รู้สึกไหมว่า ยิ่งเราอายุมากขึ้น เวลาจะยิ่งผ่านไปเร็วขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงอายุ 15-20 ปีของเรา มักอัดแน่นไปด้วยความทรงจำอันยาวนานของวัยรุ่น แต่พอช่วง 25-30 เราก็อาจรู้สึกว่ามันแค่แป๊บเดียวจนรู้ตัวอีกทีก็อายุ 30 แล้ว ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจเลยที่พออายุ 35-40 เราก็อาจรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วยิ่งขึ้นไปอีก
ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ล่ะ?
จริงๆ ประสบการณ์ ‘ยิ่งแก่เวลายิ่งผ่านไปเร็ว’ มีบันทึกไว้มายาวนานตั้งแต่ก่อนจะเกิดศาสตร์ต่างๆ และที่จริงทุกวันนี้ก็มีการตอบทั้งในเชิงจิตวิทยาและในเชิงประสาทวิทยาว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
คำตอบในเชิงจิตวิทยาอธิบายว่า เพราะเด็กประสบการณ์น้อย อะไรที่รับรู้มามันจึงใหม่ทั้งหมด ซึ่งพอมนุษย์เจอสิ่งใหม่ๆ แนวโน้มที่จะรู้สึกว่าเวลามันยาวนานกว่าก็เป็นไปเพราะเราต้องใช้สมาธิจดจ่อกับมัน ต่างจากในเวลาที่เราอยู่กับสิ่งที่คุ้นเคยซึ่งจะไม่ค่อยใช้สมาธิ แต่จะใช้ ‘ความเคยชิน’ ซึ่งสำหรับคนที่ผ่านโลกมาเยอะ มันจึงมีไม่กี่อย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันแปลกใหม่ และเมื่อไม่ต้องใช้สมาธิอยู่กับมันมาก จึงส่งผลให้เรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปไวขึ้นนั่นเอง
คิดง่ายๆ ก็เหมือนเวลาเราทำงานที่ถนัด ซึ่งทำมาจนอยู่มือ ถึงเราจะทำไปนานๆ หลายชั่วโมง เราก็จะรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปแค่แป๊บเดียว แต่กลับกัน ถ้าเราต้องเรียนรู้งานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน บางทีเวลาครึ่งชั่วโมงมันก็อาจรู้สึกว่ายาวนานสุดๆ
จริงๆ แล้วนี่ก็ไปในทางเดียวกับทฤษฎีจิตวิทยาพื้นฐานที่ว่าถ้าเรา ‘วิตกกังวล’ เราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้า ส่วนถ้าเรา ‘ผ่อนคลาย’ กับมัน เราก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว
คำถามคือ ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นแค่ ‘เรื่องทางจิต’ เท่านั้นหรือ? งานวิจัยยุคหลังๆ ที่มนุษย์เริ่มเข้าใจระบบประสาทมากขึ้นเริ่มไม่มองแบบนั้นแล้ว เพราะเขามองกันว่าที่จริงมันมีคำอธิบายในเชิงกายภาพที่โยงกับระบบประสาทของเราโดยตรง
ต้องเข้าใจก่อนว่า ในเชิงกายภาพ การรับรู้โลกของมนุษย์ผ่านประสาทสัมผัส รวมถึงการคิด มันเป็นเรื่องของการไหลเวียนของ ‘กระแสไฟฟ้า’ ในเซลล์ประสาทของมนุษย์ทั้งสิ้น หรือพูดง่ายๆ ให้ลองคิดว่า ‘เส้นประสาท’ มันเป็นเหมือน ‘สายไฟฟ้า’ ที่นำข้อมูลต่างๆ เข้ามาที่สมอง รวมถึงประมวลผลต่อในสมอง
ทีนี้ลองคิดภาพว่า มนุษย์ยิ่งแก่ไป ระบบประสาทก็จะยิ่งเสื่อม ซึ่งถ้าเทียบก็คือมันเหมือนสายไฟฟ้าที่ทำงานได้แย่ลง ดังนั้นข้อมูลที่รับรู้โลกนั้นมันก็จะวิ่งผ่านได้น้อยลง หรือพูดง่ายๆ สมมติคนอายุน้อยนั่งดูวิดีโอ 1 นาที ข้อมูลต่างๆ อาจเข้ามาที่สมองทั้งหมด 80-100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งภาพและเสียง แต่สำหรับคนแก่ การรับรู้รายละเอียดมันจะแย่ลง และอาจรับรู้ได้แค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งที่ตาเห็นและหูได้ยิน ซึ่งก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามวัย
ซึ่งพอเรารับรู้น้อยลงๆ เราก็จะรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นมันสั้นลง เพราะ ความรู้สึกถึงช่วงเวลามันผูกโยงกับข้อมูลที่เข้ามาในการรับรู้ตรงๆ ยิ่งรับรู้เยอะ ยิ่งรู้สึกว่าเวลามันยาวนาน ยิ่งรับรู้น้อย ก็ยิ่งรู้สึกว่าเวลามันสั้นลง
หรือบางทีเขาก็จะเปรียบเทียบอีกแบบว่า มันเหมือนคนยิ่งแก่ลง Frame Rate ก็จะยิ่งลด ทุกอย่างที่เห็นมันเป็น ‘ภาพสโลว์’ ถ้าเทียบกับตอนเด็กที่ทุกอย่างที่เห็นมัน ‘วิ่งเร็ว’ ไปหมด ซึ่งตรงนี้เราก็จะสังเกตได้อีกว่า คนแก่ส่วนใหญ่ก็จะชอบทำอะไรซ้ำๆ ทำอะไรตามความเคยชิน ไม่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งอะไรพวกนี้ก็สอดคล้องกับภาวะที่คนแก่ไม่สามารถจะรับรู้โลกได้เท่าเดิมอีกแล้ว มันไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และการที่เรายิ่งทำอะไรช้าลง การที่ไม่ไปทำอะไรใหม่ๆ ก็จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยกว่าด้วย เพราะปฏิกิริยาตอบโต้กับสถานการณ์ไม่คาดฝันของเราก็ลดลงตามวัยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ มันเป็นคำอธิบายว่า ทำไมความทรงจำวัยเด็กจึงอยู่กับเรายาวนานด้วยเช่นกัน คือในช่วงวัย 10-20 ปี มันเป็นช่วงเวลาที่การรับรู้ของเรากำลังพัฒนา เรารับรู้อะไรเยอะ ความทรงจำเราก็เยอะ แต่กลับกับ ในช่วงเวลา 70-80 ปี แม้จะเป็นเวลา 10 ปีเท่ากัน มันก็อาจผ่านไปชั่วพริบตากับชีวิตประจำวันซ้ำๆ และความสามารถในการรับรู้โลกที่ถดถอยลงเรื่อยๆ
อ้างอิง
- Harvard University. No, It’s Not Just You: Why time “speeds up” as we get older. https://sitn.hms.harvard.edu/flash/2019/no-not-just-time-speeds-get-older/
- WebMD. Why Time Flies Faster With Age (and How to Slow It Down). https://www.webmd.com/healthy-aging/news/20230418/why-time-flies-faster-with-age
- Huffpost. Time Flies By Faster As We Get Older. Here’s Why. https://www.huffpost.com/entry/time-perception-aging_l_63973dc2e4b0169d76d92560