ก่อนหน้านี้นักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาคอนเฟิร์มว่า ‘แมว’ เป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการจดจำชื่อจากเสียงที่เราเรียกได้ ส่วนเรื่องที่ว่าน้องจะขานรับหรือไม่ ก็ว่ากันไปตามอารมณ์ (ความเอาแต่ใจ) และเป็นเรื่องที่ทาสต้องจำยอมศิโรราบ (ห้ามหืออือ)
แต่มากไปกว่าการจดจำชื่อตัวเองได้ ตอนนี้เราไขคำตอบได้อีกข้อว่า เหล่าเหมียวๆ ยังสามารถจดจำชื่อเพื่อนเหมียวได้อีกด้วย และก็เป็นนักวิจัยจากญี่ปุ่นอีกเช่นเคยที่ไขปริศนานี้ให้ทราบ
โดยเรื่องราวในคราวนี้เป็นผลงานของ ซาโฮ ทาคากิ (Saho Takagi) นักวิจัยด้านสัตวศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอาซาบุ (Azabu University) และทีมงาน
ในการทดลอง ทีมวิจัยได้ศึกษาแมวบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมชายคากับเพื่อนแมวหลายตัว ผ่านการฉายใบหน้าเพื่อนแมวในบ้านบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมเรียกชื่อของแมวตัวนั้นและชื่อที่เป็นของแมวตัวอื่น
สิ่งที่พวกเขาพบคือ น้องจะใช้เวลาในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานขึ้นเมื่อชื่อที่เรียกไม่ตรงกับใบหน้าที่ปรากฏ ซึ่งตรงจุดนี้เองทำให้ทีมวิจัยเชื่อว่าเป็นอาการสับสนงุนงงระคนแปลกใจของน้องว่าทำไมชื่อถึงไม่ตรงปก
แต่พอเอาวิธีนี้ไปทดสอบกับแมวที่อยู่ในคาเฟ่ ปรากฏว่าน้องจะไม่มีอาการฉงนกับการเรียกชื่อที่ผิดแปลกไปจากใบหน้า ซึ่งนักวิจัยคิดว่าเป็นเพราะแมวที่อาศัยอยู่ในคาเฟ่ต้องอยู่กับเพื่อนจำนวนมาก น้องเลยไม่ได้สนิทคุ้นเคยกับเพื่อนๆ ทุกตัว และไม่ได้สนใจชื่อของกันและกันมากนัก
ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์คล้ายๆ กับการทดลองเรียกชื่อแมวตามคาเฟ่ว่าน้องรู้จักชื่อตัวเองไหม โดยแมวตามคาเฟ่ไม่ค่อยจะตอบสนองต่อการทดลองมากนัก สาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมของคาเฟ่ที่เต็มไปด้วยเพื่อนเหมียวหลายตัว ทั้งยังต้องพบปะกับผู้คนแปลกหน้าทั้งวัน น้องจึงแยกไม่ออกว่าเสียงไหนคือชื่อตัวเอง เสียงไหนคือชื่อเพื่อนแมว
และที่สำคัญ เป็นเพราะกิจวัตรที่ต้องไวต่อเสียงเรียกทุกแบบ เพื่อจะรีบไปรับขนมที่ลูกค้านำมาประเคนให้ น้องก็เลยไม่สามารถเรียนรู้ จดจำ หรือจำแนกเสียงเรียกชื่อไปโดยปริยาย
และถ้าเอาเรื่องมาเชื่อมโยงกัน ก็คงได้คำตอบว่า ขนาดชื่อตัวเองยังจำไม่ได้ แล้วจะจำชื่อเพื่อนได้อย่างไร
การค้นพบของนักวิจัยด้านสัตวศาสตร์ครั้งนี้ ทำขึ้นเพื่อต้องการให้บรรดาทาสหรือไม่ใช่ทาสก็ตามได้ทราบว่า แม้แมวดูเหมือนไม่สนใจและไม่ฟังบทสนทนาของผู้คน แต่จริงๆ แล้วน้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่จะตอบสนองหรือไม่ก็เท่านั้น
แต่เรื่องนี้ก็ต้องหมายเหตุไว้เสียหน่อยว่า ผลการศึกษานี้คงไม่สามารถเอามาพูดแทนแมวทั้งหมดได้ เนื่องจากศึกษาในกลุ่มที่ค่อนข้างเล็ก คือจากแมวบ้าน 48 ตัว และแมวในคาเฟ่อีก 29 ตัว รวมถึงยังมีเรื่องที่ต้องเชื่อมโยงว่าปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ยังคงต้องศึกษาต่อไปอีกมาก
แต่ผลลัพธ์ครั้งนี้ ก็ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่า แมวบ้านสามารถเชื่อมโยงคำพูดของมนุษย์ และประสบการณ์ทางสังคมที่น้องเคยชินในทุกๆ วัน มีผลต่อการจดจำ
ซึ่งก็ไม่แน่ว่า มันจะเกี่ยวกับเรื่องที่คนญี่ปุ่นใช้วิธีตามหาแมวหายด้วยการกระซิบฝากแมวจรให้ไปตามทูนหัวกลับมาให้หน่อยหรือเปล่า
ถ้ามันเชื่อมโยงกันจริงๆ เราคงต้องศึกษาล้วงลึกกันถึงการใช้ภาษาแบบแมวๆ กันจริงๆ จังๆ แล้วล่ะ
อ้างอิง
- Science Alert, Cats Remember Each Other’s Names, Japanese Study Suggests, https://shorturl.asia/0gpMl