ยุคสมัยนี้ แม้แต่งูก็ยังอดอยาก

3 Min
260 Views
09 Aug 2020

เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีข่าว “หมีขาวกินเองเพราะโลกร้อน” (อ่านได้ที่ http://bit.ly/38DFU6a) สะท้อนภาพความสมดุลที่ไม่สมประกอบของห่วงโซ่อาหารอย่างน่าสลดใจ

ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่หมีขาว สัตว์ชนิดอื่นๆ ก็เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน

ในเรื่องที่คล้ายๆ กัน ณ วันนี้ “งู” สัตว์ผู้ล่าที่มนุษย์เราพากันขยาด ก็ดูกำลังลำบากเรื่องอาหารการกินอยู่ไม่น้อย

แต่ก็ไม่ใช่ขึ้นชื่อว่างูแล้วจะอดอยากไปเสียหมด มีเพียงบางสายพันธุ์ที่ไม่อาจปรับตัวให้อยู่รอดได้ เพราะบางชนิดถูกออกแบบขนาดรูปร่างสรีระมาให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในแบบหนึ่ง จึงไม่อาจฝืนความผันแปรของระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปว่องไวตลอดเวลาเช่นปัจจุบันได้

ซึ่งงูที่อดอยากในที่นี้ คือ งูจำพวกที่กินกบ ไข่กบ หรืออาศัยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเป็นอาหาร

เรื่องของเรื่องเป็นเพราะหลายปีที่ผ่านมา กบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหลายชนิดต้องเผชิญโรคไคทริด (โรคจากเชื้อรา Batrachochytrium dendrobatidis) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่า 500 สายพันธุ์ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และมีไม่น้อยกว่า 50 สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

การระบาดของโรคดังกล่าวมีที่มาจากการค้าสัตว์ป่าที่พาเชื้อราจากแหล่งที่มีภูมิคุ้มกันไปสู่แหล่งที่ไร้ที่ภูมิคุ้มกันหรือมีภูมิคุ้มกันน้อย

ทำนองเดียวกับไวรัสหลายชนิดที่เมื่ออยู่ในตัวสัตว์ชนิดหนึ่งจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อมันไปอยู่กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดก็กลายเป็นพาหะการแพร่ระบาดได้

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้าติดตามเรื่องการสูญพันธุ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลานได้พบความสัมพันธ์ของกบกับงูว่า ในพื้นที่ที่กบลดจำนวนลงจะพบเห็นงูได้น้อยลงเช่นกัน

คำว่า “น้อยลง” ในที่นี้หมายถึง น้อยลงทั้งจำนวนครั้งที่พบ และความหลากหลายของสายพันธุ์ที่พบ สวนทางจากข้อมูลที่สำรวจไว้ก่อนการระบาดของโรคเชื้อรา

ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ปักใจเชื่อนัก เพราะการสำรวจงูเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในป่ารกชัฏ – พวกมันเป็นสัตว์ที่มีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมสูง

แต่เมื่อเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมแล้วก็ไม่พบภัยคุกคามแบบอื่นที่จะทำให้งูหายไปเลย เพราะป่าที่สำรวจยังเป็นป่าบริสุทธิ์ดั้งเดิม อยู่ห่างไกลเมือง ไม่มีแหล่งน้ำเสียหรือมลพิษเจือปน ปัจจัยคุกคามเพียงอย่างเดียวที่มีคือการระบาดของโรคเชื้อราในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

และสิ่งที่ตอกย้ำสมมติฐานให้ชัด คือ พวกเขาพบว่าสภาพร่างกายของงูหลายตัวดูย่ำแย่และผ่ายผอมกว่าปกติ ราวกับว่าพวกมันกำลังขาดสารอาหารอย่างไรอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม ในบางมุม นักวิทยาศาสตร์คิดว่าที่พบงูน้อยลง เพราะงูอพยพไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจนัก เพราะการย้ายถิ่นฐานของสัตว์หมายความถึงการต้องไปแย่งบ้านแย่งอาหารจากสัตว์ในที่อื่นๆ และก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าการละทิ้งบ้านเก่าไปหวังน้ำบ่อหน้าจะทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข

แต่ไม่ว่างูจะอดอยากหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น ภาพสะท้อนของเรื่องนี้คือ เมื่อสิ่งมีชีวิตหนึ่งหายไป สิ่งมีชีวิตอื่นก็พลอยเดือดร้อนตามไปด้วย จนถึงที่สุดแล้วมันก็ส่งผลมาถึงตัวเรานี่ล่ะ

ตัวอย่างเช่นเหตุที่พบเห็นได้ทั่วไป อย่างการเจองูในเมือง หรือตามห้องน้ำสถานที่สาธารณะต่างๆ นั่นก็เพราะที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของพวกมันถูกทำลาย อาหารในป่าไม่มีเหลือ สัญชาติญาณการเอาชีวิตรอดก็ผลักไสให้มันมาเจอะกับคนในที่สุด

ส่วนจะรอดไม่รอดก็สุดแต่ว่าเจอคนแบบไหน จะถูกตีให้ตายหรือเรียกกู้ภัยมาจับมันไปปล่อยก็สุดแต่จะคาดเดา (งูหลายชนิดในไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองการทำร้ายพวกมันมีความผิดทางกฎหมาย)

โดยสรุปแล้ว คำตอบของงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้จบลงที่ว่า “งูทั้งหมดกำลังจะสูญพันธุ์” ตามพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในทันที มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่กำลังเผชิญภาวะอดอยาก งูที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหารยังอยู่ดีอิ่มหมีพีมันร่ำไปทุกมื้อ

แต่คงไม่มีอะไรการันตีได้แน่นอนในยุคที่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตกำลังดำเนินต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว

ส่วนกรณีงูเห่าที่อาศัยอยู่ในสภา (ไทย) ถึงตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่าจะเอาตัวรอดได้อยางไรในยุคสมัยปัจจุบัน – เรื่องนี้คงต้องติดตามกันในตอนต่อไป

อ้างอิง: University of Maryland. When frogs die off, snake diversity plummets http://bit.ly/38IY9aj