเพื่อจะสะท้อนโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปของเหล่าคนดู

หลักฐานที่เห็นกันชัดๆ คือหนังหรือละครแอนตี้ฮีโร่ที่แหกกรอบเดิมๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในยุคมิลเลนเนียม ทั้งยังมีแฟนคลับติดตามอย่างเหนียวแน่นไม่แพ้หนังซูเปอร์ฮีโร่ยุคก่อนหน้า ซึ่งยอดมนุษย์ผู้เก่งกล้าที่มาพร้อมพลังเหนือธรรมชาติกับธีม ‘ธรรมะชนะอธรรม’ ถูกสั่นคลอนด้วยตัวละครสายดาร์กที่หลายครั้งก็มีพฤติกรรมล่อแหลม แถมยังเป็นจอมป่วน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนจำนวนมากรู้สึกว่าซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นตัวแทนคุณงามความดีเพียงอย่างเดียวนั้น ‘ไม่มีอยู่จริง’ 

ส่วนในไทยก็มีหนังสารคดีไถ่ถามถึง ‘ฮีโร่’ แบบไทยๆ ซึ่งดูแล้วอาจจะไม่แปลกใจที่คนตัวเล็กตัวน้อยของสังคมเราไม่ได้มองเชื่อมโยงถึงซูเปอร์ฮีโร่ฝั่งตะวันตกเมื่อถูกถามถึงฮีโร่ในดวงใจ แต่กลับนึกถึง ‘ฮีโร่ในประเทศ’ ที่จะนำพาสังคมออกจากความขัดแย้งเสียที

Watchmen (2009-2019)

 

แม้ว่าตอนที่ออกฉายครั้งแรก Watchmen จะไม่ได้ถูกนับเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรทำเงินให้กับเครือวอร์เนอร์บราเธอร์ส (Warner Bros.) ยิ่งถ้าเทียบกับความสำเร็จของทีมซูเปอร์ฮีโรของฝั่งมาร์เวลหรือแม้แต่ฝั่งดีซีด้วยกันเอง แต่ยอดมนุษย์สายดาร์กใน Watchmen ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์เป็นเอกฉันท์ และค่อยๆ ดึงดูดแฟนหนังให้ไปตามดูย้อนหลัง ก่อนจะถูกนำมาทำเป็นซีรีส์ฉายใหม่ในปี 2019 ทางแพลตฟอร์ม HBO จึงถือว่านี่เป็นหนังที่ ‘มีของ’ และมีแฟนคลับอยู่มากพอตัว

เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ใน Watchmen ถูกแปะฉลากว่าเป็นแอนตี้ฮีโร่เกือบทุกคาแรคเตอร์ เพราะมีทั้งมุมมืดและพฤติกรรมด่างพร้อยที่ต้องกลบฝัง ซึ่งในหนังบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าฮีโร่สายดาร์กเหล่านี้ซ้อนทับกับเหตุการณ์ในยุคสงครามเวียดนาม ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บทบาท ‘ตำรวจโลก’ ของสหรัฐอเมริกายุคนั้นด้วย โดยเฉพาะการตั้งคำถามว่าถ้ายอดมนุษย์ใน Watchmen คือผู้ที่ปกป้องดูแลโลก แล้วใครจะเป็นคนสอดส่องดูแล หรือถ่วงดุลการใช้พลังอันล้นเหลือในนามของการสู้เพื่อสันติภาพของเหล่ายอดมนุษย์กลุ่มนี้ (Who watches the Watchmen?)

การดูยอดมนุษย์ที่มาพร้อมปมปัญหาในชีวิตให้ความรู้สึกแตกต่างหลากหลาย และทำให้ Watchmen เป็นที่นิยมของคอหนังแอนตี้ฮีโร่ เพราะหลายครั้งผู้มีพลังอำนาจอาจทำตัวไม่ต่างอะไรจาก ‘ศาลเตี้ย’ ที่พิพากษาโทษคนอื่นตามอารมณ์หรือเหตุผลส่วนตัว ซึ่งหนังและซีรีส์เรื่องนี้ก็ค่อยๆ ลอกเปลือกนอกของซูเปอร์ฮีโร่ออกมาให้คนดูได้เห็นความมืดดำที่ซ่อนอยู่ข้างในได้อย่างดี

Venom (2018-2021)

 

จากที่เคยเป็นคู่ปรับตัวร้ายของไอ้แมงมุม Spiderman ในคอมิก แต่สุดท้าย Venom ก็ถูกดันหลังขึ้นมาเป็นแอนตี้ฮีโร่รายใหม่ในหนังของค่ายโซนี่เมื่อปี 2018 และมีภาคสองออกมาในชื่อว่า Venom: Let There Be Carnage ปลายปี 2021 โดยเป็นผลงานของค่ายมาร์เวล-โคลัมเบีย พิกเจอร์

พลังเหนือมนุษย์ของ Venom มาจากสิ่งมีชีวิตนอกโลก ‘ซิมบิโอต’ ที่เข้าเกาะกุมระบบประสาทและสั่งการ ‘เอ็ดดี บร็อก’ นักข่าวปากดีที่รับบทโดยทอม ฮาร์ดี (Tom Hardy) ทำให้เวนอมมีลักษณะของซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย เพราะถูก ‘สิงร่าง’ จนลืมตัว เผลอ ‘กินหัว’ สิ่งมีชีวิต (ที่เรียกว่ามนุษย์) อยู่เป็นระยะๆ แถมการปล่อยพลังอีกหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้เกิดจากเจตนาจะปราบปรามเหล่าร้ายอะไร แต่เป็นการทำตามสัญชาตญาณด้านมืดของซิมบิโอต ที่ตัวละครเอ็ดดีเรียกว่า ‘ปรสิต’ ก็เท่านั้นเอง 

การตอบโต้ด้วยวิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คาแรคเตอร์เวนอมที่เคยเป็นตัวร้ายได้รับความนิยมในฐานะแอนตี้ฮีโร่รายใหม่ เห็นได้จากที่มีแฟนๆ ติดตามดูหนังจนทำเงินรายได้เป็นที่น่าพอใจทั่วโลก แม้จะสวนทางกับเสียงของเหล่านักวิจารณ์ที่มองว่า ‘ไม่มีมุกใหม่’ อยู่ในเวนอมทั้งสองภาค แต่ก็โชคดีที่มีนักแสดงอย่างทอม ฮาร์ดี ช่วยรับส่งบทได้อย่างดีระหว่างตัวเองตอนที่เป็นนักข่าว กับด้านมืดของตัวเองตอนที่ถูกครอบครองโดยซิมบิโอต

The Boys (2019-2021)

 

ย้ายมาดูฝั่งซีรีส์กันบ้าง The Boys ถือว่ามีแฟนคลับไม่น้อย เพราะดัดแปลงจากคอมิกชื่อเดียวกันของการ์ธ เอนนิส (Garth Ennis) และแดริก โรเบิร์ตสัน (Darrick Robertson) โดยมีโปรดิวเซอร์ เอริก คริปกี (Eric Kripke) เป็นผู้พัฒนาต่อยอดโปรเจกต์ จนออกฉายแล้ว 2 ซีซันผ่านทางแพลตฟอร์ม Amazon Prime 

ถ้าจะบอกว่า The Boys มีธีมคล้ายๆ Watchmen คือการตีแผ่เบื้องหลังของซูเปอร์ฮีโร่คนดีที่มีอำนาจล้นเหลือ แถมยังร่ำรวย โด่งดัง และได้รับความนิยมอย่างมากจนเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคม ก็คงไม่ผิดความจริงนัก แม้ว่าด้านหนึ่งพวกเขาจะช่วยคนและปราบเหล่าร้าย แต่ระหว่างปฏิบัติภารกิจอาจมีคนเล็กคนน้อยได้รับผลกระทบจากการใช้พลังในนามของการ ‘ปราบอธรรม’ อยู่ดี 

แต่เนื้อเรื่องของ The Boys ให้น้ำหนักกับเหล่าผู้เสียหายมากกว่า โดยเฉพาะ ‘ผู้สูญเสีย’ ที่เป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำตัวเหมือนเป็นเซเลบริตี แถมยังมีไลฟ์สไตล์รั่วล้นไม่สนโลก คนดูจะรู้สึกได้ว่าคาแรคเตอร์ต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่องนี้เป็นการเสียดสีซูเปอร์ฮีโร่ชื่อดังที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้ว เพราะมีทั้งฮีโร่คลับคล้ายคลับคลา ‘ซูเปอร์แมน’ ผสมกัปตันอเมริกา, อควาแมน และเดอะแฟลช 

นอกจากนั้นยังมี Vought International องค์กรเบื้องหลังที่คอยตามล้างตามเช็ดเรื่องแย่ๆ ของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่อาจจะทำผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ รวมไปถึงกรณีที่ประมาทและขาดสติ ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงจะโดนข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาไปแล้ว แต่พอเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นคนดัง ก็มีการตามไปจ่ายค่าเสียหายและขอให้คนที่อยากเอาเรื่องปิดปากเงียบไปซะ

ปมของ The Boys จึงมีคนไม่น้อยที่ไม่ได้อยากจะรับเงินชดเชย แต่อยากจะได้ ‘ความเป็นธรรม’ มากกว่า ก็เลยรวมตัวกันหาทางเอาคืนซูเปอร์ฮีโร่นิสัยเสีย ซึ่งเมื่อผนึกกำลังกับกลุ่มคนที่ต้องการควบคุมซูเปอร์ฮีโร่ไม่ให้มีอำนาจมากเกินไปก็นำไปสู่การเผชิญหน้าที่เรียกได้ว่า ‘วายป่วง’ อยู่หลายฉาก

แม้จะมีนักวิจารณ์บอกว่า The Boys เองก็คือภาพสะท้อนการทำตัวบ้าอำนาจไม่ต่างจากซูเปอร์ฮีโร่ที่มีแต่คนอยากล้างแค้น แต่คนดูจำนวนหนึ่งมองว่าการได้ตั้งคำถามเพื่อหาทางสำเร็จโทษซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นภาพแทนของคนมีพลังอำนาจและสถานะทางสังคมอยู่ในระดับท็อป ก็เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งที่พวกเขาต้องการ เพราะรู้ว่าโลกจริงคงเกิดขึ้นได้ยาก

Dreamscape (2015)

 

เรื่องสุดท้ายเป็น ‘สารคดี’ ในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยที่ผลิตโดย Eyedropper Fill ซึ่งจะเรียกว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์แห่งยุคสมัยก็น่าจะได้ เพราะผู้กำกับ ‘เบสท์’ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ตามไปสัมภาษณ์คนธรรมดาในสังคมไทย ทั้งเด็กนักเรียน ครู คนไร้บ้าน หรือแม้แต่ผู้ค้าบริการย่านกลางกรุง ในห้วงเวลาไม่นานหลังเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อถามไถ่ว่า ‘ฮีโร่’ แบบไหนที่พวกเขาคิดว่าจะมาช่วยกอบกู้สังคมไทย รวมถึงคำถามว่าใคร (หรืออะไร) ที่จะทำให้ ‘ความหวัง’ และ ‘ความฝัน’ เป็นจริงได้

วรรจธนภูมิบอกเล่าว่าเขาต้องการสะท้อนความรู้สึกของผู้คนในช่วงนั้น เพราะขนาดตัวเขาเองก็ยังไม่แน่ใจว่าประเทศเล็กๆ แห่งนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ท่ามกลางเสียงเพลง ‘คืนความสุข’ ที่แต่งโดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเขาอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่คือความสุข ‘ของใคร?’ และปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายจะหายไปได้จริงหรือ

การบันทึกปากคำของผู้คนในสารคดี Dreamscape มีเพียงภาพบรรยากาศเหงาๆ หม่นๆ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน คลอกับเสียงบรรยายความรู้สึกถึง ‘ฮีโร่’ ที่ผู้ให้สัมภาษณ์คาดหวังว่าจะมาช่วยกอบกู้สังคมไทยได้ ซึ่งคนดูอาจประหลาดใจ (หรืออาจจะไม่ก็ได้) ที่คนตัวเล็กตัวน้อยในหนังเรื่องนี้ไม่ได้นึกถึงซูเปอร์ฮีโร่ในภาพยนตร์ฝั่งตะวันตกเลย

‘ฮีโร่’ ของคนไทยในหนังเรื่องนี้มีตั้งแต่เทวดา-นางฟ้า, ผู้มีพลังพิเศษไร้ชื่อที่วาดกันสดๆ, หัวหน้าคณะรัฐประหาร รวมถึงสมมติเทพบางพระองค์ ซึ่งภาพฮีโร่ในจินตนาการของคนให้สัมภาษณ์แต่ละคนถูกวาดลงบนกระดาษ โดยผู้กำกับและทีมผลิตนำไปดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่นเคลื่อนไหวก่อนจะฉายทับลงบนฉากที่แต่ละคนให้สัมภาษณ์อีกทีหนึ่ง

บางตอนของบทสัมภาษณ์ที่ผู้กำกับให้ไว้กับ BrandThink Cinema บอกว่า ‘ถ้าเป็นไปได้’ อยากกลับไปสัมภาษณ์ผู้คนอีกครั้งหนึ่ง เพราะอยากรู้ว่า ‘ฮีโร่’ ที่เป็นความหวังและความฝันของคนในสังคมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างหลังกาลเวลาผ่านไปกว่า 8 ปี ภาพจินตนาการถึงฮีโร่ของคนไทยจะยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ และจะมีแอนตี้ฮีโร่เพิ่มมาในคำตอบของคนในยุคนี้หรือเปล่

BrandThink Cinema เปิดพื้นที่ให้คนรักหนังได้รับชมภาพยนตร์ 3 เรื่องที่เป็นผลงานของ Eyedropper Fill รวมถึง Dreamscape โดยสามารถรับชมได้ที่ https://www.brandthink.me/cinema/dreamscape-เมืองกรุง-เทพ