ทางม้าลาย หรือ ทางไว้อาลัย?

535 Views
15 Aug 2022

ทางม้าลาย หรือ ทางไว้อาลัย?

“ทางม้าลาย คือ ทางสำหรับให้ผู้คนข้ามถนนอย่างปลอดภัย”

ขอบอกตรงนี้เลยว่ามันใช้ไม่ได้กับในประเทศไทย โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร!!!

เราขออนุญาตนิยามทางม้าลายใหม่

“ทางม้าลาย คือ ทางสำหรับให้รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์จอดทับ และเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนเกิดความรู้สึกอยากเหยียบคันเร่งให้เร็วขึ้นในชั่วขณะ”

ที่นิยามแบบนี้เนื่องจากเราเป็นมนุษย์กรุงเทพฯ คนหนึ่งที่ต้องเสี่ยงดวงกับการข้ามทางม้าลายบ่อยมาก และมักจะต้องมองแรงใส่ยานพาหนะทุกคันที่พยายามจะเปลี่ยนทางม้าลายเป็นทางไว้อาลัย เราไม่เข้าใจความรู้สึกคนขับรถ หรือขี่มอเตอร์ไซค์ว่าเขารู้สึกอย่างไรเวลาเห็นทางม้าลาย รู้สึกตื่นเต้น? รู้สึกฮึกเหิม? รู้สึกเบื่อหน่าย? ส่วนคนที่ต้องใช้อย่างเราๆ บอกเลยว่ารู้สึกกลัว!! แต่เอาล่ะ เราจะไม่ใช้ความรู้สึกของเราคนเดียวในการตัดสิน เราจึงโพสทวิตเตอร์ตั้งคำถามว่า “คุณรู้สึกอย่างไรเวลาเห็นทางม้าลาย ในฐานะของคนข้ามถนน หรือ คนใช้ยานพาหนะ” ขอหยิบยืมตัวอย่างสัก 4-5 ประโยคมาหน่อยแล้วกัน

“ถ้าไม่ใช่ทางม้าลายที่มีสัญญาณไฟก็รู้สึกว่าต้องข้ามตรงนี้ แต่ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยค่ะ ถ้ามีสะพานลอยใกล้ๆก็ยอมเดินขึ้นสะพานลอย”

“มึงจำโรคกลัวถนนของกูได้ปะ ห้าวทุกสิ่ง พอเดิยข้ามถนนขอเดินจับแขน เพราะว่า ไม่รู้ว่าจะมีอะไรพุ่งมาชนไง”

“ในมุมของคนใช้ยานพาหนะรถยนต์ รู้สึกถึงความไม่ชัดเจน อะรุ่มอะหร่วย ไม่ศักดิ์สิทธ์ ฝ่าฝืนไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยิ่งรถเล็ก มอเตอร์ไซที่คล่องตัว อย่าว่าแต่ทางม้าลายเลย แยกไฟแดงพวกเค้าก็ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อที่จะได้ไปถึงเร็วขึ้น”

“มุมมองจากคนข้ามทางม้าลาย: รู้สึกไม่ปลอดภัยเลยค่ะ มีทางม้าลายอยู่แล้วแต่ตอนจะข้ามก็ต้องมองซ้ายมองขวาหลายรอบมากๆ จนแน่ใจว่าปลอดภัยถึงจะกล้าข้าม ทางม้าลายที่ไม่มีปุ่มกดข้ามรถก็ไม่ค่อยหยุดให้ ต้องยืนรอหาจังหวะข้ามเอาเอง บางที่รถมาจอดข้างทางทับทางม้าลายด้วยค่ะ ข้ามยากไปอีก”

“เคยเห็นกับตา บางถนนที่เล็กแต่ยาว ซอยแยกเยอะ ทางม้าลายไม่มี เป็นการข้ามแบบ “วัดใจ” และตู้ม มอไซค์สอยเค้าร่วงต่อหน้าเลยค่ะ อยู่ปอหก กด191แต่พูดไม่รู้เรื่อง จนเห็นพี่วินมาช่วยเลยกดวาง เพราะไม่รู้ต้องทำไง เลยฝังใจ ถ้าไม่ชัวร์ไม่ข้าม ไม่ลุ้นไม่อะไรทั้งนั้น กลัวพิการไม่กลัวตาย”

จากความเห็นของประชาชนชาวไทยที่เราได้ยกตัวอย่างมา เห็นได้ชัดว่าพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้ใจกับทางม้าลาย ที่เคลมตัวเองว่า “เป็นทางสำหรับให้คนข้ามถนนอย่างปลอดภัย”

ตัวผู้เขียนเองมักจะได้ยินข่าวผู้สูงอายุโดนรถชนบริเวณทางม้าลายแถวบ้านอยู่บ่อยๆ ฟังแล้วก็หดหู่และกำหมัดไปในเวลาเดียวกัน แต่เอาจริงๆ พอมาคิดดูดีๆ ทางม้าลายมันก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกเพราะมันก็อยู่ของมันเฉยๆ ไม่มีชีวิต พูดไม่ได้ ต่อให้พูดได้ก็คงตกเป็นจำเลยสังคมที่โดนโบ้ยความผิดว่า แกน่ะทำให้คนโดนรถชน! แกน่ะมันไม่ปลอดภัย!! แกน่ะ…บลาๆ ร้อยแปดพันอย่าง ทั้งๆ ที่ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ “ความประมาท” และ “ไม่มีระเบียบ” ของคนต่างหาก

งั้นเอาล่ะ เราจะมาเปลี่ยนทางไว้อาลัย กลับสู่ทางม้าลายอย่างที่มันควรจะเป็นกัน

ตอนนี้มีคนคิดวิธีแก้คือวางธงสีไว้ ให้คนข้ามถนนชูขึ้น กับอีกแบบคือยกมือขึ้นเองเพราะธงไม่ได้มีทุกที่ เรียกได้ว่าใครจะประกวดนางสาวไทยหรือมิสยูนิเวิร์สก็สามารถมาซ้อมโบกมือ ยกมือแบบผู้แข็งแกร่งได้ตามทางม้าลายทั่วกรุงเทพฯ

เราได้นั่งครุ่นคิด นอนคิด สะพานโค้งคิด ว่าจะทำอย่างไรที่จะเอาตัวรอดได้จากทางไว้อาลัย เอ๊ย! ทางม้าลาย เป็นโจทย์ที่ยากพอตัว แต่ไม่เป็นไร จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ คิดไว้ก่อนทำได้หรือไม่ค่อยว่ากัน!

แบ่งออกมาเป็น 3 ความคิด

ความคิดที่หนึ่ง เราควรติดสัญญาณไฟจราจรสำหรับทางม้าลายให้กระจายวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม เป็นวิธีที่ง่ายสุดในการที่จะลดการเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลาย เราจะให้สัญญาณไฟเป็นสิ่งที่จะคอยฝึกให้คนไทยเรารู้จักรอ และเป็นระเบียบมากขึ้น รอเขาตอบกลับยังรอได้ รอคนข้ามถนนแค่นี้คงไม่เท่าไหร่หรอกคุณ!

ความคิดที่สอง เราคิดว่าการทำป้ายด้วยข้อความที่สะดุดใจภายใน 3 วิ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก คนสมัยนี้มีความต้องการในการรับข่าวสารที่รวดเร็ว กระชับ ฉับไว และนึกถึงโครงการรณรงค์สุดเจ๋งในอดีต “ตาวิเศษเห็นนะ” ที่เห็นทีไรก็สะดุดใจไม่กล้าทิ้งขยะมั่วซั่วทุกที เพราะฉะนั้นถ้าเราลองดึงความเป็นตาวิเศษเห็นนะ มาประยุกษ์ใช้ เปลี่ยนเป็นข้อความสั้นๆ ที่แปะตามเสาตรงทางม้าลายประหนึ่งป้ายหาเสียง หรือทำเป็นป้ายไว้ชูตอนข้ามถนน เช่น ใจร้อนเหรอเรา, รีบไปเขาก็ไม่รัก, เราหยุดแล้วแต่ท่านยังไม่หยุด, อ่านไม่ตอบเจ็บไม่เท่าจะข้ามแล้วไม่หยุด หรือ พี่เห็นหนูไหม เป็นต้น ส่วนตัวเราไม่อยากใช้คำทางการเกินไป อยากเน้นใช้ข้อความที่ให้ผู้อ่านรู้สึกขำขันแต่พร้อมที่จะตระหนักในสิ่งที่ทำ

ความคิดที่สาม ลองเปลี่ยนรูปทรงของทางม้าลาย จากสี่เหลี่ยมธรรมดา ให้กลายเป็นโครงของคนที่กำลังนอนอยู่ในท่าต่างๆ นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงจุดเกิดเหตุของคดีหนึ่ง แล้วตำรวจเอาเทปมาติดเป็นท่าทางของคนเสียชีวิตเพื่อเก็บหลักฐานนั่นแหละ แล้วเขียนข้อความตัวโตๆ ในตัวแต่ละคน เช่น แม่, พ่อ, ลูก, ภรรยา, ป้าข้างบ้าน เป็นต้น อาจจะดูยุ่งยาก แต่เราจะทำเป็นแคมเปญเพื่อให้คนใช้ถนนได้ตกใจว่าเฮ้ย! ทำไมทางม้าลายเปลี่ยนไป! เกิดอะไรขึ้น! เป็นการสะท้อนว่าจริงๆ แล้วทางม้าลายไม่ใช่ที่ๆ ปลอดภัย แต่เป็นที่ๆ ทำให้ใครหลายคนจบชีวิตมาแล้วนับไม่ถ้วน เตือนสติว่าถ้าหากคนที่เกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลายเป็นคนใกล้ตัวคุณจะรู้สึกเช่นไร โดยเราจะทำบนถนนเส้นหลักที่มีการจราจรหนาแน่นหรือเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลายบ่อยๆ และต่อยอดจัดนิทรรศการตีแผ่วงการทางม้าลายต่อไป

และทั้งหมดคือสามความคิดที่ดิฉันได้ลองกลั่นกรองออกมา และหวังว่ามันจะมีสักความคิดที่สามารถพาให้ชาวกรุงเทพฯ สามารถเอาตัวรอดได้กับเจ้าทางม้าลายตัวร้าย

ทางม้าลายจะไม่ใช่ทางไว้อาลัยอีกต่อไป ถ้าพวกเราลุกขึ้นมาแก้ปัญหากันตั้งแต่ตอนนี้ ลุกขึ้นมาวัยรุ่น! เราอย่าปล่อยให้สิ่งที่ควรปลอดภัยที่สุดบนถนนกลายเป็นสิ่งที่จบชีวิตเราได้ง่ายที่สุด!!!!