รู้ไหม อเมริกายุคก่อนเลิกทาส นายทาสไม่ได้มีแค่คนขาว แต่คนดำก็มีทาสเช่นกัน
ปี 2020 กระแส #BlackLivesMatter ผุดขึ้นมาอีกครั้ง คนดำอเมริกันลุกขึ้นมาทวงความยุติธรรมเมื่อครั้งที่คนขาวเอาพวกเขาข้ามน้ำจากแอฟริกามาเป็นทาส และกดขี่พวกตนให้เป็นคนชั้นล่างของสังคมมาช้านาน
ทุกวันนี้ คนดำจำนวนมากยังมีความคิดว่า “คนขาวต้องชดใช้” ในสิ่งที่ทำกับพวกเขามาตั้งแต่บรรพบุรุษ
แต่ใน “ความเป็นจริง” การค้าทาสเป็น “การกระทำของคนขาว” แต่เพียงผู้เดียวจริงๆ หรือ?
1.
สังคมโบราณทั้งหมด น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “สังคมทาส” (ย้อนกลับไปตั้งแต่สองพันปีก่อน) การมีทาสเป็นเรื่องปกติ และทาสนั้นเกิดจากการออกรบไปตีเมืองอื่นๆ เผ่าอื่นๆ แล้วไล่ต้อนประชากรของสังคมผู้แพ้สงครามมาเป็นทาส
ซึ่งอารยธรรมที่เป็นรากฐานของตะวันตกอย่างกรีกโบราณและโรมัน ก็ถูกสร้างมาด้วยทาสทั้งสิ้น และทาสเหล่านี้ก็คือกลุ่ม “ผู้แพ้สงคราม” นั่นเอง
ดังนั้น สังคมสมัยโน้นจึงนิยมการทำสงคราม เพราะไม่ใช่แค่ได้ดินแดนมาเท่านั้น แต่ยังได้ “แรงงาน” มาด้วย
สังคมยุโรปหมดความนิยมในการมีทาสในยุคกลางที่ความสัมพันธ์ทางการผลิตเปลี่ยน จาก “เจ้าที่ดิน” ได้กลายเป็นเหมือน “เจ้าชีวิต” ของพวกไพร่ติดที่ดินที่สามารถใช้ทั้งแรงงาน และรีดเอาผลผลิตแรงงานจากคนเหล่านี้ ต่อมาระบบแบบนี้รู้จักกันภายหลังว่าระบบฟิวดัลหรือศักดินา
ดังนั้นสำหรับสังคมยุโรปในช่วงนี้ ทาสจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะมีวิธีการควบคุมและรีดผลผลิตจากแรงงานในแบบอื่นแล้ว
2.
หลังจากคนยุโรปไป “ค้นพบ” ทวีปอเมริกา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่คนยุโรปคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ในผืนดิน กลับไม่มีแรงงานเพียงพอจะทำงาน ผลก็คือก็ต้องขนแรงงานไปทำงานจากที่อื่นๆ
แรงงานบางส่วนคือ “แรงงานชำระหนี้” ซึ่งก็คือชนชั้นล่างยุโรปที่เป็นลูกหนี้ และต้อง “ทำงานเหมือนทาส” ในเวลาที่กำหนดกับเจ้าหนี้เพื่อใช้หนี้ ซึ่งแรงงานพวกนี้โดนส่งไปทวีปอเมริกาจำนวนมาก แต่ดินแดนอเมริกานั้นกว้างใหญ่ไพศาล คนกลุ่มนี้จึงมีจำนวนไม่พอต่อการทำงาน
คนยุโรปก็เลยได้ไอเดียใหม่ คือก็ใช้แนวทางโบราณ ขาดแรงงาน ก็ไป “ซื้อทาส” มาทำงาน ปัญหาคือตอนนั้นในยุโรปไม่มีทาสแล้ว ระบบที่คนไปตีเมืองโน้นเมืองนี้แล้วจับคนมาเป็นทาสหายไปจากยุโรปแทบจะเป็นพันปีนั้นหายไปพร้อมๆ กับความล่มสลายของอาณาจักรโรมัน ดังนั้น การจะยกทัพไปตีประเทศเพื่อนบ้านแล้วจับพลเมืองมาเป็นทาสแล้วส่งไปทำงานที่อเมริกาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
แล้วจะไปหาทาสจากไหน?
คำตอบคือ “แอฟริกา”
3.
แอฟริกาเป็นทวีปที่การค้าทาสไม่เคยห่างหายไป และคนที่เอาทาสมาขายก็คือ “คนดำแอฟริกัน” ด้วยกันเอง ซึ่งต้องเข้าใจว่าสมัยโน้นไม่มีความคิดเรื่อง “คนดำทั้งผองพี่น้องกัน” แบบทุกวันนี้ คนจากคนละเผ่าก็คือคนละเผ่า ไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน การไปไล่ตีเผ่าอื่นจับคนมาเป็นทาสเพื่อเอาไปแลกกับสินค้าต่างๆ ที่พวกพ่อค้าเอามาขาย ก็เป็นเรื่องปกติ
เรียกได้ว่าการไปไล่จับคนมาเป็นทาสเพื่อแลกสินค้าไม่ได้ต่างจากการไป “หาของป่า” อื่นๆ เพื่อมาแลกสินค้าแต่อย่างใด
ในยุคกลางเวลานั้น พวก “ลูกค้า” หลักๆ คือพวกพ่อค้าชาวอาหรับ และพอคนยุโรปค้นพบทวีปอเมริกา คนยุโรปก็เลยเป็นลูกค้าหลักแทน โดยพวกคนดำแอฟริกาก็ยินดีมาก เพราะสินค้าที่คนยุโรปหามาให้เด็ดๆ ทั้งนั้น เรียกว่าไปไล่ตีเผ่าอื่นๆ เพื่อจับมาเป็นทาส เอามาแลกสินค้ากันสนุก
ดังนั้น คนยุโรป “ซื้อ” ทาสจริง แต่คนยุโรปไม่ได้ “จับ” คนดำมาเป็นทาสในช่วงการค้าทาสเฟื่องฟู แต่คนดำด้วยกันจับคนดำกันเองมาเป็นทาส และที่คนยุโรปไม่ลงไปจับคนดำมาเป็นทาสเอง เพราะทวีปแอฟริกานั้นกันดาร การบุกป่าฝ่าดงไปจับคนมาเป็นทาสไม่ใช่เรื่องง่าย การซื้อทาสจากคนพื้นเมืองที่จับคนพื้นเมืองด้วยกันมาเป็นทาสนี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด
นี่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่หาอ่านได้ไม่ยากเลยในงานประวัติศาสตร์ แต่ระยะหลังคนมักจะเลี่ยงพูดถึงจุดนี้ และเน้นพูดถึงความโหดร้ายที่ทาสคนดำต้องเจอในทวีปอเมริกาแทน เพื่อย้ำว่าคนขาวนั้นโหดร้าย
แต่…มีแค่คนขาวที่โหดร้ายกับทาสคนดำจริงหรือ?
4.
แม้แต่ในทวีปอเมริกา คนดำก็มีทาส และ “นายทาส” คนแรกๆ ของอเมริกาเป็นคนดำด้วย ชื่อ Anthony Johnson ที่เป็นแบบนี้เพราะ Johnson เป็นคนดำที่ติดหนี้ เลยต้องมาทำงานเป็นแรงงานใช้หนี้ พอเขาใช้หนี้สำเร็จก็ค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวย แล้วก็ซื้อคนดำจากแอฟริกามารับใช้
ซึ่งต้องเข้าใจว่าสมัยอาณานิคม กฎหมายต่างๆ ก็ใช้ระบบยุโรป ดังนั้นในสารบบกฎหมายจึงไม่มีคอนเซ็ปต์ “ทาส” ในอาณานิคมอังกฤษที่อเมริกา
ทีนี้ปรากฎว่าคนดำที่ Johnson ซื้อมาดันหนี แล้วเขาจับได้ เอาไปขึ้นศาล แล้วเขาก็ต่อสู้ว่าคนดำคนนี้เขาซื้อมา ดังนั้นเขามีสิทธิ์เหนือชายคนนี้ไม่ได้ต่างอะไรกับสิ่งของที่เขาซื้อมาโดยชอบธรรม ศาลก็เลยตัดสินว่าสถานะของคนดำที่หนีไปนั้นคือ “ทาส” ที่เป็น “ทรัพย์สิน” ของ Johnson และเป็นการสร้างคอนเซ็ปต์ “ทาส” ครั้งแรกในระบบกฎหมายอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดในศตวรรษที่ 17 ตั้งแต่อเมริกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ผ่านมาสองสามร้อยปีมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าอเมริกาจะเป็นอาณานิคมอังกฤษ หรือจะประกาศเอกราชของตนเอง ทาสจากแอฟริกาถูกส่งในอเมริกามหาศาล กลายเป็นฐานให้ระบบการผลิต และเศรษฐกิจที่ใหญ่โตในรัฐทางใต้ของอเมริกาที่สินค้าหลักๆ คือ “ฝ้าย” อันเป็นสินค้าที่ส่งไปป้อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปที่เริ่มจากการทำสิ่งทอ
พูดง่ายๆ คืออังกฤษจะไม่สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ ถ้าแรงงานทาสอเมริกาไม่ได้ปลูกฝ้าย แล้วส่งไปให้อังกฤษแปรรูป
5.
ในยุคนั้น คนมักจะจินตนาการว่าโลกของ “คนใต้” ในสหรัฐอเมริกาคือครอบครัวคนขาวที่อยู่บ้านใหญ่ๆ ริมไร่ฝ้าย แล้วมีทาสคนดำหลายสิบเป็นคนรับใช้
แต่คนที่คิดแบบนั้นอาจลืมนึกไปว่า ถ้าประชากรคนดำเยอะขนาดนั้น ทุกวันนี้อเมริกาก็คงจะมีแต่คนดำแล้ว
ในความเป็นจริง คนดำในทางตอนใต้ของอเมริกามักจะอยู่ในชนบท ถ้าดูประชากรในรัฐทางใต้ที่คนดำเยอะที่สุด ประชากรคนดำจะอยู่ราวๆ 45% ขณะที่คนขาวมีราวๆ 55% ยังไงคนขาวก็เยอะกว่าคนดำ แต่ถ้าไปดูที่ชนบท คนขาวจะมีแค่ราวๆ 40% อีก 60% เป็นคนดำ
ถ้ามาดูประชากรทั้งหมด เราจะพบว่าคนขาวที่เป็นนายทาสแค่ 6% ของประชากรคนขาวทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งนี่คือข้อมูลจากงานวิจัยระดับเข้มข้นที่จะฉายภาพสังคมอเมริกาตอนใต้ช่วงปี 1830 ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า “นายทาส” นั้นเป็นคนส่วนน้อยของคนขาวด้วยซ้ำ
และคิดๆ ดูเหตุผลก็ไม่ได้แปลกอะไร ที่เป็นแบบนี้ คนมีทาสต้องรวย ไม่รวยมีทาสไม่ได้ และคนขาวในอเมริกาก็ไม่ได้รวยไปหมดทุกคน ดังนั้นปัญหาเรื่องทาสจึงเป็นเรื่อง “ชนชั้น” มากกว่า “สีผิว” และก็ไม่แปลกที่คนขาวจนๆ จำนวนมากก็ไม่ได้แฮปปี้เวลาคนดำมาเรียกร้องให้คนขาวทั้งหมดชดใช้ เพราะในความเป็นจริง ตระกูลของคนขาวจนๆ ก็ไม่น่าจะเคยเป็น “นายทาส” มาก่อน ดังนั้น บรรพบุรุษของพวกเขาจึงไม่ได้มีส่วนร่วมกับระบบทาสแบบที่คนดำอ้างกัน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือไม่ใช่แค่คนขาวที่รวยที่มีทาส คนดำที่รวยก็มีทาสเช่นกัน โดยงานวิจัยชี้เลยว่าคนดำถึง 2% ของรัฐทางใต้ มีทาสเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ต่างจากตัวเลข 6% ของคนขาวที่มีทาสของตัวเองเท่าไร
6.
ทำไมคนดำถึงมีทาส? ถ้าคิดบนฐานปัจจุบัน นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้เลย แต่นี่เป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น และก็ไม่แปลกถ้าคนดำที่มีฐานะทุกคนในรัฐที่มีทาสได้ ก็ล้วนจะมีทาสกันทั้งนั้น
ในสมัยก่อน นักประวัติศาสตร์จะอธิบายว่าที่คนดำมีทาส จริงๆ ไม่ได้ซื้อเอามา “รับใช้” แต่จะเป็นการซื้อเมียไปจนถึงญาติพี่น้องให้พ้นจากการเป็นทาสของนายทาสคนอื่น ซึ่งเหตุผลที่คนพวกนี้ยังมีสถานะเป็นทาสอยู่ ไม่เป็น “คนดำอิสระ” เพราะในหลายๆ รัฐ การปลดปล่อยให้ทาสเป็นอิสระยุ่งยากมาก คือต้องขอเอกสารราชการวุ่นวาย และไม่ได้มาง่ายๆ แถมบางรัฐมีข้อกำหนดอีกว่า ถ้าทาสเป็นอิสระแล้วต้องออกจากรัฐภายในเวลาที่กำหนด ไม่งั้นต้องกลับเป็นทาสอีก
นี่คือคำอธิบายพื้นฐานว่าทำไมคนดำถึงมีทาส แต่ในความเป็นจริง คนดำไม่น้อยก็ไม่ได้มีทาสเพียงแค่คนสองคน แต่มีหลายสิบคน และทาสจำนวนมากก็ไม่ใช่ญาติพี่น้องที่ถูกซื้อมาเพื่อให้มีอิสรภาพแน่ๆ ซึ่งนายทาสคนดำที่มีประวัติบันทึกละเอียดที่สุดก็คือนายทาสคนดำชื่อ William Ellison ที่เกิดมาเป็นทาส แต่นายใจดี ให้ร่ำเรียนเป็นช่างทำเครื่องปั่นด้าย โตมาเก็บหอมรอมริบซื้ออิสรภาพตัวเอง และก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับฝ้ายต่อมา โดยก็ซื้อทาสคนดำมาทำงานให้ไม่ได้ต่างจากคนขาวที่ทำธุรกิจแบบเดียวกัน
ทาสของคนดำรวยๆ เหล่านี้ ก็คือทาสแบบทาสของคนขาว คือซื้อมาใช้งาน และสภาพความเป็นอยู่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ ชี้ว่านายทาสคนดำจะปฏิบัติดีกว่านายทาสคนขาว กล่าวคือ ก็มีปฏิบัติดีและไม่ดีปะปนกันไป การให้อาหารชั้นเลวที่สุดกับทาสกินเป็นเรื่องปกติของนายทาส ไม่ว่าจะคนขาวหรือดำ หรือการโบยตีเมื่อทาสกระทำผิด ก็ล้วนเป็นเรื่องปกติ
ในแง่นี้ไม่ว่าจะคนขาวหรือดำ ก็มีส่วนกับระบบ “ทาส” เหมือนกัน การจะบอกว่าคนขาวมีส่วนมากกว่านั้นดูจะผิด เพราะในความเป็นจริง กลุ่มคนที่มีส่วนกับระบบทาสมากที่สุด
คือ “คนรวย” ไม่ว่าจะผิวสีอะไร
7.
ดังนั้น ตามที่กล่าวมาทั้งหมด การบอกว่าระบบทาสเป็น “ความผิดของคนขาวทั้งหมด” เลยเป็นการกล่าวอ้างแบบผิดฝาผิดตัวของขบวนการคนดำที่คนขาวจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วย และก็มีข้อโต้เถียงมากมายดังที่กล่าวมา
แน่นอนว่า ระบบทาสจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือคนขาวไม่ได้มีความผิดใดๆ ในระบบทาสในอเมริกา แต่ประเด็นคือ แนวคิดพื้นฐานที่ว่า “คนขาวทั้งหมด” มีความผิดในการเริ่มสร้างระบบทาสขึ้นมาในอเมริกา ในระดับที่ควรจะต้องชดใช้แค่เพียงกลุ่มเดียวนั้น ดูจะไม่ยุติธรรมกับ “คนขาวทั้งหมด” เพราะแม้แต่คนขาวทางใต้เอง ก็มีแต่คนขาวรวยๆ เท่านั้นที่จะมีทาส คนขาวจนๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีทาส นอกจากนี้ คนดำรวยๆ ก็มีทาสกันมากมาย และก็ไม่ได้เลี้ยงดูทาสต่างจากคนขาว
แน่นอน ทุกวันนี้คนดำได้รับความอยุติธรรม และต้องมีการเคลื่อนไหวที่จะลดความเหลื่อมล้ำอันซ้ำซ้อนที่คนดำประสบ แต่ทุกอย่างก็ควรจะมาจากข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง มากกว่าการบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าข้าง “ผู้ถูกกดขี่”
อ้างอิง:
- Eric Wolf. Europe and People without History. (California: University of California Press, 1982)
- David L. Lightner and Alexander M. Ragan. “Were African American Slaveholders Benevolent or Exploitative A Quantitative Approach”. The Journal of Southern History, Vol. 71, No. 3 (Aug., 2005), pp. 535-558
- Slate. Slavery Myths Debunked. https://bit.ly/2FNS183
- Wikipedia. Slavery in the United States. https://bit.ly/32OBV79