ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคที่เพศสภาพลื่นไหลไปมา สังคมเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติกับคนที่มีเพศสภาพหลากหลายอย่างเท่าเทียม ราวกับเพศในทางชีววิทยาแบบดั้งเดิมที่แยกเป็นชายกับหญิงไม่ได้ดำรงอยู่
แต่ในความเป็นจริง ความเป็นเพศชายหญิงของมนุษย์ในทางชีววิทยา ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น
อย่างน้อยๆ ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อันยาวนานก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายกับผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคต่างกัน
แม้แต่ในโรคเดียวกัน ผู้ชายกับผู้หญิงก็เสี่ยงไม่เท่ากัน และผู้ชายมักจะมีความเสี่ยงสูงกว่าแทบทุกโรค
กล่าวคือ ถ้าคุณเกิดมาเป็นผู้ชาย คุณก็มีโอกาสป่วยและตายเร็วกว่าผู้หญิง
ข้อเท็จจริงระบุว่า อายุเฉลี่ยของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายมาตลอด ประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่า 100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการบันทึกอายุขัยของมนุษย์ ช่องว่างระหว่างอายุที่ว่านี้ก็ดำรงอยู่
โดยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-5 ปี และปัจจุบันนี้ ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชายมากกว่าเมื่อ 100 ปีก่อน
ถามว่าแพตเทิร์นแบบนี้เรียกว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ได้ไหม?
คำตอบคือ “ได้”
และองค์การอนามัยโลกเคยออกมาประกาศด้วยซ้ำว่า มิติที่ ‘ผู้ชายตายก่อน’ ผู้หญิงมีมายาวนานในทุกสังคม
และเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพที่ถูกหลงลืมมาตลอด
1.
โดยทั่วไป คนจะมองว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้ชายต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากกว่าผู้หญิง ต้องไปเจอสารเคมีต่างๆ เยอะกว่า ดังนั้นชีวิตผู้ชายเสี่ยงตายกว่าอยู่แล้ว (นี่ยังไม่พูดถึงตอนออกรบ)
และนี่ก็ยังไม่นับปัจจัยด้านค่านิยมด้านการบริโภคต่างๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ชายมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการกินเนื้อสัตว์จำนวนมาก การกินเหล้า การสูบบุหรี่ การมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย ฯลฯ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าคำอธิบายเหล่านี้อาจฟังดูเข้าท่า แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความเท่าเทียมของผู้หญิงกับผู้ชายในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน กินเหล้า สูบบุหรี่ หรือกระทั่งมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัยได้ไม่ต่างจากผู้ชาย
ข้อเท็จจริงก็คือ ตัวเลขความต่างของอายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงกับผู้ชาย ยังคงมีช่องว่างอยู่แบบเดิม (แถมกว้างกว่าเดิมด้วย)
พูดง่ายๆ ในยุคที่ ‘พฤติกรรม’ ของผู้หญิงกับผู้ชาย ‘คล้ายคลึงกัน’ กว่าช่วงไหนๆ ในประวัติศาสตร์ ผู้หญิงก็ยังอายุยืนกว่าผู้ชายอยู่ดี และเป็นเช่นนี้ในทุกสังคม
2.
ปัจจุบันนี้ เราต้องเข้าใจว่ามีการศึกษาวิจัยโรคไม่ติดต่อต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีต เพราะมนุษย์ยิ่งอายุยืนขึ้น โอกาสตายจากโรคพวกนี้ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
สิ่งที่พบก็คือ บรรดาโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง เรียกได้ว่าในช่วงอายุเท่ากัน ผู้ชายมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิง 3-4 เท่า ไม่ว่าสารพัดมะเร็ง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง เบาหวาน ตับแข็ง ไต ฯลฯ (น่าจะมีแค่สองกรณีที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายคือมะเร็งเต้านมกับซึมเศร้า)
เรียกได้ว่าเกิดมาเป็นผู้ชายโอกาสตายก็มากกว่าผู้หญิงในทุกๆ ช่วงอายุ และนั่นไม่ใช่เรื่องระดับพฤติกรรมด้วย ดังนั้นจึงมีการไปหาคำอธิบายทางพันธุกรรมแทน
3.
ในทางพันธุกรรม มีคำอธิบายที่น่าสนใจ เพราะหลายๆ คนคงรู้ว่าในระดับ ‘โครโมโซม’ ผู้ชายจะมีโครโมโซม XY ส่วนผู้หญิงจะมีโครโมโซม XX
ดังนั้นในมนุษย์ ผู้หญิงเป็นเพศที่มีโครโมโซมซ้ำ และนักวิทยาศาสตร์ลองดูข้อมูลก็พบว่า สัตว์น่าจะแทบทุกชนิด เพศที่มีโครโมโซมซ้ำ จะเป็นเพศที่อายุยืนกว่าเสมอ
คำอธิบายพื้นฐานก็คือ การมีโครโมโซมซ้ำจะทำให้มีสารพันธุกรรม “สำรอง” เผื่อสารจากโครโมโซมอีกตัวมันบกพร่อง
ดังนั้นเพศที่ไม่มีโครโมโซมสำรอง โอกาสเกิดความผิดพลาดทางพันธุกรรมจึงมีมากกว่า
นี่ก็เป็นคำอธิบายที่เข้าเค้าในภาพใหญ่ แต่มันก็ไม่สามารถอธิบายในระดับรายละเอียดได้
สิ่งที่ดูจะเป็นคำอธิบายที่ “ดีที่สุด” ว่าทำไม “เป็นชายถึงตายก่อน” น่าจะเป็นเรื่องความดันของเลือดในเส้นเลือดหรือที่นิยมเรียกกันว่า “ความดันโลหิต”
4.
ภาวะ “ความดันโลหิตสูง” เรียกได้ว่าเป็นภาวะคลาสสิคสุดๆ ในการก่อโรคเกี่ยวกับอวัยวะภายในสารพัด (ตรงนี้เราขอไม่อธิบายในรายละเอียด) แต่หลักๆ แล้วในมนุษย์ ความดันในเส้นเลือดจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามอายุ (อธิบายง่ายๆ คือมันจะขึ้นตาม “ความเสียหาย” ที่สะสมในเส้นเลือด ซึ่งสะสมกันเป็นสิบๆ ปี ถึงจะออกอาการ)
ดังนั้นเป็นคนแก่แล้ว “ความดันโลหิตสูง” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่พออยู่ในสถาวะนี้แล้ว โอกาสที่เส้นเลือดในร่างกายจะเสียหายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก พูดง่ายๆ คือ จะทำให้เส้นเลือดอุดตันจากพวก “หินปูน” ในผนังเส้นเลือดที่หลุดไป
และถ้ามันไปอุดตันเส้นเลือดฝอยที่เข้าไปยังอวัยวะต่างๆ ก็ทำให้เซลล์อวัยวะนั้นตายได้ โดยต้องรักษาเป็นพิเศษ เนื่องจากมีสองอวัยวะสำคัญคือหัวใจและสมอง
เพราะสองอวัยวะนี้ต้องทำงานเต็มที่ 100% ทำงานต่ำกว่านั้น ร่างกายจะมีปัญหา (ต่างจากอวัยวะอย่างตับที่ทำงานแค่ 20-30% ร่างกายก็ยังไม่มีปัญหาอะไร)
ถ้าหากเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เราจะเรียกมันว่า Heart Attack ส่วนถ้าเส้นเลือดสมองอุดตัน เราจะเรียก Stroke
สองอย่างนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของมนุษย์ในโลกนี้ และทุกวันนี้มนุษย์มีโอกาสตายด้วยสิ่งเหล่านี้มากกว่า “มะเร็ง”
อธิบายง่ายๆ ความดันในเส้นเลือด ถ้าสูงไปจะนำไปสู่โรคที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของมนุษย์ปัจจุบัน ดังนั้น โดยทั่วไป ความดันสูงกว่าคือไม่ดี เสี่ยงตายกว่า
5.
ลองเดาดูว่า ความดันในผู้ชายและผู้หญิงต่างกันยังไง?
คำตอบคือ ในช่วงอายุเท่ากัน ผู้ชายจะมีความดันสูงกว่าผู้หญิงเสมอ แต่เกณฑ์เรื่อง “ความดันโลหิตสูง” ทั้งสองเพศใช้เท่ากัน
ผลก็คือ ผู้ชายก็จะไปอยู่ในภาวะ “ความดันโลหิตสูง” เร็วกว่าผู้หญิง และเร็วกว่าเป็นสิบปีด้วย (อธิบายง่ายๆ ผู้ชายจะเริ่มความดันสูงตอนอายุประมาณ 40 ปี แต่ผู้หญิงก็จะเริ่มความดันสูงตอนอายุประมาณ 50 ปี)
ซึ่งพอความดันสูง โอกาสที่จะเกิดพวกโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ก็ตามมาเต็มไปหมด และนี่ก็สอดคล้องว่า “อายุเฉลี่ย” ที่ผู้ชายจะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด (หรือ Heart Attack) เป็นครั้งแรกนั้นจึงต่ำกว่าผู้หญิงเกือบ 10 ปี
โดยปกติผู้ชายอายุ 60 กว่าๆ ก็เริ่มเป็นแล้ว แต่ผู้หญิงต้องเกิน 70 ถึงจะเริ่มเป็นกัน
ดังนั้นประเด็นเรื่อง “ความดันโลหิต” เลยเป็นคำอธิบายสำคัญว่า ทำไมผู้ชายตายเร็วกว่าผู้หญิง
6.
คำถามคือทำไม?
ตรงนี้ บางคนก็จะพาลกลับไปพยายามอธิบายผ่าน “ปัจจัยเชิงพฤติกรรม”
แต่ประเด็นก็คือ เมื่อดูสถิติทางสังคม และคุมตัวแปรต่างๆ สารพัด ก็พบว่าไม่น่าจะใช่ปัจจัยเชิงพฤติกรรมที่ต่าง แต่เป็นปัจจัยเชิงชีววิทยาในร่างกายมากกว่า
คำอธิบายพื้นฐานจะเป็นเรื่อง ‘ฮอร์โมนเพศ’ อย่างเอสโตรเจนที่ผู้หญิงมีมากกว่า น่าจะไปช่วยลดความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเส้นเลือดและชะลอการเพิ่มขึ้นของความดันในเส้นเลือดในระยะยาว
7.
อธิบายมาทั้งหมดนี้ อยากจะชี้ให้เห็นว่าในทางชีววิทยา ผู้ชายไม่ใช่เพศที่ “แข็งแรง” เลย เพราะเทียบกับผู้หญิง ผู้ชายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทั้งขี้โรคและอายุสั้นกว่า
และก็ไม่แปลกว่าในทางสาธารณสุข จะมองว่านี่คือ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ” ที่ต้องแก้ไข
เราคงไม่ค่อยได้ยินเรื่องเหล่านี้ เมื่อคนเรียกร้องหา “ความเท่าเทียมทางเพศ” เพราะการเรียกร้องส่วนใหญ่จะเป็นการเรียกร้องในมิติที่ “ผู้หญิง” (ไปจนถึง “เพศอื่นๆ”) เสียเปรียบ อย่างมิติทางเศรษฐกิจไปจนถึงสังคมและวัฒนธรรม
เราจะแทบไม่ได้ยินการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในเชิง “สุขภาพ” โดยรวม เพราะเพศที่นิยมเรียกร้องอย่างผู้หญิงเป็นเพศที่เหนือกว่า
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรที่ผู้หญิงจะไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรให้ผู้ชาย นี่เป็นเรื่องที่ผู้ชายต้องตระหนักถึงปัญหาและข้อจำกัดของตัวเองและเรียกร้อง
เพราะสุดท้าย ถ้าคิดให้ดี การแค่เกิดมาเป็นผู้ชายก็เสี่ยงตายกว่าผู้หญิง ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องตลกเท่าไหร่
โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ชาย
อ้างอิง:
- Harvard Health Publishing. Mars vs. Venus: The gender gap in health. https://bit.ly/32RU2YC
- WHO. The men’s health gap: men must be included in the global health equity agenda. https://bit.ly/3382zXB