3 Min

ทำไม ‘งู’ ถึงชอบโผล่ในโถส้วม? ปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ไทย แต่หลายประเทศก็เจอ

3 Min
878 Views
29 Apr 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

เมืองในหลายประเทศทั่วโลกขยายตัวขึ้นเพื่อรองรับประชากรมนุษย์ ที่อยู่ของสัตว์ตามธรรมชาติก็เลยถูกทำลายเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคน และ ‘งู’ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่พลอยได้รับผลกระทบด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในหลายๆ ประเทศทั่วโลกจะเจอปัญหา ‘งูบุกบ้าน’ และพื้นที่ที่เจองูบ่อยสุดก็คือ ‘ห้องน้ำ’ และ ‘โถส้วม’ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมาะกับธรรมชาติของงู

ปัญหา ‘โถส้วมที่มีงูออกมา’ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย เพราะเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศแถบออสเตรเลียและโอเชียเนีย ไปจนถึงประเทศแถบแอฟริกา ล้วนเคยเจอเรื่องแบบนี้กันทั้งนั้น โดยบางประเทศในแอฟริกามีคนเคยเจองู ‘แบล็กแมมบา’ (Black Mamba) ที่พิษร้ายแรงติดอันดับ Top 10 ของโลก โผล่มาจากชักโครก ซึ่งน่ากลัวพอๆ กับที่คนไทยเจองูเหลือม งูเห่า และงูจงอาง โผล่มาทักทาย โดยข่าวพวกนี้จะได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงฤดูฝนที่สัตว์ต่างๆ มักจะหาทาง ‘หนีน้ำ’ กันตามสัญชาตญาณ

เหตุผลที่งูบุกบ้านคนก็อย่างที่เกริ่นไว้แล้ว คือพื้นที่ป่าหรือแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของงู (และสัตว์อื่นๆ) ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองและสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งงูก็เลยเหมือนถูกไล่แบบกลายๆ ให้ต้องไปอยู่อาศัยในที่พักพิงของมนุษย์ และต้องพยายามหาพื้นที่ที่ใกล้เคียงธรรมชาติของตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ที่จริงแล้วห้องไหนก็ตามที่ทึมทึบ ไม่ค่อยมีแสงสว่าง ทั้งยังมีความชื้นและอุณหภูมิต่ำกว่าจุดอื่นๆ ล้วนเป็นปัจจัยดึงดูดให้งูไปซ่อนตัวหรือทำรังได้ทั้งนั้น ซึ่งถ้านับคุณสมบัติที่ว่ามา ‘ห้องน้ำ’ ของหลายบ้านก็เข้าข่ายนี้ โดยจุดที่ชื้นและเย็นกว่าส่วนอื่นๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นโถส้วมอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโถส้วมแบบชักโครกหรือแบบส้วมซึมที่ต้องนั่งยองๆ ก็ตามที แต่ที่งูในห้องน้ำดูน่ากลัวที่สุด เพราะนี่คือสถานที่ที่คนจำนวนมากไม่ทันระวังตัว เพราะมัวแต่จดจ่อกับการหาทาง ‘ปลดปล่อย’ ตามธรรมชาติ

ส่วนห้องอื่นๆ ในบ้านที่พบเจองูบ่อยเป็นอันดับรองลงมาคือ ห้องครัว เพราะมีจุดดึงดูดคือ ‘อ่างล้างจาน’ ซึ่งมีความชื้นบวกกับเศษอาหารที่ล่อให้หนู จิ้งจก ตุ๊กแก ออกมา และบรรดาสัตว์เล็กทั้งหลายก็ล่อให้ ‘งู’ มาหาอาหารอีกต่อหนึ่ง จากนั้นก็จะเป็น ‘โรงรถ’ ซึ่งหลายบ้านใช้เป็นพื้นที่เก็บของ ก็เลยมักจะมีกล่อง ลัง หรือข้าวของที่สุมๆ กันจนอับชื้นและเป็นที่ซ่อนตัวอย่างดีให้กับงู

และในกรณีของไทย ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดในภาคไหนก็ตาม ถ้ามีการสร้างบ้านเรือนหรือชุมชนใกล้ๆ พื้นที่ที่เป็น (หรือเคยเป็น) หนองบึง ก็มักจะเจองูที่แอบซ่อนอยู่ในบ้านคนอยู่บ่อยๆ เพราะแหล่งที่อยู่ของงูตามธรรมชาติก็คือพื้นที่ประมาณนี้ทั้งนั้น แต่การจะหาทางย้ายบ้านหนีปัญหางูคงทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นก็คือหนึ่งในปัจจัยที่การสร้างเมืองและบ้านเรือนต้องขยายพื้นที่ออกไปจนรุกล้ำแหล่งที่อยู่ของสรรพสัตว์มาตั้งแต่ต้น

สิ่งหนึ่งที่นักสัตววิทยาและผู้เชี่ยวชาญการป้องกันภัยพอจะให้คำแนะนำได้ก็คือ คนในบ้านจะต้องพยายามรักษาความสะอาดบริเวณต่างๆ ในบ้านไม่ให้มีมุมอับหรือความชื้น และต้องไม่มีเศษอาหารที่จะคอยดึงดูดหนูหรือสัตว์อื่นๆ ที่เป็นเหยื่อของงู ทั้งยังจะต้องหมั่นตรวจตราดูท่อน้ำ บ่อพัก และทางระบายน้ำอยู่บ่อยๆ ว่ามีช่องทางไหนที่จะปล่อยให้งูเล็ดลอดเข้ามาในเขตบ้านเรือนได้หรือเปล่า เพราะอาจมีรอยแตกหรือข้อต่อท่อต่างๆ ที่หลวมจนเกิดรูให้งูเข้าไปได้ และใครที่กลัวงูวางไข่ในท่อ ก็อาจจะเทน้ำยาละลายสิ่งอุดตันลงท่อประมาณสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะช่วย ‘ลดความเสี่ยง’ ที่จะเจองูในบ้านลงได้บ้าง

ส่วนใครที่ยังไม่เคยเจองูก็อาจต้องลองฝึกซ้อมหนีภัยงูในจินตนาการดูว่าถ้าเจอจริงๆ จะทำยังไง ซึ่งสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำก็เป็นวิธีปฏิบัติแบบกว้างๆ คือ ‘ตั้งสติและเรียกกู้ภัย’ (ถ้าไม่มีประสบการณ์ก็อย่าได้พยายามจับงูเองเป็นอันขาด) เพราะบางทีเราอาจจะไม่ได้เจองูที่บ้าน แต่ไปเจองูในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน หรือแม้กระทั่งโรงแรมใกล้ๆ ป่าเขาลำเนาไพร โดยถ้าเป็นในกรุงเทพฯ มีการระบุให้โทรเบอร์ฉุกเฉิน 199 แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดอาจต้องติดต่อหน่วยกู้ภัยในพื้นที่ ซึ่งนี่ก็ดูจะเป็นเรื่องยากขึ้นอีกระดับ เพราะต่างจังหวัดอาจจะไม่มีเบอร์ฉุกเฉินให้โทรเหมือนในกรุงเทพฯ

อ้างอิง