ชอบกินดึก หิวดึก หรือจะเป็น Night Eating Syndrome อาการหิวดึก นอนไม่หลับ แถมเศร้าอีกต่างหาก
ถ้าพูดถึงเรื่อง ‘การหาอะไรกินตอนกลางคืน’ หรือ ‘การหิวตอนดึก’ น่าจะนับว่าเป็นพฤติกรรมปกติ ที่เราต่างเคยผ่านกันมาบ้าง
แต่ถ้าเราเริ่มอยากจะกินแต่ตอนกลางคืน กินเยอะมากเป็นพิเศษ ตอนเช้า ตอนกลางวันไม่ค่อยกิน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา อาจไม่ใช่แค่เรื่องของความอ้วน แต่อาจเป็นปัญหาสำคัญของชีวิตได้
Night Eating Syndrome (NES) หรือ ‘อาการชอบกินของตอนดึก’ เป็นโรคที่ (อาจ) เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจเราโดยตรง นักจิตแพทย์ Albert Stunkard ค้นพบโรคนี้ในปี 1955
เขาระบุถึงอาการว่า จะมีความรู้สึกอยากและหิวอาหารในช่วงกลางคืน ไม่กินก็จะนอนไม่หลับ หรือแม้กระทั่งหลับไปแล้วก็จะงัวเงียลุกขึ้นมาหาของกิน เพราะเชื่อว่าการกินจะทำให้นอนหลับ หรือหลับสบายขึ้น
คนที่เป็นโรคนี้มักไม่ค่อยมีความอยากอาหารในตอนเช้าหรือกลางวัน (หลายท่านที่ตื่นเช้า ก็มองว่ามื้อเช้าไม่จำเป็นและไม่อยากกิน) นอนไม่หลับ 4-5 คืนต่อสัปดาห์ รู้สึกหดหู่ซึมเศร้าตอนกลางดึก และจะรู้สึกผิดกับตัวเองที่แอบลุกไปหาอะไรกินตอนกลางคืน
ถึงแม้จะยังไม่ได้ระบุถึงสาเหตุอย่างแน่ชัด แต่หลายฝ่ายเชื่อกันว่า NES มักจะมาจากปัญหาการนอนหลับ นอนไม่เป็นเวลา นอนดึก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย ฮอร์โมนก็จะส่งผลต่ออารมณ์ และความอยาก
ซึ่ง NES มักเชื่อมโยงกับปัญหาทางจิตใจอย่างเรื่องของอาการซึมเศร้า สภาวะเครียด สภาวะวิตกกังวล รวมถึงการใช้งานสารเสพติดอีกด้วย (แต่หลายครั้งก็เกิดจากพฤติกรรมการหิวตอนกลางคืน จนเราเคยชิน และติดเป็นพฤติกรรมปกติ ส่งผลให้นาฬิกาชีวิตและระบบภายในของเราปั่นป่วน)
ผลการศึกษาระบุว่า คนที่มีอาการ NES มักจะทานมือค้ำ/มื้อดึก เป็นปริมาณแคลอรีมากถึง 56% ของแคลอรีที่ได้รับทั้งวัน ซึ่งปกติแล้วควรจะอยู่ในระดับ 15% เท่านั้น
แน่นอนครับ พอเป็นการกินมื้อดึก กินแล้วนอน ก็จะส่งผลในเรื่องของโรคอ้วน (Obesity) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงประเด็นสุขภาพในเรื่องอื่นอย่างกรดไหลย้อน ท้องอืด หรือท้องเฟ้ออีกต่างหาก
มีข้อมูลระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วน (Obesity) จะมีอาการ NES มากถึง 1 ใน 10 ขณะที่คนทั่วไปจะอยู่ที่ 1 ใน 100
ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหา NES มักจะสูญเสียความมั่นใจ และมีอัตราการซึมเศร้าสูง
ถ้าคุณรู้สึกว่า ‘การกินตอนกลางคืน’ เริ่มส่งผลต่อชีวิตคุณ ทั้งในเรื่องสภาพร่างกายและจิตใจ แนะนำให้ลองปรับพฤติกรรมใหม่ แต่ถ้ายาก หรือทำไม่ได้ หรืออาการเริ่มส่งผลรุนแรง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดีกว่า เพราะแพทย์จะมีรูปแบบการรักษาอย่างเป็นระบบ ทั้งในเชิงจิตใจ ทานยา หรือรักษาด้วยฮอร์โมนเพิ่มเติม
แล้วคุณล่ะครับ เคยรู้สึกหิวตอนดึกๆ และมีอาการเข้าข่าย NES บ้างไหม มาแชร์กันดีกว่า!
อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท. Night Eating Disorder. https://bit.ly/37H8ogc
Verywellmind. Night Eating Syndrome. https://bit.ly/3fKQXOV
WebMB. What Is Night Eating Syndrome?. https://wb.md/2Z4mDbl