‘นาก’ สัตว์ป่ากลุ่มสุดท้ายในกรุงเทพฯ

2 Min
570 Views
30 Jul 2020

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เคยแวดล้อมด้วยธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย เช่น ช้าง แรด หมูป่า สมัน เนื้อทราย แร้ง นกกระเรียน จระเข้น้ำเค็ม และอีกสารพัดสัตว์

พอความเจริญเข้ามา เมืองเริ่มพัฒนา ผู้คนหลั่งไหลมาตั้งรกราก ป่าไม้ ท้องทุ่ง ถูกเปลี่ยนเป็นแท่งคอนกรีตสูง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องหลบลี้หนีหายเอาตัวรอดกระจายไปอยู่ตามป่าเขา หรือไม่ก็พลาดท่าโดนล่า นำเอาไปใช้ประโยชน์

สัตว์ป่าเริ่มลดน้อยถอยลง บางชนิดสูญพันธุ์ไปจากหน้าฉากชีวิตในเมืองใหญ่

แต่กระนั้น ‘นาก’ หลายฝูงสามารถเผชิญโชคพาดวงชะตา เอาตัวรอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น…

ข้อความข้างต้น ไม่ได้คัดมาจากนิทานเรื่องไหน แต่เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ฉากหนึ่งของกรุงเทพฯ ในอดีต

1.
โดยธรรมชาติ หากพูดถึง ‘นาก’ เราจะรู้จักสัตว์ชนิดนี้ในฐานะสัตว์ป่า (ส่วนที่เอานากมาเลี้ยงกัน ถือว่าไม่ปกติ และไม่เป็นธรรมชาติ เพราะนากเป็นสัตว์คุ้มครอง ความหมายคร่าวๆ คือห้ามเอามาเลี้ยงนั่นเอง)

ไฉน สัตว์ที่ควรอยู่ในป่า ถึงอยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ?

ตามปกติ นากจะอาศัยอยู่ตามลำธารขนาดเล็ก ป่าชายเลน ริมทะเลสาบ ห้วยหนองคลองบึง หรือพื้นที่ชุ่มน้ำเขตเกษตรกรรม ท้องร่องสวน และอาหารหลักของนากก็คือปลา

โชคดีที่กรุงเทพฯ บางส่วน เช่น แถบบางขุนเทียนและทุ่งครุ ยังพอมีพื้นที่ชุ่มน้ำเหลืออยู่บ้าง รวมถึงยังมีอาหารอุดมสมบูรณ์ นั่นคือระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารที่เหมาะสม พวกนากจึงเอาตัวรอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

ประกอบกับแหล่งธรรมชาติห้วยหนองคลองบึงยังพอมีทางเชื่อมต่อถึงกัน การอพยพเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ อาศัยด่านดงพงหญ้า และด้วยความที่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก จึงหลบหลีกสายตาผู้คนได้ค่อนข้างดี

นอกจากนี้ การพบเจอนากบอกได้ว่า พื้นที่นั้นมีแหล่งน้ำที่สะอาด เพราะนากไม่ชอบน้ำสกปรก (ต่างจาก ‘เหี้ย’ ซึ่งอยู่ที่ไหนก็ได้)

2.
ปัจจุบัน สถานที่ที่พบเห็นนากได้ง่าย คือ โรงเรียนทวีธาภิเศก บางขุนเทียน โดยเปิดให้ผู้สนใจสามารถเดินทางไปชมได้ (ติดต่อสอบถามผ่านเพจ Bangkok Otter)

หากมีการพัฒนา และการจัดการที่เป็นมิตรกับสัตว์ และไม่สร้างความขัดแย้งกับผู้คน กรุงเทพฯ อาจมีแลนด์มาร์คทางธรรมชาติแห่งใหม่ที่ไม่ต้องบุกป่าฝ่าดงไปถึงอุทยานแห่งชาติ ก็เที่ยวดูนากได้ง่ายๆ

เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็น เช่น ในประเทศสิงคโปร์ เราสามารถเห็นนากดำผุดดำว่ายกันหน้าตึกมารีน่าเบย์แซนด์กันอย่างสบายอุรา และคนสิงคโปร์ต่างภาคภูมิใจกับสิ่งนี้

เพราะการมีนากอยู่ในเมือง คือดัชนีชี้วัดส่ิงแวดล้อมว่ามีคุณภาพเพียงใด

อ้างอิง: National Geographic. สัตว์ป่าในบางกอก. https://bit.ly/2YPIS4k
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์. นากเมืองกรุง. https://bit.ly/2YsAh8R