ใครเคยเห็นโฆษณารับซื้อตุ๊กแกตัวละเป็นล้านไหม?
และสงสัยไหมว่า เขาซื้อไปทำอะไร?
ก่อนเข้าเรื่องค้าขาย เรามาทำความรู้จักตุ๊กแกกันก่อน
ในเชิงกายภาพ คงไม่ต้องบรรยายมาก เชื่อว่าแค่เอ่ยชื่อ ภาพสัตว์เลื้อยคลานตัวสีเทาลายจุดแดงของ ‘ตุ๊กแกบ้าน’ (Gecko gecko) ตามผนังทั่วประเทศไทย คงผุดขึ้นมาในห้วงความคิด
ตามปกติ ตุ๊กแกจะเกาะติดอยู่กับผนังหรือต้นไม้เพื่อรอให้เหยื่อเข้ามาใกล้ แล้วตวัดลิ้นฉกเข้าปากอย่างรวดเร็ว
ตุ๊กแกกินแมลงทั่วไป ทั้งยุง แมลงสาบ ด้วง แมงป่อง ผด ผีเสื้อ ตะขาบ ไปจนถึงหนูตัวเล็กๆ เรียกว่ากินแทบทุกอย่าง และเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในการจัดระเบียบของระบบนิเวศ
ส่วนเหตุผลที่ตุ๊กแกเกาะได้แน่นเหนียว เพราะใต้นิ้วเท้ามีแผ่นบางๆ เรียงซ้อนกัน ซึ่งเป็นเซลล์ขนาดเล็กทำหน้าที่ยึดเกาะพื้นผิว และบริเวณปลายนิ้วมีเล็บที่ช่วยในการยึดเกาะอีกทีหนึ่ง
เมื่อโตเต็มวัย ตัวผู้จะมีโคนหางที่ใหญ่กว่าตัวเมียเพื่อเคาะบอกอาณาเขต เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ตุ๊กแกจะร้องเรียกหาคู่เป็นเสียง “ตะ ตะ ตุ๊ก แก” แบบที่เราได้ยินกันบ่อยๆ
ไข่ตุ๊กแกเป็นไข่ทรงวงรี มีเปลือกหนา และมักเกาะอยู่บนกำแพง ครอบครัวตุ๊กแกที่เพิ่งคลอดจะมีนิสัยดุร้ายเป็นพิเศษ และลูกตุ๊กแกจะอยู่กับพ่อแม่ราว 1 ปี จากนั้นก็จะออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง
นอกเหนือจากเท้าเหนียวๆ ตุ๊กแกยังมี ‘ดวงตา’ ที่ดีมาก ในตอนกลางคืน ใครที่ชอบดูดาวอาจจะอิจฉา เพราะเชื่อกันว่าตุ๊กแกตาดีถึงขั้นมองเห็นทางช้างเผือกได้ทุกค่ำคืน
เอาล่ะ ถึงคำถามสำคัญ ตุ๊กแกธรรมดาๆ ขายได้ราคาเป็นล้านจริงหรือ?
คำตอบคือ “จริง”
การรับซื้อตุ๊กแกส่วนใหญ่ จะนำไปสกัดทำยาบำรุงร่างกาย
ในประเทศมาเลเซียเชื่อว่า ตุ๊กแกที่มีขนาดใหญ่มีสรรพคุณในการสกัดเป็นยารักษาโรคได้ และยิ่งมีขนาดตัวที่ใหญ่เท่าใด ก็จะยิ่งสกัดน้ำมันได้มากเท่านั้น ตุ๊กแกยักษ์จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
ใครที่คิดจะรวยจากการจับตุ๊กแกตัวใหญ่มาขายต้องบอกว่าไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะตุ๊กแกตามบ้านส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ประมาณ 13-14 นิ้วเท่านั้น
ส่วนตุ๊กแกที่รับซื้อกันแพงๆ จะเริ่มต้นที่ขนาดตัว 15 นิ้วขึ้นไป ราคาขายราวๆ หลักหมื่น ส่วนที่ขายได้ตัวละเป็นล้าน ต้องมีขนาดใหญ่กว่า 17 นิ้วขึ้นไปเท่านั้น
ตุ๊กแกตัวใหญ่ขนาดนั้น ต้องมีอายุอย่างน้อยๆ ราว 5 ปีขึ้นไป ถึงจะมีขนาดใหญ่พอที่จะขาย
ดังนั้นคนที่ขายตุ๊กแกจนร่ำรวยก็ต้องตั้งอกตั้งใจเลี้ยงพอสมควร
ส่วนถ้าใครอยากจะลองจับตุ๊กแกไปขายบ้างก็ระวังจะจับผิดชนิด เพราะปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่ตุ๊กแกบ้านแล้ว ยังมีตุ๊กแกอื่นๆ ถึง 19 ชนิด ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
อ้างอิง: ไทยรัฐ. ‘ตุ๊กแกบ้าน’มีประโยชน์…ช่วยจัดระบบนิเวศน์ คุมศัตรูพืช. https://bit.ly/2YUyNEN
เดลินิวส์. หนุ่มรับซื้อ’ตุ๊กแกตัวละล้าน’ เผยส่งขายทำยาที่มาเลเซีย. https://bit.ly/3gemybG
มติชนออนไลน์. จ่ายกันสดๆ รับซื้อตุ๊กแกยาว 16 นิ้วตัวละหมื่น ถ้ายาวเกิน 17 นิ้วตัวละล้าน. https://bit.ly/2YTeMy4