จากการที่ได้ฟังการบรรยายของคุณ จิรายุ ระเริง (พี่บอส) ผู้จัดการ Great Dream Guild ที่ได้มาบรรยายที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง GameFi มาแล้วนั้น ทำให้รู้จักกับ GameFi มากขึ้น
แล้วคุณล่ะ รู้ไหมว่า GameFi คืออะไร?
GameFi ก็คือการรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน จากการที่องค์ประกอบหลักของมันมีเงินและมีงานศิลปะที่คนสะสมกันแล้ว สิ่งต่อไปที่คนต้องการก็คือ จะทำกำไรอย่างไรจากมันและสนุกกับมันอย่างไร?
• ยุคเริ่มต้นของ GameFi
ยุคเริ่มต้นของ Game-Fi เริ่มตั้งแต่ยุค Covid-19 เพราะเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น คนก็ตกงานและขาดรายได้กัน มีคนว่างงานมากขึ้น รวมถึงกระแสตลาด Crypto กำลังมา ประกอบกับกำลังมีข่าวด้านลบของ DeFi ที่โดนโจมตีทั้งเรื่องการทำ Arbitrate ทำให้ตลาดโซน DeFi ค่อนข้างซบเซาลง คนก็เริ่มหาตลาดใหม่ที่จะทำกำไร จึงกลายมาเป็น GameFi นั่นเอง…
• มารู้จักกับ “ระบบสกอล่า” กันก่อน
ระบบนี้เกิดจากปัญหาจากคน 2 ฝั่ง ที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ระหว่าง นายทุน และ สกอล่า นั่นคือ
> ฝั่งนายทุน : นายทุนมีทุนลงทุนแต่ไม่มีเวลาเล่น และต่อให้นายทุนมีเงินมากแค่ไหนแต่ก็ไม่สามารถเล่นปริมาณ ID ที่มันเยอะขนาดนั้นได้ จึงจำเป็นต้องหาสกอล่าเข้ามาเล่นและแบ่งกำไรให้กับสกอล่าในการเล่นช่วงนั้น
> ส่วนฝั่งสกอล่า : เป็นคนเล่นเกมส์ จะเป็นชาวบ้านทั่วไปก็ได้ ก็คือพวกคนที่ไม่มีเงินทุนในการเล่น แต่มีเวลาว่างในการเล่นเต็มที่ สกอล่านี้จะหาคนมาลงทุนในเกมส์ให้และทำการฟาร์มแล้วนำเงินมาแบ่งให้กับนายทุน ซึ่งส่วนใหญ่ระบบสกอล่าจะแบ่งให้นักลงทุน60% และสกอล่า40%
หรือเรียกง่ายๆกว่าระบบสกอล่าก็คือ “ระบบจ้างเล่น” นั่นเอง
ต่อมาพอมาถึงช่วงนึงของ GameFi จะเป็นยุค fomo ซึ่งการ fomo ของมันค่อนข้างจะอลังการมากๆ เพราะว่าด้วยความที่มันได้เงินเร็ว ทำให้คนสนใจเข้ามาในตลาดเยอะมาก เช่น เกมส์Bomb crypto ซึ่งเรียกว่า “เกมส์ Click to earn” นั่นคือ มันจะมีตัวละครวิ่งวางระเบิด เป็นการลงทุน หาเงิน คนเข้าเล่นเพิ่ม และตาย ระบบนี้จึงเหมือนกับ “การแชร์ลูกโซ่”
จะเห็นได้ว่า GameFi ในยุคแรกนั้นแทบจะเป็นระบบนี้เกือบทุกเกมส์ ก็คือทำเกมส์มาให้เป็นกระแส จนมีนักลงทุนเพิ่ม ความต้องการเพิ่ม เหรียญขึ้นราคา พอเหรียญขึ้นราคาคนก็ยิ่งเข้ามาเพราะว่ากำไรเยอะ แล้วพอปริมาณคนเข้ามาเรื่อยๆจนเต็ม ก็แปลว่าเหรียญยังขุดได้เท่าเดิมต่อวัน แต่ว่าคนเข้าเยอะ ราคาเหรียญจึงค่อยๆลดลงมา
เกมส์พวกนี้จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการเล่นตลอด จึงทำให้ตลาดมันไม่ตาย เพราะว่าตัวละครที่เอามาใช้เล่นจะต้องเป็นตัวละครที่ทำขึ้นมาใหม่ เรียกได้ว่าเป็น “ระบบเผา token” ถ้าปล่อยให้ตัวละครเซตเดิมเล่นได้เก่งตลอดไป token ก็จะไม่เกิดการเผา ไม่เกิดการทำลาย ระบบจึงมีการเปลี่ยน meta เข้ามา เพื่อเป็นการเผา token เพราะถ้าปริมาณเหรียญมันมากเกินไปและถ้าไม่มีระบบเผาเหรียญเข้ามาเลย สุดท้ายมันก็ไม่มีค่าอยู่ดีเพราะปริมาณคนต้องการเท่าเดิมแต่ตัวเหรียญไม่ได้ขึ้น
ในยุคfomoนี้เองก็มีเกมส์ที่ชื่อว่า “Farmers world” ซึ่งเป็นเกมส์ที่มีคนเอาบ้านเอารถแพงๆมาแลกกับของหรือItemในเกมส์สิ่งนี้เองจึงเป็นสิ่งที่ปลุกกระแสGameFi
ตัวอย่างของ GameFi ได้แก่ Axie Infinity, Bomb crypto, Farmers world, Alien world, CryptoMines, Crypto Guards, Cryptocars เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายเกมส์มาก และยุค fomo นี้ก็ทำให้คนเริ่มรู้จักและสนใจใน GameFi กันเพิ่มมากขึ้น และในวงการเกมส์พวกนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่า “เกมส์เครือข่าย” เช่น ผู้ที่เข้ามาเล่นเกมส์จะได้ลุ้นรับ Airdrop
จากการที่วงการ GameFi มีการแจก Airdrop นี้ เช่น มีการสุ่มผู้โชคดีในการรับของลุ้นรางวัลซึ่งมันก็จะมีเงื่อนไขการล้อค NFT เพื่อลุ้นรับสิทธิ์ Airdrop ซึ่งก็แจกไม่เยอะ กลไกการล้อคนี้ใช้เยอะทั้งใน GameFi และใน DeFi ซึ่งการล้อคนี้ เราจะเอาเหรียญ, NFT หรือของต่างๆมาล้อคก็ได้ การล้อคนี้ก็คือการทำให้คนไม่เอาไปขายนั่นเอง เช่น เราต้องการสิทธิอะไรบางอย่าง จึงเอาเหรียญมาล้อคไว้ โดยที่เราเต็มใจ มันเป็นการ Control supply เมื่อเราพูดถึงเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ที่ราคาขึ้นอยู่กับ Demand, Supply ถ้าเราเทขายเยอะๆ Supply เยอะๆราคามันจะลง กลไกที่จะทำให้คนไม่เอาเหรียญมาขายก็คือเอาเหรียญมาล้อคไว้นั่นเอง และเราจะได้แรงจูงใจอะไรบางอย่างจากการที่เขามีการแจกของเพิ่มเติมมาให้ด้วย
สรุปง่ายๆว่า ยุคแรกก็คือการแชร์ลูกโซ่ 100% แค่มันมาในรูปแบบใหม่ที่เราไม่คุ้นหน้าคุ้นตาเท่านั้นเอง
ต่อมาหลังจากยุคที่ปล่อยให้ Fomo เกมส์ที่ยังเปิดอยู่ก็ยังมีอยู่และยังคงสร้างรายได้ได้อยู่ แต่รูปแบบการสร้างรายได้มันจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ไป Click to earn แล้วจบ
• GameFi จะมี Cycle อยู่ 5 steps
ในยุคก่อน GameFi จะวนเป็นลูปนี้ทุกเกมส์ นั่นคือพอเกมส์มีกระแส จะมีคนสนใจที่จะลงทุนเข้ามาเล่นเยอะขึ้น ทำให้ความต้องการ token ก็มากขึ้น เพราะต้องใช้เหรียญในเกมส์ในการเข้าเล่น, ซื้อตัว หรือเพื่อเข้าไปในตลาด พอ Token ราคาขึ้น ทำให้คนยิ่งสนใจที่จะเข้ามาในตลาดมากขึ้น ทำให้ Token มีราคาสูงขึ้นไปอีก แต่พอราคาสูงขึ้น burn token ไม่ทัน เขาไม่ได้คิดหลักการ burn ให้ดีพอ ขุดแล้วเอามาขายได้อย่างเดียว มันไม่ได้มีระบบ burn ที่ชัดเจนขนาดนั้น จึง burn token ไม่ทัน ทำให้คนเข้ามาเล่นน้อยลง เหรียญจึงไม่ถูกใช้งาน ทำให้ราคาเหรียญค่อยๆร่วงลงมา
พูดง่ายๆว่าปกติแล้ว Token ที่ขุดได้มาจากเกมส์จะเป็น Token ที่ใช้ในการทำ ID เพิ่ม พอไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา ความต้องการในการทำ ID ก็ลดลง ทำให้ราคา Token ตก จนถึงจุดๆหนึ่ง ที่เรียกว่า “Panic Sell” นั่นคือไม่ไหวแล้ว จะโดดแล้ว เพราะเมื่อราคา Token ลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้คนที่ไม่มั่นใจในเกมส์เริ่มถอนกันออกมากขึ้น และสุดท้ายตลาดก็พัง พอคนถอนมากขึ้น ราคา Token ก็ยิ่งลดลง พอราคาลดลง รายได้ลดลง คนที่จะเข้าใหม่ก็จะยิ่งไม่มี ทำให้ราคาร่วงลงไปอีก ดังนั้นช่วงเวลาที่ตลาดพัง บางเกมส์ก็เกิดขึ้นแค่ไม่ถึง 3 วัน และนักลงทุนบางคนแทบจะไม่ได้ตั้งตัวกันเลยทีเดียว
ดังนั้น โมเดลของ GameFi ก็เหมือนกับการแชร์ลูกโซ่ ก็คือพอเข้ามา หาคนเพิ่ม ราคาเหรียญขึ้น ผลตอบแทนเยอะขึ้น คนก็ยิ่งแห่กันเข้ามา แต่พอไม่มีคนเข้ามาก็ไม่มีเงินจ่ายคนก่อนหน้าที่อยู่มาก่อน ราคาก็ลดลง ทั้งหมดนี้จึงเป็นยุคเก่าที่ล่มสลายไป แต่มันยังไม่ตาย เพราะมีเวอร์ชั่นใหม่ออกมา และมีระบบที่ดีขึ้นกว่าเดิม
จากที่รู้จัก GameFi ในยุคก่อนมาแล้วนั้น มาดู GameFi ในปัจจุบันกันบ้างว่ามันเป็นยังไง?
ลักษณะของ GameFi ในปัจจุบัน คือ
• ไม่ใช่เกมส์ Click to earn
• มีการจัดการทรัพยากรได้ค่อนข้างดี
• มีการวาง Ecosystem อย่างจริงจัง
• มีระบบการ Burn Token ที่ลงตัว
• มีการเอาระบบ NFT เข้ามาช่วยในการแจกของ จากที่ก่อนหน้านี้เกมส์ออนไลน์ทุกเกมส์ทั่วโลกไม่อนุญาตให้ซื้อขายเพราะว่ามันผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้เขาเอา NFT มาทำให้เราสามารถซื้อขายได้ โดยการที่เราแค่เอา Item ในเกมส์มา mint เป็น NFT และขาย NFT ออกมา และกด burn NFT เพื่อเอา item ชิ้นนี้กลับเข้าไปในเกมส์ โดยที่มีระบบตัวกลางเข้ามาช่วย และนี่ก็คือ GameFi ยุคใหม่นั่นเอง
เมื่อเปรียบเทียบเกมส์ปกติ กับ GameFi มาดูกันว่ามันแตกต่างกันยังไง?
•เกมส์ปกติ
> ไม่สามารถซื้อ-ขายกันด้วยเงินจริงได้
> ทุก Transaction ผู้พัฒนาเกมส์ไม่ได้อะไรเลย
> มีข้อดีคือ เข้าถึงผู้คนได้มากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องมีกระเป๋า Metamask หรือกระเป๋าที่เป็นคริปโตมาเล่น
> การจัดการระบบหลังบ้านทำได้ง่ายกว่ามาก เพราะไม่ต้องมีในส่วนของ blockchain เข้ามาช่วย
> ต้นทุนในการทำเกมส์ถูกกว่า
•GameFi
> สามารถซื้อ-ขายกันด้วยเงินจริงได้
> ทุก Transaction ได้ประโยชน์คือ สามารถเก็บภาษี (ค่า fee) ได้ เช่น ขาย item ได้ 1 ล้านบาท ต้องเสียค่า Fee 6% จึงทำให้ทางฝั่งนักพัฒนาเกมส์ก็ไม่ได้ตาย เพราะไม่ได้ทำเกมส์เสร็จแล้วจบ แต่ยังสามารถเก็บกำไรจากการขาย Item ในเกมส์ได้ด้วย
> เข้าถึงผู้คนได้น้อยกว่าเกมส์ปกติ สิ่งนึงเป็นข้อเสีย เพราะต้องไปเสียเวลาเปิดกระเป๋า ไม่ได้ง่ายเหมือนเกมส์ทั่วไป
> การจัดการระบบหลังบ้านทำได้ยากกว่าเกมส์ปกติ
> ต้นทุนในการทำเกมส์แพงกว่า เพราะต้องมีส่วนของ Blockchain ต่างๆเข้ามาช่วย และจะต้องมีนักพัฒนาเข้ามาพัฒนาระบบ blockchain หลังบ้าน เพื่อจะทำให้การส่ง NFT พวกนี้วนเป็น cycle ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการเผาด้วย จึงถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา
ยกตัวอย่างว่า ถ้าเกมส์มันปิดสินทรัพย์ทุกอย่างที่เราเติมมา เราไม่ได้อะไรกลับคืนมา เพราะสินทรัพย์ในเกมส์ปกติทุกวันนี้ ในมุมมองของคุณจิรายุนั้น มองว่า “มันไม่ใช่ของของเราจริงๆแต่มันคือของที่เราไปเช่าเกมส์มา” ซื้อสกินต่างๆแต่สุดท้ายเกมส์ปิด เราก็ไม่ได้อะไรเลย แต่เมื่อเอาระบบของ NFT มาผูก ในอนาคตอุปกรณ์การ์ดพวกนี้มันอาจจะเป็นของที่ไม่ได้ใช้ในเกมส์แล้ว แต่อาจจะเป็นของที่นำมาเก็บสะสมได้ มันจึงยังเป็นทางออกที่ดีสำหรับการไปต่อของเกมส์ยุคปัจจุบัน และถ้า Item พวกนี้ไม่ได้ทำออกมาอีกแล้ว ยังไงก็ยังคงมีมูลค่าในตัวมันเองอยู่เพราะมันไม่สามารถทำเพิ่มได้แล้ว มีเท่าไหนก็เท่านั้น มันจึงเหมือนของสะสมชิ้นนึงนั่นเอง(NFT ในเกมส์) ในมุมมองของคุณจิรายุจึงคิดว่า “มันยังสามารถที่จะหามูลค่าของมันได้อยู่”
จากการที่ฟังบรรยายของคุณจิรายุเรื่อง GameFi ไปแล้ว ผู้เขียนมองว่า GameFi เป็นสิ่งใหม่ๆที่คนให้ความสนใจ เพราะจากการที่มีกระแสของ DeFi เกิดขึ้น และสามารถทำเงินให้กับผู้ลงทุนเป็น Passive Income (รายได้จากสินทรัพย์) ได้จำนวนมาก แต่ DeFi ก็เหมือนจะให้ผลตอบแทนได้ไม่สูงพอ สำหรับหลายๆ คนที่เริ่มติดใจในระบบของคริปโตเคอร์เรนซี และก็เริ่มมีกระแสของ NFT (รูปแบบผลงานดิจิทัลที่อยู่บนระบบ Blockchain) ตามมา จนนำไปสู่การเป็น GameFi ที่สามารถทำเงินให้กับผู้คนจำนวนมากด้วยรูปแบบ Play-to-Earn และกลายมาเป็นรายได้แทนงานประจำของใครหลายๆคนไปเลย
ซึ่งสิ่งนี้ผู้เขียนมองว่าถ้าผู้เล่นหรือผู้ลงทุนมีความรู้ ความเข้าใจใน Tokenomics หรือหลักเศรษฐศาสตร์ของเกมส์และโทเคนนั้นๆ เป็นอย่างดี ก็จะทำให้สามารถเล่นในวงการนี้ได้ ผู้คนที่สนใจจึงควรหาความรู้เกี่ยวกับ GameFi ให้ดีก่อน เพราะมันก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เราอาจจะคิดว่าเป็นแค่เกมส์เกมส์นึง แต่ GameFi นั้นมีการนำมูลค่ามาแลกเปลี่ยนกับเงินบนตัวเกม เหมือนกับการลงทุนประเภทอื่นๆ ที่เราจะได้สิทธิอะไรบางอย่างมาแลกกับเงินที่เราลงทุนไป
ดังนั้น เมื่อนำเงินลงไปใน GameFi ก็ต้องคำนึงถึง “ความเสี่ยง” และต้องไม่ลืมว่าถ้ากระแสของเกมนั้นหมดไป โทเคนหรือเหรียญที่เราเข้าไปซื้อเพื่อใช้ในเกมก็ย่อมมีมูลค่าลดลงตามกฎของ Demand / Supply และอาจจะสูญเสียมูลค่าไปเลยก็ได้ จึงถือเป็นความเสี่ยงที่ควรคำนึงถึงด้วยนั่นเอง
แหล่งอ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ :
– การบรรยายของคุณจิรายุ (Great Dream Guild)
– https://thestandard.co/what-is-gamefi/
– https://www.playtoearn.online/games/farmers-world/
งานเขียนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชา 751737 Economic of DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งสอนโดย ผศ.ดร. ณพล หงสกุลวสุ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานชิ้นนี้ เขียนโดย น.ส.คันธารัตน์ ปัณฑโร 661632007