มนุษย์เพิ่งหนุน ‘หมอน’ เมื่อ 200 ปีก่อน และ ‘หมอนข้าง’ คือวัฒนธรรมประหลาดในสายตา ‘ฝรั่ง’

3 Min
5036 Views
06 Aug 2020

ความธรรมดาของยุคหนึ่ง เป็นความประหลาดของอีกยุคเสมอ

และหนึ่งในความธรรมดาที่ว่า ก็คือ ‘หมอน’

ทุกวันนี้ เวลานอน ทุกคนต่างหนุนหมอนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่รู้หรือไม่ ไอ้หมอนนิ่มๆ ที่เราหนุนกันทุกวันนี้ เพิ่งมีมาไม่กี่ร้อยปีนี่เอง

แล้วก่อนยุคที่มีหมอน ตอนนั้นเป็นยังไง?

1.
มนุษย์และสัตว์ตระกูลวานรทั้งหมดจำเป็นต้อง ‘นอน’ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนในแต่ละวัน แต่ในอดีตสมัยที่มนุษย์ยังอยู่ในถ้ำ พวกเขาใช้ ‘อะไร’ หนุนหัวเวลานอน

เรื่องราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ข้างต้น ไม่มีการบันทึกไว้แน่นอน แต่จากการศึกษาพวกลิงตามธรรมชาติ ก็พอจะอนุมานได้ว่า จริงๆ ‘หมอน’ บางรูปแบบ มีมาตั้งแต่สมัยลิงแล้ว

เพราะลิงนอนโดยเอาท่อนแขนไปหนุนรองหัว และยังมีบันทึกว่า ลิงมีการเอาวัตถุต่างๆ เช่น ก้อนหินหรือกิ่งไม้มาใช้หนุนนอนด้วย

จากการศึกษาการนอนของลิง ก็พอจะอนุมานได้ว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ น่าจะมีการเอาอะไรมาหนุนหัวบ้าง แต่จะใช้อะไร เราไม่มีทางรู้ได้

2.
ในอารยธรรมแรกๆ อย่างเมโสโปเตเมีย พบว่ามีการใช้หมอนในหมู่ชนชั้นสูง ซึ่งหมอนสมัยนั้น ไม่ใช่หมอนนิ่มๆ แบบทุกวันนี้ แต่ทำมาจากหิน และเป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้หัวได้หนุนอะไรนิ่มๆ แต่เป็นการยกหัวขึ้นจากพื้นเพื่อป้องกันแมลง

ต่อมาในวัฒนธรรมอียิปต์ เขาก็มีความคิดในการหนุนอะไรนอน แต่เขาเชื่อว่าหัวต้องยกสูง เพราะหัวเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณ ซึ่ง ‘หมอน’ ในแบบอียิปต์นี่ น่าจะเรียกว่า ‘ที่รองคอ’ มากกว่าในมาตรฐานปัจจุบัน

จารีตของหมอนแข็งๆ นี้แพร่หลายมากในยุคโบราณ เช่น จีนโบราณก็จงใจใช้หมอนแข็งๆ เลย เพราะเชื่อว่าหมอนนิ่มๆ หนุนนอนแล้วดูดพลังชีวิต

ด้วยความเป็นจีน คนก็จะมีความเชื่อว่าหมอนที่ทำจากวัสดุ เช่น หยก ถ้าได้หนุนนอนก็จะเพิ่มพลังชีวิต

ดังนั้น ในโลกยุคโบราณ แม้แต่คนที่มีอำนาจในสังคมการเมือง ก็ไม่ได้ต้องการจะหนุนหมอนนิ่มๆ กัน หรืออย่างน้อย เราก็ยังไม่พบบันทึกว่า ยุคนั้นมีการหนุนหมอนนิ่มๆ

3.
แล้ว ‘หมอนนิ่มๆ ’ มาจากไหน?

กรีกโบราณคือคนกลุ่มแรกๆ ที่หนุนหมอนนิ่มๆ กันกว้างขวาง โดยเอาผ้ามายัดฟาง ต้นอ้อ หรือขนสัตว์เพื่อหนุนนอน ต่อมาโรมันก็รับเอาวัฒนธรรมนี้ต่อจากกรีกอีกที

แน่นอน การขยายตัวของอารยธรรมโรมันก็นำวัฒนธรรมหมอนนิ่มๆ แพร่ไปทั่วยุโรปด้วย

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนในยุโรปจะหนุนหมอนกันกว้างขวาง

ลองนึกภาพคนจนสมัยก่อนที่จนยิ่งกว่าคนจนสมัยนี้ เสื้อผ้ายังไม่มีจะใส่ ดังนั้นการจะเอาผ้ามาทำเป็นหมอน ก็ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไร เพราะสิ่งที่สำคัญจริงๆ ในการนอนในแต่ละคืน ไม่ใช่หมอนแต่เป็น ‘ผ้าห่ม’ เพราะบางเมืองอากาศหนาว ไม่มีผ้าห่มนี่หนาวตายได้เลย

ดังนั้น กว่าคนทั่วไปจะหนุนหมอนนอนกันกว้างขวาง น่าจะเป็นยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม เรียกได้ว่า ‘หมอนนิ่มๆ ’ ที่เราหนุนกัน เป็นผลผลิตของยุคอุตสาหกรรมแท้ๆ

4.
เรื่องหมอนที่เป็นเรื่อง ‘แปลก’ ในสายตาของชาวต่างชาติที่คนไม่ค่อยรู้คือ ‘หมอนข้าง’

เพราะโลกตะวันตกไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘หมอนข้าง’ เรียกได้ว่า ถ้าคน ‘ติดหมอนข้าง’ จะไปใช้ชีวิตหรือร่ำเรียนในโลกตะวันตก ก็ต้องหิ้วหมอนข้างไปจากไทยไปด้วย เพราะที่โน่นไม่มีขาย

เรียกได้ว่า การใช้หมอนข้างของคนเอเชีย สร้างความงุนงงให้กับคนตะวันตกไม่แพ้การใช้ ‘ที่ฉีดตูด’ ของคนเอเชีย

5.
แล้ว ‘หมอนข้าง’ มาจากไหน?

ไม่มีบันทึกแน่ชัดว่ากำเนิดขึ้นที่แรกที่ไหน แต่หมอนข้างเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ตั้งแต่จีน เกาหลี พม่า อินโดนีเซีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์ โดยยุคก่อน จะมีลักษณะเป็นไม้ไผ่สาน (จริงๆ ทุกวันนี้ที่เกาหลีก็ยังมีขาย เขาเรียกว่า Jukbuin)

หมอนแบบนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Bamboo Wife หรือ Dutch Wife ซึ่งเกิดมุมมองที่ฝรั่งมีต่อหมอนข้าง ว่าการกอดหมอนแบบนี้นอนเป็นการ ‘กอดแทนเมีย’ (ที่ใช้คำว่า Dutch Wife เพราะผู้ชายเนเธอร์แลนด์ที่เป็นพ่อค้าต้องเดินทางไกลไปค้าขาย ต้องหาอะไรกอดแทนเมีย อย่างน้อยๆ ชาติอื่นก็เชื่อแบบนั้น) แต่ทุกคนที่ติดหมอนข้างมาแต่เด็ก ก็คงรู้ว่าหมอนข้างไม่ได้ใช้ ‘แทนเมีย’ แต่อย่างใด เพราะเด็กๆ เราก็ไม่ได้คิดอะไรแบบนั้น แต่เป็นแค่ความเคยชินว่าเวลานอนต้องมีอะไรกอด

แล้วหมอนข้างแบบไม้ไผ่กลายมาเป็นหมอนข้างแบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ได้อย่างไร ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นระบุว่า น่าจะเกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ หมอนข้างปัจจุบันยังมีวิวัฒนาการไปอีกขั้น คือพวกหมอนข้างรูปตัวการ์ตูนญี่ปุ่นที่เรียกว่า Dakimakura อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่แยกออกได้ยากจากความเป็น ‘โอตาคุ’

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของหมอนและหมอนข้าง หวังว่าอ่านแล้ว จะช่วยให้ทุกคนได้อรรถรสการหนุนหมอนกันมากขึ้น

อ้างอิง: Wikipedia. Pillow. https://en.wikipedia.org/wiki/Pillow
Wikipedia. Bamboo Wife. https://en.wikipedia.org/wiki/Bamboo_wife
Wikipedia. Dakimakura. https://en.wikipedia.org/wiki/Dakimakura