คุณฝันอยากเห็นทางเท้าแบบไหน?
ทางเท้าอาร์ต ๆ แบบนิวยอร์ค หรือคลีน ๆ แบบญี่ปุ่นกันที่คนไทยอยากได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าแบบไหน หากมีอยู่ในไทยสักแบบก็คงจะดีสินะ
เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เป็นชาวกรุง และเหล่าประชากรแฝงในกรุงเทพฯ จะต้องมีภาพกทม.ในฝันกันอยู่ในใจแทบจะทุกคน เราก็คือหนึ่งในนั้นที่อยากเห็นกรุงเทพเป็นเมืองที่เหมาะกับคนทุกกลุ่ม และทุกสไตล์การใช้ชีวิตที่มีหลากหลาย ส่วนหนึ่งที่เรามองว่าเมืองได้โอบรับการใช้ชีวิตของทุก ๆ คน หนึ่งในนั้นก็คงจะเห็นได้ชัดจากทางเท้านี่แหละ
ต้องขอออกตัวก่อนนะคะว่าตัวเองเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ บ่อยครั้ง และที่พักส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ใจกลางเมืองเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน
ทำไมต้องใจกลางเมืองล่ะ?
ก็การเดินทางในมหานครมันไม่ได้ง่าย จะขึ้นบีทีเอสก็มีราคาแพง ยิ่งในช่วงเวลาเร่งรีบแล้วยิ่งไม่ไหว จะขึ้นแท็กซี่ก็กลัวโดน “แกง” พาเที่ยวชมเกาะพระนคร ข้ามฝั่งธน ไป ๆ มา ๆ จนวุ่น การหาที่พักที่ตั้งอยู่ใกล้หรือไม่ไกลจากที่ทำงานก็เป็นลาภอันประเสริฐสุด และการเดินทางที่ดิฉันเลือกก็คือการเดินเท้า แต่เดี๋ยวก่อน… เดินเท้าไปทำงานก็ไม่ใช่ว่าจะสบายนะคะ
ทางเท้ากทม. จะเป็นทางเท้าแบบมีเลเยอร์ หลายระดับ ให้อารมณ์เหมือนเดินขึ้นบันได มีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากเลเยอร์แล้ว ยังมีระดับด้วยนะคะ ถ้าเดินผ่านบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าทางเท้าจะดูลัคชูหน่อย ๆ เรียบสวย มีที่นั่งพักให้ได้พอหายใจบ้าง แต่หากเดินห่างออกมาเพียงไม่กี่ก้าวก็เหมือนอยู่คนละจังหวัด ภาพที่เห็นในวินาทีนั้นคือขยะที่วางอิงเสาไฟฟ้า มีแม่ค้าไก่ทอด แม่ค้าหมูปิ้ง ตั้งเตาแก็สจากในบ้านมาขายอยู่บนทางเท้าที่สภาพค่อนข้างเละ แตกต่างจากทางเท้าหน้าห้างสรรพสินค้าแบบทิ้งห่าง และแน่นอนว่าบรรยากาศรอบตัวในตอนนั้นไม่ได้เหมาะเหมงกับการเดินทางไปทำงานสักเท่าไหร่
แล้วปัญหาทางเท้าของกทม. คืออะไร?
“กว้างไม่พอ“
ความกว้างของทางเท้าเป็นโจทย์ของปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญ หากเราสังเกตุทางเท้าในต่างประเทศ เอาแค่ประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ เรา อย่างสิงคโปร์ที่ทางเท้าถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง เพื่อให้เพียงพอสำหรับผู้คนที่ต้องการสัญจรไปมาด้วยการเดินเท้า และในบางครั้งมันมากพอที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงดนตรี หรือเต้น K-POP เสียด้วยซ้ำ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ทางของสิงคโปร์มีพื้นที่ใช้สอยมากมาย อาจเป็นเพราะระบบการจัดการทางเท้า และการออกแบบที่หลีกเลี่ยงการวางสิ่งกวีดขวางไว้บนทางเท้า ย้อนกลับมาที่กทม. เราจะพบว่าทั้งตู้ไฟฟ้า สะพานลอย ขยะ และอีกหลายสิ่งหลายอย่างกลับขึ้นไปอยู่บนทางเท้าทั้งหมด และกลายเป็นว่าสิ่งกีดขวางพวกนี้มากินพื้นที่การเดินของคนที่ควรจะอยู่บนทางเท้าเสียอย่างงั้น
“ความเรียบเป็น 0”
เราคงเคยเห็นทางเท้าของประเทศญี่ปุ่นผ่านตากันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในหนังการ์ตูนอนิเมะ หรือจากภาพยนต์ที่ใช้กรุงโตเกียวเป็นฉากของการถ่ายทำ จะบอกว่าไม่ว่าจะในหนังหรือของจริงมันก็เป็นแบบนั้นอ่ะนะ เห็นได้ว่าทางเท้านั้นเรียบแสนเรียบ และน่าเอาตัวเองลงไปเดินเล่นสุด ๆ แตกต่างจากทางเท้าของกทม. ที่นอกจากจะไม่เรียบนิ่ม เดินสบายแล้ว ยังต้องระมัดระวังฝาท่อที่วางระเกะระกะอีก เรียกได้ว่าพลิกหน้ามาหลังกันเลยทีเดียว แต่จะว่าไปกทม. ก็มีทางที่เรียบเดินสบายเพียงบางจุดเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะไปกองรวมกันอยู่สยามแหล่งช็อปปิ้งชื่อดังเท่านั้นแหละ
“ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก”
หากจะขึ้นชื่อว่าเป็นเหมือนที่โอบรับการใช้ชีวิตที่หลากหลายแล้ว ก็จำเป็นที่เมืองจะต้องเอื้อให้กับทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน
เอ้า! แล้วมันเกี่ยวอะไรกับทางเท้าล่ะ?
ก็เพราะทางเท้ามันไม่ได้เอื้อให้คนทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายยังไงล่ะ
ทางเท้ากทม. เป็นทางเท้าที่เรียกได้ว่าใช้ชีวิตได้ยากที่สุดแล้วไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม เพราะแทบไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรนอกจากป้ายรถเมล์ที่ชอบคว่ำหน้าอยู่บ่อย ๆ กับจุดดื่มน้ำที่น้ำดื่มไม่ได้ พร้อม ๆ กับสิ่งที่จำเป็นอย่างการมีเส้นนำทางสำหรับคนพิการที่บางครั้งก็นำไปชนกับตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรซะอย่างงั้น สิ่งนี้ชี้ว่าทางเท้ากทม. ก็ไม่ได้สรรค์สร้างมาเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตจริง ๆ
การได้ไปเยือนกรุงเทพฯ ของเราในแต่ละครั้งมันทำให้เราต้องใช้เวลาในการนั่งไตร่ตรองกับตัวเอง ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหน จะเดินทางยังไงเพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ นั่นค่อนข้างใช้พลังและเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะการอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยจริง ๆ ส่วนหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นกับสภาพของเมืองที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ที่ความสะดวกแทบจะหาไม่ได้เลยในการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร