4 Min

‘สารก่อมะเร็ง’ คืออะไร? แล้วเขาจัดกันยังไงว่าอะไรก่อมะเร็ง?

4 Min
374 Views
15 Oct 2020

‘มะเร็ง’ คือโรคอันดับต้นๆ ที่ฆ่ามนุษย์ในปัจจุบันมากที่สุด เพราะเป็น ‘โรค’ ที่ร้ายแรงและน่ากลัว ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ จนกลายเป็น “เนื้อร้าย” และขยายตัวจนอวัยวะนั้น และอวัยวะอื่นๆ ทำงานผิดปกติ

แท้จริงแล้ว มะเร็งคือชื่อเรียกรวมๆ ของ “สารพัดโรค” ที่ผิดปกตินั่นเอง

และเนื่องจากมะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ใน ‘แต่ละอวัยวะ’ ซึ่งในแต่ละอวัยวะ เซลล์ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้มะเร็งของแต่ละอวัยวะเป็น ‘คนละโรค’ ที่มีสาเหตุไปจนถึงวิธีการรักษาคนละเรื่อง

นี่คือพื้นฐานที่เราต้องเข้าใจตรงกันก่อน

1.

ต่อมา อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดมะเร็ง?

เนื่องจากมะเร็งคือ ‘การกลายพันธุ์’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ปัจจุบันมนุษย์เราควบคุมและเข้าใจการกลายพันธุ์ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้นเวลาเราพูดถึง ‘สารก่อมะเร็ง’ เราเลยพูดถึงสารที่ร่างกายมนุษย์รับเข้าไป “จะเพิ่มแนวโน้มของการกลายพันธุ์” หรือไปเร่งกระบวนการที่อาจทำให้เกิดมะเร็งขึ้นได้เท่านั้น

แต่ไม่ได้ ‘รับประกัน’ ว่าจะกลายพันธุ์

เรื่องนี้สำคัญ เพราะ ‘สารก่อมะเร็ง’ (Carcinogen) ต่างจาก ‘สารพิษ’ (Toxin)

เนื่องจาก ‘สารพิษ’ คือสารที่ร่างกายรับเข้าไปในปริมาณเกินระดับหนึ่ง แล้วเป็นพิษเลย ในมุมชีวเคมีอธิบายว่า เมื่อร่างกายรับสารเข้าไปแล้วจะเกิดปฏิกิริยาในเซลล์อะไรบ้างอย่างชัดเจน เช่น เซลล์ตาย เสียหาย หรือหยุดทำงาน เป็นต้น

2.

แล้ว ‘สารก่อมะเร็ง’ คืออะไร?

โดยทั่วไปการระบุว่า อะไรคือสารก่อมะเร็ง มักเริ่มจากการวิจัยจำนวนมาก ทั้งการทดลองในห้องทดลอง ทั้งการเก็บข้อมูลในมนุษย์ เพื่อระบุว่าสารชนิดนั้นๆ หรือกลุ่มนั้นๆ ก่อมะเร็งหรือไม่

ต้องเน้นว่า เวลาบอกว่าสารใด ‘ก่อมะเร็ง’ ไม่ได้หมายถึงก่อมะเร็งแบบรวมๆ แต่เป็นสารก่อมะเร็งเป็นชนิดๆ ไป

โดยทั่วไป สารดังกล่าวจะแบ่งเป็นขั้นๆ ซึ่งการจัดประเภทที่นิยมใช้ที่สุดคือการจัดโดย International Agency for Research on Cancer (IARC) ที่เป็นหน่วยงานด้านวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลก

IARC จะแบ่งขั้นของ ‘ความก่อมะเร็ง’ เป็น 4 ขั้น แต่ละขั้นแทนด้วยตัวเลข 1, 2A, 2B และ 3

1 คือก่อมะเร็งสูงสุด และน้อยลงใน 2A ไปจนถึง 3 ตามลำดับ

หลักๆ คือ ‘ความก่อมะเร็ง’ ในขั้นสูงสุดคือ มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นสารที่ร่างกายมนุษย์รับเข้าไปแล้วสามารถ ‘ก่อมะเร็ง’ อย่างน้อยๆ 1 ชนิดได้แน่ๆ

ส่วนในขั้นที่ลดหลั่นลงมา ก็จะเป็นสารที่ไม่มีหลักฐานว่าก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่ก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หรือเป็นสารที่ยังไม่มีหลักฐานว่าก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ แต่มีหลักฐานระบุว่า สามารถกระตุ้นกลไกทางเคมีที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ หรือมันเป็นสารในกลุ่มเดียวกับสารตัวอื่นที่ก่อมะเร็ง

นี่คือหลักง่ายๆ ของการแบ่งขั้นสารก่อมะเร็ง ไม่ต้องไปจำรายละเอียดมากมาย แค่จำง่ายๆ ว่า

หมวด 1 คือมีหลักฐานว่าไปเร่งกระบวนการก่อมะเร็งได้แน่ๆ ชัวร์ๆ ในมนุษย์

หมวดอื่นๆ คือไม่มีหลักฐานที่ว่า แต่มีหลักฐานเทียบเคียงให้สงสัยได้ว่าอาจก่อมะเร็ง

3.

ทีนี้รู้แล้วไงต่อ? สารที่ถูกจัดประเภทพวกนี้มันจะ ‘ผิดกฎหมาย’ หรือไม่

คำตอบคือ “ไม่”

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในควันบุหรี่มี ‘สารก่อมะเร็ง’ ในหมวด 1 แน่นอน หลายตัวเลย แต่เราก็คงเห็นใช่ไหมว่า บุหรี่ก็ยังมีขายทั่วไป

4.

ประเด็นคือสารพวกนี้เป็น ‘สารก่อมะเร็ง’ ไม่ใช่สารพิษ คือไป ‘เพิ่มความเสี่ยง’ แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้เกิดมะเร็งแบบชัวร์ๆ

(คำเตือนนบนซองบุหรี่ว่า ‘ควันบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด’ จริงๆ ไม่ถูกต้อง ถ้าจะว่ากันในทางวิทยาศาสตร์แบบเคร่งครัด)

ดังนั้น สาร 120 ตัวที่จัดอยู่ในสารก่อมะเร็งหมวด 1 ของ IARC ที่เรารู้ว่าสามารถก่อมะเร็งได้แน่ๆ มีหลักฐานชัดๆ ก็ยังพบได้ในชีวิตประจำวัน

เพราะสุดท้าย ไม่มีใครบอกได้ว่าคนรับไปเท่าไหร่ถึงจะก่อมะเร็ง

คนทั่วไปอาจรู้สึกว่า ไม่สมเหตุสมผลที่จะไม่แบนสารพวกนี้ แต่ลองคิดเรื่องอาหารการกินกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เรามีหลักฐานชัดเจนแล้วว่าไขมันในสัตว์ ‘เพิ่มความเสี่ยง’ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งทุกวันนี้โรคหัวใจและหลอดเลือดฆ่าคนตายมากกว่ามะเร็งเสียอีก

คำถามคือ ถ้าความรู้วิทยาศาสตร์ยืนยันแบบนี้ เราต้องแบน ‘หมูสามชั้น’ ไหมครับ?

คำตอบคือ “ถ้าทำจริงๆ คนด่าแน่ๆ” เพราะคนกินกันเยอะ และคนก็จะเถียงว่าหมูสามชั้น “ก็มีประโยชน์” และถ้าคนกินแต่พอดี ก็จะไม่เป็นไร ดังนั้น จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะแบน

ฉันใดก็ฉันนั้น ‘สารก่อมะเร็ง’ ทั้งหลายที่ใกล้ตัวมนุษย์ มีประโยชน์บางอย่างแน่ๆ ไม่งั้นมนุษย์ก็คงไม่เอามาใช้ ดังนั้น ประเด็นคือแม้แต่สารก่อมะเร็ง ถ้าเรา ‘รับแต่พอเหมาะ’ ก็จะมีแนวโน้มว่าร่างกายเราก็จะไม่เป็นไรเช่นกัน เหมือนเรากินหมูสามชั้นแต่พอดี เราก็จะได้โปรตีน ไขมัน และวิตามินจำนวนมากที่ร่างกายต้องการ โดยไม่ต้องกลัวโรคหัวใจ

5.

เวลาพูดถึง ‘สารก่อมะเร็ง’ จริงๆ คือการ “แปลผิด” เพราะเวลาพูดถึง Carcinogen ในภาษาอังกฤษนี่ไม่ใช่ ‘สาร’ แต่มันรวมถึงพวกคลื่นและรังสีอะไรด้วย

พอถึงตรงนี้ ถ้าสงสัยว่าพวกคลื่นวิทยุ คลื่นไวไฟ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่างๆ นี่ถูกจัดอยู่ใน ‘สารก่อมะเร็ง’ หรือไม่

คำตอบคือ “ถูกจัด” แต่อยู่ในหมวด 2B คือไม่มีหลักฐานว่าก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ แต่มีหลักฐานระบุว่าก่อมะเร็งในสัตว์ได้ หรือมีคำอธิบายเชิงกระบวนการว่ามีความสามารถทำให้ก่อมะเร็งได้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่วิ่งผ่านตัวเราไปมาทุกวันอย่าง ‘คลื่นมือถือ’ ก็ไม่ได้เคลียร์จากการก่อมะเร็งซะทีเดียว แต่ยังถือว่า ‘มีความเป็นไปได้’ แม้ในทางวิทยาศาสตร์ หลักฐานแค่นี้ถือว่าไม่พอจะปฏิบัติราวกับเป็นสารก่อมะเร็ง

ดังนั้น การพยายามแบนสิ่งเหล่านี้ไม่สมเหตุสมผล (เหมือนกับควันบุหรี่และหมูสามชั้น มีหลักฐานชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงโรคที่อันตรายมาก แต่ของพวกนี้ก็ยังขายปกติได้ ดังนั้น จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะแบนคลื่น WiFi คลื่น 5G ฯลฯ)

6.

สุดท้าย การจัด ‘สารก่อมะเร็ง’ นั้นจัดตามงานวิจัยที่มีมา ดังนั้นขีดจำกัดก็เลยขึ้นอยู่กับงานวิจัย คือวิจัยมาเท่าไร ก็จัดประเภทได้เท่านั้น

ทาง IARC จัดสารก่อมะเร็งได้ราวๆ 1,000 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่เน้นสารที่มนุษย์จะต้องพบในชีวิตประจำวันเป็นหลัก

แต่ถามว่า ‘สาร’ ในโลกนี้มีเท่าไร?

คำตอบคือ “ราวๆ 50 ล้านตัว”

ฟังดูเกินจริง แต่สารในโลกก็มีเท่านั้นจริงๆ นักเคมีประเมินว่า แม้แต่ในปัจจุบัน ก็มีสารที่สังเคราะห์หรือสกัดออกมาได้ใหม่ๆ ทุกๆ 3 วินาทีด้วยซ้ำ

ดังนั้น ในโลกนี้มีสารหลายสิบล้านตัวที่ ‘เราไม่รู้ว่าก่อมะเร็งหรือไม่’ นี่คือข้อเท็จจริง

7.

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ อยากให้รู้ว่าแม้ทุกวันนี้วิทยาการจะก้าวไกลแค่ไหน มนุษย์ก็ยังไม่รู้ว่าสารต่างๆ จำนวนมาก ส่งผลอะไรกับเราได้บ้าง โดยเฉพาะการรับสารเหล่านั้นในจำนวนน้อยๆ เป็นเวลานานๆ

นี่คือ ‘ความเสี่ยง’ ที่มนุษย์ต้องเผชิญ แบบหนีไปไหนไม่ได้ด้วย

เพราะเราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย ‘สารเคมี’ สารพัดตลอดเวลา

และเราก็รับมันเข้าไปตลอดเวลาจากการ ‘ปนเปื้อน’ สารพัด โดยเราไม่ต้องทำอะไรก็รับเข้าไปในร่างกายอยู่แล้ว

เพราะสารพวกนี้อยู่ใน ‘อากาศ’ ที่เราหายใจ ไปจนถึงอยู่ใน ‘น้ำ’ ที่เรากิน

อ้างอิง:

Wikipedia. Carcinogen. https://bit.ly/2EKTXNV
IARC. Agents Classified by the IARC Monographs, Volumes 1–127. https://bit.ly/2DeqLOL
Cancer Council Australia. IARC classifications. https://bit.ly/33jyB4p
Wired. Humans Have Made, Found or Used Over 50 Million Unique Chemicals. https://bit.ly/316I3p6