4 Min

‘รีพับลิกัน’ จากพรรคหัวก้าวหน้าที่ยกระบบเลิกทาส สู่พรรคอภิมหาอนุรักษ์นิยม

4 Min
980 Views
01 Nov 2020

ในโลกนี้ ถ้าจะมีพรรคการเมืองสักพรรคที่ “ทรงพลัง” ที่สุด น่าจะเป็นพรรครีพับลิกันของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา เพราะพรรคนี้มีประธานาธิบดีที่ปกครองอเมริกามาแล้ว 19 คน (คนล่าสุดคือ โดนัลด์ ทรัมป์) มากกว่าพรรคเดโมแครตที่มีประธานาธิบดีเพียง 15 คน ทั้งๆ ที่พรรคเดโมแครตมีอายุพรรคมากกว่าพรรครีพับลิกันหลายสิบปี

1.

พรรครีพับลิกันในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ หลายคนก็คงเห็นภาพของพรรคที่มีแนวทางชาตินิยม ต่อต้านผู้อพยพทุกรูปแบบ สนับสนุนการถือครองอาวุธปืน คลั่งศาสนาพอควร ตั้งคำถามกับวิทยาศาสตร์ รังเกียจรัฐสวัสดิการ ฯลฯ

พรรคนี้คือตัวอย่างของ ‘พรรคชาตินิยมขวาจัด’ ขนานแท้

คนที่รู้จักพรรครีพับลิกันจะรู้ว่าพรรคนี้เป็นแบบนี้มานานแล้ว เพราะในยุคสมัยของประธานาธิบดีพ่อลูกจอร์จ บุช ก็มาแนวนี้เช่นกัน (แต่เบากว่าทรัมป์หลายขุม)

เรื่องจริงที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับพรรคนี้ก็คือ ประธานาธิบดีคนแรกจากพรรคนี้ชื่อ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) คนที่ทำการเลิกทาสในอเมริกา

พรรครีพับลิกันในยุคก่อตั้งถือว่า “ก้าวหน้า” มาก เพราะเป็นการรวมตัวของคนที่ต้องการจะเลิกทาส

คำถามคือ พรรคที่เคย “ก้าวหน้า” กลายมาเป็น “อนุรักษ์นิยม” แบบทุกวันนี้ได้อย่างไร?

2.

พรรครีพับลิกันของอเมริกาตั้งในตอนกลางศตวรรษที่ 19 เวลานั้นอเมริกามีหลายพรรคการเมือง พรรคต่างๆ มีการยุบและตั้งกันบ่อย

ปัญหาแกนกลางของอเมริกาในยุคนั้นก็คือ อเมริกาควรมีระบบทาสอีกต่อไปหรือไม่? และนี่คือคำถามใหญ่ เพราะอเมริกาเป็นชาติที่เจริญแล้ว และในชาติที่เจริญสมัยนั้น ไม่มีใครมีทาสแล้ว เพราะทาสเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ศิวิไลซ์

ปัญหาเรื่องทาสทำให้นักการเมืองหน้าเก่าจำนวนมาก รวมถึงพรรคการเมืองที่มีอยู่แตกแยกกัน และผลสรุปสุดท้ายคือนักการเมืองที่ต้องการเลิกทาสได้มารวมตัวกันเป็นพรรครีพับลิกัน โดยมี อับราฮัม ลินคอล์น เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก

ตอนตั้งพรรค รีพับลิกันได้อดีตสมาชิกพรรคเดโมแครตฝ่ายที่ต้องการให้เลิกทาสมาเข้าร่วมด้วย (สมัยนั้นพรรคเดโมแครตคือพรรคที่ยืนยันแข็งขันว่า อเมริกาควรจะคงระบบทาสเอาไว้)

หลังจากลินคอล์นชนะเลือกตั้ง และเกิดสงครามกลางเมือง ก่อนจะจบลงที่ชัยชนะของ “ฝ่ายเหนือ” หรือฝ่ายรัฐบาลกลาง จนถึงศตวรรษที่ 19 อเมริกามีประธานาธิบดีอีก 8 คน และใน 6 คนนั้นล้วนมาจากพรรครีพับลิกัน

พรรครีพับลิกันคือพรรคที่ครองอเมริกาในครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 และครองยาวมาจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว

3.

ในช่วงศตวรรษที่ 19 พรรครีพับลิกันยังไม่ได้เป็นพรรครีพับลิกันแบบที่เรารู้จักทุกวันนี้ สมัยโน้นพรรคมีนโยบายที่ “ก้าวหน้า” มาก มีการเพิ่มสวัสดิการให้ข้าราชการรัฐบาลกลางสารพัด รวมถึงมีโครงการใหญ่ๆ ในการเชื่อมประเทศเข้าหากัน เช่น การสร้างทางรถไฟในอเมริกา ฯลฯ นับเป็นพรรคที่บุกเบิก “รัฐสวัสดิการ” เลยก็ว่าได้
แล้วทำไมพรรครีพับลิกันถึงเปลี่ยนไป?

คำตอบคือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่หรือ The Great Depression ในช่วง 1930’s
วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกา อัตราการว่างงานเกิน 20% และเลวร้ายเกินจินตนาการ

อเมริกา ชาติที่เคยเจริญเพื่องฟูในยุค 1920’s (โปรดนึกถึง The Great Gatsby) กลายมาเป็นยาจกเตะฝุ่นในยุค 1930’s

ประเด็นคือ เมื่อประเทศเมีวิกฤติใหญ่ ผู้คนย่อมโทษรัฐบาล และในกรณีของอเมริกาก็คือโทษการบริหารประเทศของรัฐบาลกลางและประธานาธิบดี

ซึ่งหมายความว่าคนอเมริกันเวลานั้นมองว่าพรรครีพับลิกัน “บริหารประเทศไม่ดี” มาต่อเนื่องยาวนาน จึงนำมาสู่หายนะของประเทศ

ความนิยมที่ลดลงของรีพับลิกัน ได้เปิดช่องว่างให้ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ตัวแทนของพรรคเดโมแครตกลายเป็น “ทางเลือกใหม่” ของคนอเมริกา และชนะเลือกตั้งถล่มทลายในปี 1932 และเปลี่ยนขั้วการเมืองอเมริกาไปอีกนาน

เพราะหลังจากนั้น พรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้งต่อเนื่อง และครองอเมริกามาถึง 20 ปี ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์ใหญ่ เนื่องจากตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเมื่อร้อยปีก่อน พรรคเดโมแครตไม่เคยครองอเมริกาได้นานถึง 3 สมัยประธานาธิบดี

 

4.

การครองอเมริกาของพรรคเดโมแครตช่วงนั้นเปลี่ยนอเมริกามาก เพราะเป็นการครองอเมริกาช่วงวิกฤติเศรษฐกิจยาวจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และสิ่งที่เปลี่ยนไปไม่น้อยกว่าอเมริกา คือตัวพรรคเดโมแครตเอง

ในการเมืองระบบ 2 พรรคใหญ่ ความคงเส้นคงวาของ “อุดมการณ์” สำคัญน้อยกว่าความสามารถของพรรคในการแสดงตัวเป็น “ทางเลือก” ที่แตกต่างให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง

และสิ่งที่พรรคเดโมแครตทำในยุคของ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ เรียกว่าพลิกจุดยืนพรรคในอดีตอย่างสิ้นเชิง

เนื่องจากในอดีตพรรคเดโมแครตเชื่อในการจำกัดอำนาจรัฐบาลกลาง ขณะที่ พรรครีพับลิกันเชื่อในการขยายอำนาจรัฐบาลกลาง

ทว่าพรรครีพับลิกัน “ล้มเหลว” ในการป้องกันและจัดการวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของชาติ สิ่งที่พรรคเดโมแครตทำในเวลานั้น จึงไม่ใช่การ “ลดอำนาจรัฐบาลกลาง” ตามแนวทางของพรรคในอดีต แต่เป็นการ “ขยายอำนาจรัฐบาลกลาง” ซึ่งออกมาในรูปแบบการกำกับดูแลธุรกิจสารพัด การออกโครงการสวัสดิการสังคม ไปจนถึงอะไรต่างๆ ที่เป็น “การแทรกแซงเศรษฐกิจ”

แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประสบความสำเร็จในนโยบายแนวใหม่ และเป็นแนวทางของพรรคในยุคหลังจากนั้น นั่นคือเน้นเพิ่มอำนาจรัฐบาลกลางและสวัสดิการสังคม โดยขยายอำนาจรัฐบาลกลางพีคในช่วงยุค 1960’s ที่รัฐบาลกลางของพรรคเดโมแครตออกกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบพร้อมให้สิทธิคนดำในการเลือกตั้งถ้วนหน้า ภายหลังการประท้วงอย่างหนักเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนอเมริกัน
นโยบายในยุคนี้ได้เป็นจุดเริ่มของพรรคเดโมแครตในทุกวันนี้ที่เป็น “มิตรแท้คนดำ” และคนดำก็พร้อมจะเทคะแนนให้

5.

ในยุคนั้น การให้สิทธิเลือกตั้งกับคนดำกลับเป็นหายนะในทางการเมืองของพรรคเดโมแครต

เพราะว่าพรรคเดโมแครตในอดีตคือพรรคที่สนับสนุนระบบทาส ดังนั้นฐานเสียงของพรรคคือกลุ่ม “คนใต้” ที่เป็นคนขาวบ้านนอก การศึกษาต่ำ ที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า “เรดเน็ค”

การเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนคนดำของพรรคเดโมแครต ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าพรรคไม่ใช่ตัวแทนของพวกเขาอีกต่อไป

พรรครีพับลิกันได้เข้ามาฉวยโอกาสโกยคะแนนเสียงจาก “คนขาวบ้านนอก” กลุ่มนี้
ผลพวงของการให้สิทธิเลือกตั้งกับคนดำของพรรคเดโมแครต ส่งผลให้ฐานเสียงหลักที่เป็นคนขาวบ้านนอกทางใต้เดิมของพรรคเดโมแครตย้ายไปสนับสนุนรีพับลิกันมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อ “ฐานเสียง” ของพรรครีพับลิกันเปลี่ยนหน้ไปเป็นกลุ่ม “คนใต้” สิ่งที่เปลี่ยนตามก็คือแนวนโยบายของพรรคที่จะเป็นไปในแนวทาง “อนุรักษ์นิยม” ขึ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน เพื่อเอาใจฐานเสียงใหม่

6.

ประธานาธิบดีดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มของพรรครีพับลิกันยุคใหม่จริงๆ น่าจะเป็น โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ที่เป็นประธานาธิบดีอเมริกาตลอดทศวรรษ 1980’s
สิ่งที่เรแกนทำคือเน้นความ “อนุรักษ์นิยม” ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกลับไปรื้อระบบสวัสดิการต่างๆ ที่พรรคเดโมแครตทำไว้ตั้งแต่แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ จนหมด นั่นคือรื้อ “ความก้าวหน้า” ที่เกิดมาตลอด 50 ปีทิ้ง เพื่อให้อเมริกา “กลับไปเป็นเหมือนเดิม” พร้อมทั้งเน้นนโยบายที่จะคืนคุณค่าเก่าๆ อย่างสถาบันครอบครัวและศาสนา

ซึ่งแนวทางที่ว่าได้สืบเนื่องมาสู่ “การเมืองของทรัมป์” ในปัจจุบันนี้

และก็คงไม่มีอะไรจะชัดกว่าข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 1980 ทางเรแกนได้ใช้สโลแกน “Let’s Make America Great Again” ในการหาเสียงมาแล้วก่อนที่ทรัมป์จะใช้สโลแกน “Make America Great Again” ในการเลือกตั้งปี 2016

การโหยหาการกลับไปหาของอดีตอันยิ่งใหญ่นี้ คือความ “อนุรักษ์นิยม” ของพรรครีพับลิกันในปัจจุบัน

ซึ่งดูจาก “การเมือง” ปัจจุบัน รีพับลิกันก็คงจะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน