ทำไมศาลสูงไอร์แลนด์ตัดสิน “ขนมปัง” ร้าน Subway ไม่ใช่ “ขนมปัง” เพราะใส่น้ำตาลมากไป

2 Min
1464 Views
08 Oct 2020

อะไรคือ “ขนมปัง”?

คนไทยอาจไม่รู้สึกว่าคำถามนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ในประเทศที่ “ขนมปัง” เป็นอาหารหลัก นี่คือประเด็นที่เถียงกันได้ยาวแบบไม่จบไม่สิ้น

เช่น โรตีนี่เป็นขนมปังไหม? แล้วแป้งพีต้าล่ะ? หรือหมั่นโถวล่ะเป็นมั้ย? ฯลฯ

โดยทั่วไปคนจะเถียงกันเรื่องทำนองนี้ได้เท่าที่ใจอยาก เพราะไม่ได้นำไปสู่อะไร อย่างไรก็ดี ถ้าอะไรคือ “ขนมปัง” มีนัยยะทางกฎหมาย ก็เป็นอีกเรื่อง…

1.

ในบางประเทศ มีวิธีคิดว่า “สินค้าจำเป็น” จะต้องมีอัตราภาษีต่างจากสินค้าไม่จำเป็นต่างๆ

ในเคสของ “ขนมปัง” ที่ถือว่าเป็น “อาหารหลัก” ในสังคมตะวันตก และเป็น “สินค้าจำเป็น” ไม่ใช่ “ขนมหวาน” ที่นับว่าเป็นสินค้าไม่จำเป็น

ในประเทศที่มีมุมมองแบบนี้ จะออกฎหมายแยก “ขนมปัง” (bread) ออกจาก “ขนมหวาน” (confectionary) ซึ่งแต่ละประเทศก็ต่างกันไป

2.

สำหรับประเทศอย่างไอร์แลนด์ นิยามของ “ขนมปัง” พื้นฐานก็คือ แป้งที่นวดมาก่อนอบ ต้องมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมไม่เกิน 2% ของน้ำหนัก

ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ขนมปังจะต้องใส่น้ำตาล

ใครศึกษาประวัติศาสตร์ขนมปังจะรู้เลยว่าขนมปังนั้นดั้งเดิมไม่ใส่น้ำตาลกันเลย เรียกได้ว่าเพิ่งจะใส่กันช่วงศตวรรษที่ 19 เท่านั้นเอง

สาเหตุหลักๆ ในการใส่น้ำตาลในขนมปังคือ จะทำให้ขนมปังนิ่มขึ้น และมีรสหวานอ่อนๆ มาตรฐานแบบนี้เกิดจาก “ขนมปังแถว” (แบบที่บ้านเราเรียก “ขนมปังแซนด์วิช” หรือ “ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์”) ซึ่งเป็นขนมปังในยุคอุตสาหกรรม

กล่าวคือ ถ้าเราคิดว่า “ขนมปังแถว” เป็นขนมปังปกติ แปลว่าเรากำลังเข้าใจผิด เพราะทั่วยุโรป มีขนมปังไม่รู้กี่ร้อยแบบ และไม่ใส่น้ำตาลทั้งนั้น

ขนมปังแบบนี้จะมีเนื้อแข็งๆ และรสเค็มๆ กว่า (ใครเคยกินพวกขนมปังในเบเกอรี่ฝรั่งคงนึกออก รสจะไม่ออกหวานเลย และจะเนื้อแข็งๆ กว่าขนมปังที่คนไทยชอบกิน)

3.

กลับมาที่ไอร์แลนด์ เรื่องมีอยู่ว่า ร้าน Subway ร้านแซนด์วิชชื่อดังพยายามจะเคลมว่า ขนมปังของตัวเองเป็น “ขนมปัง” ตามนิยามของกฎหมายภาษี

ซึ่งก็คือเป็นสินค้าที่ไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ทางสรรพากรไม่เห็นด้วย เพราะมีน้ำตาลเกินที่กำหนด ต้องนับเป็นขนม

ประเด็นนี้ก็ตีกันไปมาจนเรื่องราวถึงศาล ผ่านศาลชั้นต้น ไปสู่ศาลอุทธรณ์ แล้วก็ไปจบที่ศาลสูงสุด

ศาลสูงสุดก็ตัดสินยืนตามกฎหมายภาษี เพราะตามนิยาม ขนมปังของร้าน Subway ไม่ใช่ “ขนมปัง” จริงๆ เพราะไม่ได้มีน้ำตาลแค่ 2% ของน้ำหนักแป้งก่อนอบ แต่มากถึง 10% เลย

ดังนั้น ถึงขนมปังมันจะหน้าตาเหมือน “ขนมปัง” แค่ไหน ก็ต้องถูกนับเป็น “ขนมหวาน”

4.

ความอลเวงของขนมปังที่เกิดขึ้นจะมองเป็นเรื่องตลกของนิยาม “อาหาร” ก็ได้ แต่ในความเป็นจริง ในทางโภชนาการนี่คือเรื่องใหญ่มาก เพราะ “ขนมปัง” ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ผู้ผลิตคลั่งการใส่น้ำตาลกันมาก และขนมปังที่ใส่น้ำตาลเยอะๆ ก็คือ ขนมปังของพวกฟาสต์ฟู้ด โดยเฉพาะขนมปังเบอร์เกอร์ของ McDonalds นี่ใส่น้ำตาลหนักกว่าขนมปังแซนด์วิชของ Subway เสียอีก

ลักษณะแบบนี้ของขนมปัง ส่งผลให้สูตร “ลดความอ้วน” ทั่วไปจะมองว่าขนมปังเป็นสิ่งที่สร้างความอ้วนอันดับต้นๆ ในบรรดาอาหารหลักของมนุษย์

เรียกได้ว่า “สูตรฝรั่ง” จะให้คนที่ต้องการลดความอ้วนเลิกกินขนมปังเลย และหันไปกินพวกพาสต้า หรือข้าวแทน

5.

เราก็อาจงงว่า อาหารกลุ่มนี้ก็ “แป้ง” เหมือนกัน ทำไม “ขนมปัง” ทำให้อ้วนกว่า

ประการแรกคือแป้งขนมปังเป็นแป้งละเอียดและขัดสี จึงย่อยง่ายกว่าแป้งที่ไม่ละเอียดเท่าอย่างข้าว (เรื่องนี้จำง่ายๆ ได้เลยว่า แป้งยิ่งย่อยยาก ยิ่งทำให้อ้วนน้อยกว่าแป้งย่อยง่าย)

ประการที่สอง ก็อย่างที่เล่ามาทั้งหมด ขนมปังยุคนี้ ดูภายนอกไม่ค่อยรู้หรอกว่าใส่น้ำตาลมาก แต่จริงๆ “แอบใส่” กันกระจุย

คนกินไปอาจไม่รู้สึกหวาน แต่น้ำตาลนี่เต็มไปหมด และสิ่งที่กินไปโดยไม่รู้สึกว่ากินไปนี่แหละ เป็นภัยต่อสุขภาพที่สุด

ดังนั้น ในแง่ของโภชนาการและสุขภาพ คำตัดสินของศาลสูงไอร์แลนด์ก็น่าจะถูกต้องแล้วล่ะ

อ้างอิง: