พูดถึง ‘บีเวอร์’ คนทั่วๆ ไปน่าจะนึกถึงสัตว์ตระกูลหนูที่ตัวใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชอบ “สร้างเขื่อน”
กิจวัตรของบีเวอร์คือการสร้างเขื่อนตามลำธาร และเขื่อนที่บีเวอร์สร้างก็ส่งผลดีต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล ระดับที่บางคนบอกว่า “ช่วยลดโลกร้อน”
แต่ในที่นี้ เราจะพูดถึง “เครื่องมือ” สำคัญที่ทำให้บีเวอร์สร้างเขื่อนได้ ซึ่งก็คือ “ฟัน” ของมัน
บีเวอร์เป็นสัตว์ที่เรียกได้ว่า มีฟันที่แข็งแรงที่สุด ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ฟันของบีเวอร์ไม่ได้มีสีขาวๆ เหลืองๆ แบบสัตว์ตระกูลหนูอื่นๆ แต่จะมี “สีส้ม” เนื่องจากวัสดุชั้นนอกที่สุดของฟัน หรือที่เรียกว่า “เคลือบฟัน” (enamel) ทำจากเหล็ก
“เหล็ก” แบบที่คนทั่วไปเข้าใจนี่แหละ แต่เหล็กที่เรารู้จักที่มีสีเงินๆ นั้นเป็นเหล็กที่แปรรูปมาแล้ว เพราะแร่เหล็กที่พบตามธรรมชาติจะมีสีส้มๆ แบบฟันของบีเวอร์เลย
ซึ่งการที่เคลือบฟันของบีเวอร์เป็นเหล็ก ก็เอื้อให้มันสามารถกัดกิ่งไม้เพื่อเอาไปทำเขื่อนได้นั่นเอง
ได้ยินแบบนี้ ก็อย่าเพิ่งกลัวบีเวอร์ เพราะปกติบีเวอร์ไม่ทำร้ายคน นอกจากมันถูกคุกคามจริงๆ ซึ่งก็คงเหมือนสัตว์ทุกชนิด ถ้าจนมุมก็จะสู้สุดชีวิต
และในกรณีของบีเวอร์ การกัดครั้งเดียวอาจทำให้เส้นเลือดแดงขาดได้ง่ายๆ และนั่นอาจหมายถึงการที่เลือดไหลจนเสียชีวิต
ดังนั้น ถ้าเห็นบีเวอร์ตามธรรมชาติ ก็อย่าไปยุ่งไปแหยม เพราะการกัดของมัน เรียกได้ว่าโหดกว่าสุนัขหลายขุม
ทีนี้ เราจะรู้เรื่องบีเวอร์มีฟันเป็น “เหล็ก” ไปทำไม?
คำตอบคือ ความแข็งแรงของฟันบีเวอร์กำลังเป็นที่สนใจในสาขาวิชาทันตแพทย์ศาสตร์
เพราะเป้าพื้นฐานของวิชานี้คือการสร้างฟันที่แข็งแรงที่สุด
ทันตแพทย์พบว่า นอกจากบีเวอร์จะมี “ฟันเหล็ก” ที่แข็งแรงแล้ว มันยังเป็นสัตว์ที่ฟันไม่ผุอีกด้วย
ทำไม?
ต้องบอกว่า ฟันผุนั้นไม่ได้เกิดจากแบคทีเรียในปากไป “กินเนื้อฟัน” แบบที่เราจำกันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เกิดจากแบคทีเรียต่างๆ ทำปฏิกิริยาในช่องปาก และมันคาย “กรด” ออกมา และกรดที่ว่านี้มีฤทธิ์กัดกร่อนเคลือบฟัน และทำให้ฟันเราผุ
ส่วนสาเหตุที่บีเบอร์ฟันไม่ผุ เป็นเพราะวัสดุที่เคลือบฟันคือ “เหล็ก” นั่นเอง
ถ้ากลับมาดูคุณสมบัติทางเคมี ก็จะพบว่าเหล็กมีความทนทานต่อกรดมาก
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยด้านทันตแพทย์ศาสตร์จึงพยายามเฟ้นหาสารใหม่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากฟันของบีเวอร์มาเคลือบฟันคนให้แข็งแรงขึ้นและไม่ผุ
แล้วทำไมไม่เอาเหล็กเคลือบฟันแบบบีเวอร์ไปเลย?
คำตอบคือ มันไม่สวย เพราะคงไม่มีใครอยากจะมีฟันสีส้มแบบบีเวอร์ แม้ว่านั่นจะทำให้ฟันเราแข็งและไม่ผุก็ตาม
ดังนั้น นักวิจัยจึงพยายามหาแร่ธาตุอื่นๆ ที่จะเคลือบฟันได้ดีกว่าฟลูออไรด์ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องทำให้สีของฟันไม่เปลี่ยนไปจากสีธรรมชาติ
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ข้างต้นสะท้อนว่า การ “พัฒนา” ร่างกายให้แข็งแกร่งขึ้น บางทีไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องทางสังคม เช่น คนเราจะเคลือบฟันด้วยเหล็กแบบบีเวอร์ก็ได้ แต่ฟันก็จะสีเหมือนบีเวอร์ คนก็เลยไม่ทำกัน
นี่เป็นบทเรียนสำหรับทุกคนที่พยายามสร้างเทคโนโลยีเพื่อพัฒนา “คุณภาพชีวิต” ของมนุษย์
เพราะเราจะมองในทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากมนุษย์ไม่ได้เลือก “ของที่ดีที่สุด” ในทางวิทยาศาสตร์เสมอ แต่มนุษย์เลือกภายใต้เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมไปจนถึงรสนิยมส่วนตัวอะไรสารพัด
และเราก็ไปบังคับมนุษย์ให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ซะด้วย