“รู้ไหมระยะห่างระหว่างกันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้วในสัตว์ทุกประเภท”
ตั้งแต่มีมาตรการ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร คนส่วนใหญ่เริ่มเคยชินกับการเว้นระยะห่างกับคนอื่น
อันที่จริง ถ้าไม่นับเรื่องการป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมนุษย์เรามีการเว้นระยะห่างทางสังคมกันมานานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วย ทฤษฎี Personal Space
ในทางมนุษย์วิทยา Personal Space คือพื้นที่ส่วนตัว หรือช่องว่างระหว่างบุคคลในสังคม
ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนกับพื้นที่วงกลมล่องหนรอบตัวเราที่กางแผ่เป็นอาณาเขตส่วนบุคคล ซึ่งปรับเปลี่ยนระยะได้ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น อารมณ์ ความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
สิ่งนี้เกี่ยวพันกับสมองที่ตื่นตัวกับสิ่งเร้ารอบข้างโดยไม่ต้องมีใครสอน คล้ายกับสัญชาตญาณในการระวังตัวในคน และสัตว์
ระยะห่างทางสังคมในสัตว์
รู้ไหมว่า นอกจากมนุษย์ สัตว์ก็มี Personal Space เหมือนกัน
ในปี 1950 หัวหน้าสวนสัตว์ของสวนสัตว์ Zurich ชื่อว่า Heini Hediger เล่าว่า เขาสังเกตเห็นสัตว์ส่วนใหญ่มีการสร้างอาณาเขตของตัวเอง เพื่อเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง
เช่น เวลาสัตว์ป่าเห็นสัตว์ดุร้ายอย่างสิงโต มันจะยังไม่วิ่งหนี แต่จะรอนิ่งๆ จนกว่าสิงโตจะรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตส่วนตัว มันถึงจะเริ่มหนี
กระทั่งสัตว์ที่เป็นมิตรอย่างนกนางนวล แม้แต่ในฝูงตัวเอง ก็ยังมีระยะห่างต่อกัน โดยระยะและพื้นที่ส่วนตัวของพวกมันจะขยายไปตามขนาดของพื้นที่ และจำนวนประชากร
หรือหากพูดถึงสัตว์ดุร้ายอย่างสิงโตในแอฟริกา พวกมันจะมีพื้นที่อาณาเขตในรัศมี 50 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น โดยพวกมันจะอุจจาระและปัสสาวะเพื่อสร้างอาณาเขต
อย่างไรก็ตาม สิงโตแต่ละตัวจะอยู่ห่างกันไม่เกิน 7 เมตร หรือมากน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร
ระยะห่างทางสังคมในมนุษย์
ในปี 1966 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน Edward Hall ศึกษาเรื่องระยะห่างส่วนบุคคลในมนุษย์ และสร้างทฤษฎี Proxemics ซึ่งมาจากคำว่า “proximity” หรือการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด หรือเรียกว่า “อวัจนภาษา” โดยแบ่งระยะห่างระหว่างบุคคลออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะสนิทสนม (Intimate Distance)
ระยะประมาณ 0 – 15 ซม.
เป็นระยะสำหรับผู้ที่มีความสนิทสนม และรู้สึกพิเศษต่อกัน เช่น คู่รัก ครอบครัว เพราะเป็นระยะที่มีความใกล้ชิดกันมาก ในอีกแง่หนึ่ง ระยะนี้อาจใช้ในเหตุการณ์เฉพาะอย่าง เช่น การเล่นมวยปล้ำ
2. ระยะส่วนตัว (Personal Distance)
ระยะประมาณ 45 – 120 ซม.
เป็นระยะที่เราใช้กับเพื่อน หรือคนที่สนิทสนมกัน มีระยะที่เอื้อมมือถึงกัน แต่ไม่ได้ใกล้ชิดกันจนเกินไป ในระยะเท่านี้ เรายังมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง
3. ระยะสังคม (Social Distance)
ระยะประมาณ 1.2 – 3.6 เมตร
เป็นระยะที่มักใช้กับคนที่ไม่คุ้นเคย หรือใช้ในทางสังคม ภาษา ท่าทางการแสดงออกอยู่ในระดับที่มีมารยาท และนี่คือระยะห่างที่ภาครัฐใช้เป็นมาตรการป้องกันในยุค COVID-19
4. ระยะสาธารณะ (Public Distance)
ระยะประมาณ 3.6 เมตรขึ้นไป
มักเป็นระยะในการสื่อสารทางเดียว เช่น การกล่าวคำปราศรัย หรือการพูดในที่สาธารณะ
นอกจากนี้ ผลวิจัยบางชิ้นระบุว่า พฤติกรรมการสร้างพื้นที่ส่วนตัวมาจากกลไกของสมอง โดยสมองส่วนที่สร้างเซลล์ประสาทที่ควบคุมพื้นที่รอบๆ ตัว ทำหน้าที่เหมือนเรดาห์ และเมื่อเซลล์ประสาททำงานหนักมากๆ จะทำให้การเคลื่อนไหวของเราเปลี่ยนแปลงแบบอัตโนมัติ
“บททดสอบหนึ่งชี้ว่า ระยะพื้นที่ส่วนตัวของมนุษย์จะอยู่ที่ด้านหน้า มากกว่าด้านข้างหรือด้านหลัง”
ลองนึกถึงเหตุการณ์สมมติ เช่น เมื่อเราขึ้นรถไฟฟ้า BTS เราจะหลีกเลี่ยงที่จะไม่สบตา หรือประจัญหน้าตรงๆ กับผู้คนบนนั้น และเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัย และพึงพอใจมากกว่า นี่คือ “Self Protection” อย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกขึ้น จะพบว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์มีจิตวิญญาณในการเรียกร้อง “พื้นที่ส่วนตัว” อยู่แล้ว เช่น
– เมื่อไปดูหนังคนเดียว คนส่วนใหญ่จะจองที่นั่งโดยเว้นระยะกับคนอื่น
– การวางของจองโต๊ะอาหารกลางวัน หรือการจองโต๊ะในห้องสมุด
– เวลาผู้ชายเข้าห้องน้ำ ถ้ามีโถปัสสาวะอยู่ 3 ใบ คนส่วนใหญ่จะเลือกโถในสุด คนต่อมาก็จะเลือกโถนอกสุด โดยเว้นโถตรงกลางไว้ หากใครเลือกโถที่ใกล้กับอีกคน ขณะที่โถไกลกว่าว่างอยู่ จะเป็นการสร้างความอึดอัดใจ และรู้สึกถูกคุมคามอยู่บ้าง
ตัวอย่างข้างต้น สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมการเลือกเข้าห้องน้ำของผู้หญิงได้เช่นกัน
คุณมี Personal Space มากน้อยแค่ไหน?
หาคำตอบด้วยแบบทดสอบง่ายๆ ต่อไปนี้
ลองไปกินข้าวกลางวันกับใครสักคน
หลังจากจานอาหารมาเสิร์ฟ ลองเลื่อนภาชนะบางอย่างบนโต๊ะ เช่น เครื่องปรุงหรือขวดน้ำ ให้กินพื้นที่ของอีกฝ่ายแบบเนียนๆ แล้วลองสังเกตอาการคนที่นั่งตรงข้าม
หากคนนั้นเผลอเอนตัวไปข้างหลัง นั่นแสดงว่า เขารับรู้ว่า Personal Space ของตัวเองกำลังโดนรุกล้ำ จึงเอนตัวไปข้างหลังเพื่อรักษาระยะให้เท่าเดิม
นี่คือสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
แล้วคุณล่ะ? ลองถามตัวเองด้วยแบบทดสอบข้างต้น ว่าคุณมี Personal Space ของตัวเองแค่ไหน
ถ้ารู้แล้ว อย่าลืมแชร์ให้เรารู้กันบ้างนะ 🙂
อ้างอิง:
-
westsidetoastmasters.com. PERSONAL SPACE OWNERSHIP. https://bit.ly/2Ewh5jo
-
Patta.pond. เข้าใจคนรอบตัวมากขึ้น ด้วยทฤษฎี 45 cm. https://bit.ly/2G5zMec