3 Min

ทำไม รมต.กลาโหม และอดีตนายพลอเมริกา ถึงเบรค โดนัลด์ ทรัมป์ หลังสั่งให้ทหารลงไปคุมการประท้วง

3 Min
220 Views
09 Aug 2020

ทหารควรยุ่งการเมืองไหม?

ถ้าถามในบ้านเรา หลายคนอาจคิดสักพักก่อนตอบ แต่ถ้าถามในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ‘ตามปกติ’

แทบจะตอบอย่างไม่ต้องคิดเลยว่า “ไม่ควร”

เพราะการ ‘ไม่ยุ่งการเมือง’ ของทหาร คือหลักขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย (ปกติ)

อย่างไรก็ดี ถ้า ‘ผู้นำ’ สั่งให้ทหารมาควบคุมสถานการณ์ ‘การเมือง’ ภายในประเทศ เหมือนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังทำอยู่ตอนนี้ อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

ใครที่ตามข่าวอเมริกาก็คงจะพอทราบว่า หลังเหตุการณ์ตำรวจเอาเข่ากดคอชายผิวดำชื่อ จอร์จ ฟรอยด์ จนสิ้นใจ ตอนนี้ในหลายเมืองใหญ่กำลังเกิดการประท้วงและจลาจลอย่างรุนแรงระดับที่หลายสิบปีจะมีสักครั้ง เรียกได้ว่าเดือดพอๆ กับการประท้วงสงครามเวียดนามช่วงยุค 1960’s

แต่การประท้วงก็ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศตั้งแต่วันแรกๆ ที่เกิดการประท้วงว่า เขาจะส่งทหารไปคุมสถานการณ์

ใครที่รู้กฎหมายอเมริกา จะรู้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ‘แอคชั่น’ ไปอย่างนั้น เพราะประธานาธิบดีอเมริกาไม่มีอำนาจสั่งการทหารไปลงพื้นที่ในรัฐต่างๆ ได้

เนื่องจากกฎหมายรัฐบาลกลางอเมริกากล่าวชัดเจนว่า รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจส่งทหารไปที่ต่างๆ ในอเมริกาได้ เว้นแต่ผู้ว่าการรัฐฯ จะร้องขอ

แต่การประท้วงส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นในรัฐที่คนดำเยอะ ซึ่งเป็นรัฐที่พรรคเดโมแครตมักจะชนะเลือกตั้ง ดังนั้น คงไม่มีผู้ว่าการรัฐฯ คนไหนจะกวักมือเรียกทหารให้มาทำลายฐานเสียงของตัวเอง

อีกเหตุผลสำคัญคือ การส่ง ‘ทหาร’ ไป ‘สลายการชุมนุม’ นั้นเป็นเรื่องผิดปกติในโลกประชาธิปไตย เพราะโดยทั่วไปรัฐจะใช้ ‘ตำรวจ’ เพราะตำรวจผ่านการฝึกและใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะกับการควบคุมการชุมนุมมากกว่า

เนื่องจากทหารถูกฝึกมาให้ ‘ฆ่าคน’ ถ้าจะเอาวิธีทหารมาคุมการชุมนุม ถึงอย่างไรก็ต้องมีคนล้มตายโดยไม่จำเป็น

ดังนั้นรัฐในโลกนี้ จึงหลีกเลี่ยงการส่งทหารไปควบคุมการชุมนุมทางการเมือง เว้นแต่รัฐนั้นจะต้องการให้ประชาชน ‘ถึงตาย’ เท่านั้น

เพราะเหตุนี้ รัฐมนตรีกลาโหมจนถึงทหารชั้นผู้ใหญ่ในอเมริกาจึงออกมาแย้ง โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างออกหน้า ซึ่งไม่ใช่วิสัยปกติ เพราะปกติ ‘นายพล’ อเมริกาจะไม่ออกมาให้ความเห็นทางการเมืองเลย เนื่องจากถือว่าเป็นมารยาทที่ ‘ทหารจะไม่ยุ่งการเมือง’

มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบันพูดชัดเจนว่า “ทางเลือกที่จะใช้กำลังทหารในการบังคับใช้กฎหมายนั้น ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย และเราควรจะเลือกทางนี้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์คับขันจริงๆ เท่านั้น”

ว่ากันว่าหลัง มาร์ค เอสเปอร์ พูดประโยคนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ โกรธมากจนมีข่าวลือว่าจะเด้งเขาจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม

ขณะที่ มาร์ค มิลเล่ย์ นายพลระดับสูงของอเมริกา (สังเกตว่าในต่างประเทศ จะไม่เรียก “ยศ” นำหน้าชื่อทหารระดับสูงตลอดเวลาเหมือนบ้านเรา) ก็ออกมาย้ำถึงหน้าที่ของทหารว่า ทหารต้องรำลึกคำปฏิญาณที่จะธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายรวมถึง “เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ” ด้วย

ด้าน เจมส์ แมททีส อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของโดนัลด์ ทรัมป์ เอง ยังออกมาวิจารณ์ทรัมป์ตรงๆ ว่า “ถ้าเราตอบโต้ด้วยทหารแบบที่เกิดขึ้นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เรากำลังจะสร้างความขัดแย้งระหว่างทหารกับพลเรือน ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้น”

ข้างต้นเป็นความเห็นบางส่วนของเหล่าทหารที่ออกมาวิจารณ์ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังเขาเสนอให้ใช้กำลังทหารกับประชาชนทั่วอเมริกา (ซึ่งทรัมป์ใช้ไปแล้วในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพราะที่นั่นเป็นพื้นที่เดียวในอเมริกาที่ประธานาธิบดีจะมีอำนาจคุมทหารเต็มที่)

ซึ่งในภาพรวม การพยายามจะใช้กำลังทหารกับประชาชนของ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า “มีปัญหา” ในทางการเมือง

เพราะขนาดคนในพรรครีพับลิกันเองก็ยังถอยห่างจากท่าทีแบบนี้ และที่ชัดที่สุดคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยมีเรตติ้งการยอมรับในหมู่ประชาชนอเมริกันสูงมาตลอด กลับตกฮวบๆ หลังจากเขามีท่าทีจะใช้กำลังทหารกับประชาชน

ทั้งหมดนี้ คงพอทำให้เห็นว่า การใช้กำลังทหารกับประชาชนนั้นเป็น ‘เรื่องใหญ่’

ถ้าว่ากันตาม ‘หลักสากล’ คือ ‘ห้ามใช้’ เลย

ถึงแม้ตอนนี้อเมริกา “บ้านเมืองลุกเป็นไฟ” แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ ก็ยังไม่มองเห็นว่านี่คือความ ‘จำเป็น’ ที่จะต้องส่งทหารลงไปคุมสถานการณ์อยู่ดี

อ้างอิง:

+0
15
REPORT