หากพูดถึง ‘ซาวน่าเกย์’ ภาพแรกที่ผุดขึ้นในหัวของคุณคืออะไร?
เนื่องจากเดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Month
Brandthink จึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับ ‘ซาวน่าเกย์’ พื้นที่วัฒนธรรมย่อยในกลุ่มชาวเกย์ (Gay man) ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้
เพราะ ‘ซาวน่าเกย์’ ไม่ใช่ห้องอบไอน้ำแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่คือ ‘เซ็กซ์’
ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นซาวน่าเกย์ เราขอเล่าถึงประวัติศาสตร์และแนวคิดของ ‘ซาวน่า’ แบบย่อๆ กันก่อน
จุดเริ่มต้นของพื้นที่แห่งนี้มาจาก ‘โรงอาบน้ำ’ หรือ ‘Bath house’ ในสมัยจักรวรรดิโรมัน ซึ่งเป็นพื้นที่ในการพบปะ สังสรรค์ พร้อมกับอาบน้ำร่วมกัน ก่อนจะวิวัฒนาการสู่วัฒนธรรมการอาบน้ำในประเทศอื่นๆ รวมถึงฟินแลนด์ ประเทศผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘ซาวน่า’
วัฒนธรรม ‘ซาวน่า’ ของฟินแลนด์นั้นมีรายละเอียดค่อนข้างลึกซึ้งกว่าการอาบน้ำร่วมกัน หรือใช้ความร้อนป้องกันเชื้อโรค
เพราะชาวฟินแลนด์เชื่อว่าพื้นที่ซาวน่ามีความศักดิ์สิทธิ์คล้ายโบสถ์ ดังนั้น เมื่อคุณเปิดเปลือยร่างกายในที่แห่งนี้ นั่นเท่ากับว่า คุณปราศจากเสื้อผ้า ชนชั้น และการโกหก
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 การเป็น ‘เกย์’ หรือชายที่รักร่วมเพศนับเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ในสังคม จนนำมาสู่การทำร้ายร่างกาย และบางครั้งก็ถึงขั้นถูกจับกุม เพียงเพราะมีสัมพันธ์รักในบ้านของตัวเอง
เมื่อ ‘บ้าน’ ไม่อาจเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด การมีสัมพันธ์รักในที่สาธารณะ (ที่ลับตาคนในสังคม) จึงเกิดขึ้น
ปัจจุบัน ‘ซาวน่าเกย์’ ที่เป็นส่วนผสมของวัฒนธรรมซาวน่าและการปฏิสัมพันธ์ในที่สาธารณะ กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมย่อยของเกย์ทั่วโลก
คนนอกอาจมองซาวน่าเกย์ว่า คงเต็มไปด้วยการมั่วสุมและเรื่องโลกีย์ แต่ความจริงแล้ว ‘ซาวน่าเกย์’ เป็นมากกว่านั้น
“มันคือพื้นที่ที่แสดงตัวตนว่า ฉันรู้สึกผ่อนคลาย เป็นตัวของฉันเอง มาเจอคนที่คุยภาษาเดียวกัน คุยแล้วเข้าใจกันจริงๆ” (โควท)
เพื่อให้เข้าใจซาวน่าเกย์มากขึ้นกว่าการอ่านข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เราติดต่อหา อาร์ม-อัครเษรต เชวงชินวงศ์ อดีตผู้จัดการซาวน่าเกย์ชื่อดัง ที่ปัจจุบันเปิดซาวน่า BKK Krub แถวพระขโนง ผู้อยู่ในวงการซาวน่ามานานหลายปี เคยเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการ
เพื่อถามว่า จริงๆ แล้ว ซาวน่าเกย์คืออะไร?
(หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563)
ซาวน่าเกย์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่?
แรกเริ่มคงเริ่มจากการเป็นซาวน่าธรรมดา แต่น่าจะเมื่อประมาณ ปี 60-70 ที่อเมริกา ก็เริ่มรู้ว่าซาวน่าที่มีอยู่ มันตรงจริตกลุ่มเกย์ นักธุรกิจก็เห็นว่ามันเป็นตลาดที่เติบโต พอมีช่องทาง เขาก็ปรับให้เข้ากับความต้องการ ก็เกิด ‘ซาวน่าเกย์’ ขึ้น จากนั้นก็เริ่มมีเรื่องสิทธิของเกย์เข้ามา ซาวน่าก็บูมขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณปี 90s ที่มีปัญหา HIV ซาวน่าเกย์ในฝั่งตะวันตกก็เริ่มลดลง
ส่วนในประเทศไทย ซาวน่าเกย์แห่งแรกน่าจะเกิดขึ้นประมาณ 40 ปีก่อน ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่ง ตอนนี้ปิดไปแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มมีที่อื่นๆ เปิดขึ้นมา แต่ละที่ก็มีคาแรกเตอร์ต่างกัน แต่ว่าจุดมุ่งหมายหลักๆ คือพบปะกัน มีสัมพันธ์กัน
ปัจจุบันสังคมมองซาวน่าเกย์ยังไง
ยังเป็น ‘พื้นที่สีเทา’ (Gray area) อย่างหนึ่งเลยคือเรื่องของเซ็กซ์ ก็รู้กันว่าประเทศไทยไม่สามารถเปิดเผยเรื่องนี้ได้มากอยู่แล้ว เพราะยอมรับกันได้ยาก แต่ทุกวันนี้ก็เปิดกว้างขึ้นเยอะแล้วนะ ต้องยอมรับว่าหลายแห่งอาจยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นข้างใน เช่น ยาเสพติด หรือการขายบริการ ซึ่ง 2 อย่างนี้เป็นสิ่งที่คนทำซาวน่าต้องไม่สนับสนุน และควรทำให้ถูกต้อง
เวลาพูดถึงซาวน่าเกย์ คนจะชอบถามว่า ข้างในเป็นซาวน่าหมดเลยจริงๆ รึเปล่า?
เป็นคำถามที่คนชอบสงสัย (หัวเราะ) ซาวน่าเกย์มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เป็นห้องอบไอน้ำอย่างเดียว เช่น รีเซฟชั่น ล็อกเกอร์ ห้องสำหรับทำ ‘กิจกรรม’ อาจจะเป็นห้องเล็กๆ ไปถึงใหญ่ๆ บางแห่งอาจมียิม ห้องสตรีม แล้วก็บาร์ ส่วนใหญ่จะมีประมาณนี้
ส่วนในเรื่องกิจกรรมซาวน่าปกติ ก็มีแจกถุงยาง แจกเจลหล่อลื่น คือซาวน่าพยายามดูแลและให้ความสำคัญในการป้องกันเรื่องโรคติดต่อ เพราะเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ทุกคนดูแลตัวเองเต็มที่
เทียบวันนี้กับสมัยก่อน ซาวน่าเกย์ เปลี่ยนไปไหม?
เปลี่ยนไปมาก เรามีความกล้าที่จะเปิดเผยมากขึ้น เมื่อก่อนการไปซาวน่านี่คือต้องแอบๆ ไปคนเดียว หรือกับเพื่อนสนิท กว่าจะมีเซ็กซ์กัน มองกันแล้วมองกันอีก ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป คนอาจจะนัดกันมาก่อนผ่านแชท แล้วใช้ซาวน่าเป็นพื้นที่ในการพบปะกัน
แล้วเดี๋ยวนี้คนกล้าที่จะเปิดเผยเนื้อหนังมากขึ้น แต่ก่อนคือซาวน่าจะต้องตรียมผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่กับชุดคลุมแบบในโรงแรมให้คนที่มาใช้บริการ แต่เดี๋ยวนี้ ไม่จำเป็นแล้ว แค่ผ้าเช็ดตัวผืนเดียวก็โอเคแล้ว (หัวเราะ) ผืนเล็กด้วย
อย่างในซาวน่าที่เราเคยทำงาน เราก็จัด Bear Night ทุกวันพุธ เพื่อให้คนที่รู้สึกว่าตัวเองอ้วนหรือหุ่นหมี รู้สึกว่าที่นี่คือที่ของเขานะ เราคิดว่านี่คือหน้าที่หนึ่งของซาวน่าเกย์ คือทำให้ทุกคนในสังคมเกย์ของเรามีพื้นที่
ซาวน่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะมา empower คนในกลุ่มเกย์?
ใช่เลย เราพยายาม empower ให้ทุกคนได้เป็นอย่างที่ตัวเองเป็น สังคมข้างนอกกดดันเรามากแล้ว ถ้ามีสถานที่ให้เราได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่มีใครตัดสินเรา เราคิดว่าซาวน่าเกย์คือหนึ่งในนั้น
แสดงว่าที่เราพูดว่า สังคมไทยเปิดรับเกย์ จริงๆ คือไม่ใช่?
ส่วนตัวเราคิดว่ามันเป็นความกดดันแบบที่หญิงชายก็อาจต้องเจอ แต่ความเป็นเกย์มันจะต้องเจอมากกว่า เราต้องพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าฉันทำได้ ฉันเป็นได้ ฉันอยู่ได้ แล้วความคาดหวังของคนรอบตัวก็กดทับเราเข้าไปอีก บางคนก็เจอหนัก ความเหงาความกดดันพวกนี้แหละ ที่จะทำให้คนหันไปพึ่งพาสารเสพติด
แล้วทุกคนที่ไปซาวน่าเกย์ต้องมีเซ็กซ์ไหม
ไม่จำเป็น แต่ทุกคนก็หวังลึกๆ ในใจนะ บางคนก็อาจจะมาเพื่อให้เขาผ่านคืนนั้นไปสักที เพราะมันเหงาเกินจะทน
ความจริงซาวน่าเกย์ก็คือธุรกิจเกี่ยวกับความเหงา แต่เกย์อาจจะเหงามากหน่อย อาจเพราะเป็นเกย์ อยู่ในเมืองใหญ่ มีความกดดันสูง บางคนมาจากต่างจังหวัด เป็นลูกคนเดียว โดนเจ้านายด่า และอีกสารพัดความกดดัน แล้วเขาก็ต้องกลับไปนอนที่ห้องพัก 24 ตรม. สุดท้าย เขาก็ต้องหาที่ใดที่หนึ่งไว้พึ่งพิง ดังนั้น บางคนการมาซาวน่าเกย์อาจไม่ได้มาเพื่อเซ็กซ์เพียงอย่างเดียว
ซาวน่าไม่ได้มีฟังก์ชั่นแค่เรื่องเซ็กซ์ แบบที่เราเคยเข้าใจ?
อย่างที่บอก สำหรับเรา มันคือสถานที่เพื่อการพบปะ เช่น ซาวน่า KrubbBKK ที่เรากำลังจะเปิด เราอยากเปลี่ยนมุมมองของคนที่มองซาวน่าในทางลบ อยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เป็นคอมมูนิตี้มากขึ้น เป็นสถานที่ที่คนอยากมาพบปะพูดคุยกัน มีคาเฟ่อยู่ข้างล่าง มีบ่อออนเซ็นอยู่ข้างบน เพื่อให้กลุ่มคนที่คิดว่าซาวน่าเกย์เป็นที่ที่สกปรก เป็นสถานที่อันตราย เป็นสถานที่ที่คนมามั่วกัน เราอยากจะลบภาพนั้นออกให้หมด อยากให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้มาปลดปล่อยและแสดงตัวตนกันอย่างเต็มที่
บทสนทนาข้างต้น ช่วยให้เรามองเห็นภาพธุรกิจซาวน่าเกย์ และชีวิตของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สังคมยังคงกดดันคนกลุ่มนี้เสมอ เช่นเดียวกับเราที่อาจกำลังทำสิ่งเดียวกันโดยไม่รู้ตัว
โลกในศตวรรษที่ 21 ยังคงเป็นโลกที่ปากว่าตาขยิบ พื้นที่สาธารณะไม่ได้มีความหมายอย่างที่มันเป็น
คนกลุ่มหนึ่งไม่มีพื้นที่ หรือมีก็คงน้อยกว่าคนอื่น พวกเขาไม่อาจแสดงตัวตนที่แท้จริงได้เท่ากับเรา ดังนั้น พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพื่อให้พวกเขาได้แสดงตัวตน เปลื้องเสื้อผ้า คลายกำหนัดและความกดดันจากสังคม
แล้วเปลือยให้เหลือแต่ ‘ตัวเอง’ จริงๆ เท่านั้น.
(ติดตามเรื่องราวในมุมสีเทาของสังคมเกย์ เมื่อความเหงา ความกดดันได้นำพาหลายคนเข้าสู่วังวนของ Chem Sex ยาเสพติดและเพศรสในบทความถัดไป)