3 Min

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่สัปดาห์ “หมีอ้วน”

3 Min
571 Views
30 Sep 2020

สำหรับมนุษย์ “ความอ้วน” (ที่มากจนเกินไป) เริ่มเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายมาอย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ปลายยุคกลาง

อย่างไรก็ดี สำหรับสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ภายใต้กลไกของธรรมชาติจำนวนมาก “ความอ้วน” ไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายแต่อย่างใด หนำซ้ำยังเป็นความจำเป็นของชีวิต

สัตว์จำนวนหนึ่งวิวัฒนาการมาให้อ้วน และอ้วนไปตลอด แต่สัตว์อีกจำนวนหนึ่ง ก็อ้วนแบบเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น

ซึ่งโดยทั่วไปสัตว์ที่จะอ้วนเป็นฤดูกาล ก็คือสัตว์จำพวกที่ “จำศีล” ได้

1.

การจำศีลเป็นลักษณะพิเศษของสัตว์จำนวนมาก เรียกได้ว่าตั้งแต่ปลา กบ ยันเป็ดก็จำศีลได้

แต่สิ่งที่คนมักจะสนใจคือสัตว์ที่วิวัฒนาการระดับสูงกว่าอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จะจำศีลได้ ซึ่งสัตว์กลุ่มนี้ ได้แก่ สัตว์ตระกูลหนู กระรอก ค้างคาว และสัตว์ใหญ่อย่าง “หมี”

สัตว์พวกนี้มีความต้องการจะขุนตัวเองให้อ้วนก่อนหน้าหนาวที่พวกมันต้องจำศีล เนื่องจากไม่มีอาหารกิน ดังนั้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เราก็จะเห็นสัตว์พวกนี้กินจนอ้วนพี ก่อนที่จะไปจำศีล และออกมาอีกทีก็ผอม เพราะตอนจำศีลร่างกายได้ใช้ไขมันที่สะสมไว้เป็นพลังงาน
เกริ่นมาซะยาว ก็เพื่อที่จะเข้าเรื่องว่า สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ “หมีอ้วน” ของอุทยานแห่งชาติแคทไมแห่งรัฐอลาสกา สหรัฐอเมริกา

2.

ทางอุทยานแห่งชาติแคทไมเกิดปิ๊งไอเดียว่า น่าจะทำการโปรโมตอุทยานด้วยการเอาคอลเลกชันภาพประจำปีของ “หมีอ้วน” ทั่วอุทยาน (มีกว่า 2,000 ตัว) มาประชันให้คนโหวตเป็นทัวร์นาเมนต์เพื่อหา “ผู้ชนะ” หรือหมีที่อ้วนที่สุดในสายตามนุษย์ (ร่วมโหวตกันได้ที่ https://bit.ly/2EO3lRi )

งานนี้จัดมาตั้งแต่ปี 2014 และก็ฮิตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความน่ารักของแคมเปญนี่เอง สาเหตุที่งานจัดช่วงปลายเดือนกันยายน ก็เพราะนี่คือช่วงเวลาที่หมีจะอ้วนที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงก่อนที่พวกมันจะจำศีลตอนหน้าหนาว

3.

แน่นอนเหล่ามนุษย์ไม่อาจต้านทานความน่ารักของหมีอ้วนๆ ได้ เห็นแล้วต้องแชร์ แคมเปญง่ายๆ นี้ก็เลยไวรัลสุดๆ

ทั้งนี้ หลังจากพวกหมีจำศีลแล้ว มันก็จะกลับมาเป็น “หมีผอม” ดังเดิม เพราะช่วงจำศีลพวกมันจะหลับลึกแบบไม่กินไม่ขับถ่ายเลย และ “รีไซเคิล” สารเคมีที่จำเป็นในร่างกาย โดยใช้ไขมันที่สะสมไว้เป็นพลังงาน
และผลก็คือ ตอนที่พวกมันจะโผล่มาในฤดูใบไม้ผลิ น้ำหนักพวกมันจะหายไปจากตอนอ้วนพีคๆ ถึง 1 ใน 3

ดังนั้นพวกมันจำเป็นมากๆ ที่จะต้อง “อ้วน” ก่อนที่จะจำศีล เพราะช่วงจำศีลมันใช้พลังงานเยอะจริงๆ หากสะสมไขมันไว้ไม่พอ มันก็จะอาจต้องตื่นก่อนกำหนด เพราะพลังงานหมด ซึ่งไม่ดีแน่ๆ ดังนั้นความอ้วนของหมีในช่วงก่อนหน้าหนาวจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นความเสี่ยงของโรคร้ายสารพัดแบบพวกหมาบ้านแมวบ้านที่อ้วนแล้วเสี่ยงสารพัดโรคแบบมนุษย์

แต่ความอ้วนของหมีนั้นเป็นตัวบ่งชี้ว่าหมีอยู่ในแหล่งอาหารที่สมบูรณ์หรือกระทั่ง “สุขภาพดี” ด้วยซ้ำ

4.

อุทยานแห่งชาติแคทไมถือเป็นอุทยานแห่งชาติของอเมริกาที่มีสภาวะธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุด เรียกได้ว่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีปลาแซลมอนสายพันธุ์ ‘ซ็อกอาย’ เยอะที่สุดในโลก นี่จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหมีสีน้ำตาล (ซึ่งในทวีปอเมริกาเหนือเรียกว่า “หมีกริซลี”) ซึ่งชอบกินแซลมอนเป็นชีวิตจิตใจ

ทั้งนี้ ก็อย่าคิดว่าพวกมันอ้วนเพราะกินแซลมอนนะ หมีก็เช่นเดียวกับมนุษย์ การกินโปรตีนและไขมันเพียวๆ ไม่ได้ทำให้อ้วนเท่าไร แต่การกินพวกแป้งและน้ำตาลต่างหากที่เป็นตัวทำให้อ้วน ดังนั้น แพตเทิร์นการกินของมันก็ต่างไปตามฤดูกาล

ตอนมันออกจากการจำศีลมาฤดูใบไม้ผลิ มันจะกินโปรตีนที่มาจากสัตว์เล็กๆ เยอะมาก พอเข้าหน้าร้อน มันก็จะกินพวกพืชหัวซะเยอะ ส่วนพอฤดูใบไม้ร่วง สิ่งที่มันกินก็จะเป็นพวกผลไม้เบอรี่หวานๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขุนให้พวกมันอ้วน

5.

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจงงว่าหมีกินผลหมากรากไม้ด้วยเหรอ
ต้องบอกว่า หมีไม่ใช่ “สัตว์กินเนื้อ” ในแง่ที่ว่ามันกินเนื้อเป็นหลัก

แต่หมีแทบทุกชนิดเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อ (อาจมีแค่ “หมีขั้วโลก” ที่เป็นสัตว์กินเนื้อ เพราะแถวนั้นไม่มีพืชกิน)

และที่เราเห็นมันชอบกินน้ำผึ้งกับแซลมอนนี่ เราอาจโดนพวกภาพถ่ายและการ์ตูนทำให้ไขว้เขว เพราะอาหารส่วนใหญ่จริงๆ ของพวกมันคือพืช.

เรียกได้ว่ามันเจออะไรกินได้ มันกินหมด และก็เรียกได้ว่าเป็นสัตว์ที่ “กินไม่เลือก” ชนิดหนึ่ง

ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหลายๆ ครั้ง มันก็ออกจากป่ามาแย่งอาหารมนุษย์กินด้วยซ้ำ

อ้างอิง: