ถ้าพูดถึงรายการฟุตบอลประเพณีของนักเรียนที่สร้างชื่อให้นักฟุตบอลหลายคน และมีความเก่าแก่ติดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย คงจะเป็นรายการไหนไม่ได้นอกจาก “จตุรมิตรสามัคคี” ซึ่งประกอบไปด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่จัดการแข่งขันทุกๆ 2 ปี ณ สนามกีฬาศุภชลาศัย
จตุรมิตรสามัคคี ได้ทำการแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม-18 พฤศจิกายน มีจุดเริ่มต้นจากอาจารย์ใหญ่ของแต่ละโรงเรียนได้ชักชวนกันให้ร่วมจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง 4 สถาบัน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ กระทั่งเกิดเป็นประเพณีฟุตบอลที่จัดขึ้นทุกๆ ปี โดยทั้งสี่โรงเรียนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และมีเว้นเป็นบางปี กระทั่งช่วงหลังจึงเปลี่ยนเป็นจัด 2 ปีครั้งจนถึงปัจจุบัน
ด้วยทั้งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ต่างก็เป็นโรงเรียนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อีกทั้งเหล่ากองเชียร์และนักกีฬาล้วนเป็นเด็กชายอยู่ในวัยกำลังเติบโต ทำให้การแข่งขันแต่ละครั้งขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น ท่ามกลางเสียงเชียร์ที่คึกคักกึกก้อง เพราะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของโรงเรียน เด็กๆ และศิษย์เก่าแต่ละคนล้วนมีความรู้สึกร่วมกับประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
ทำให้เมื่อการแข่งขันดังกล่าวเริ่มขึ้น หลายคนจึงจับตามอง โดยเฉพาะคนในวงการฟุตบอลไทยที่กำลังมองหาแข้งดาวรุ่ง ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาฟุตบอลรายการนี้ได้สร้างนักเตะดาวรุ่งป้อนสู่ทีมชาติไทยและสโมสรชั้นนำในไทยมานักต่อนัก ถือได้ว่าทั้ง 4 โรงเรียนนี้เป็นอะคาเดมียุคเริ่มต้นของฟุตบอลไทยก็ว่าได้
หากพูดชื่อนักเตะดังที่เคยผ่านเวทีนี้มาหลายคนจะต้องคุ้นชื่อแน่ ไม่ว่าจะเป็น ปกเกล้า อนันต์ (แบงค็อก ยูไนเต็ด) กัปตันทีมโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 127 ที่เก่งเกินวัย เป็นจอมทัพของทีมตั้งแต่เจ้าตัวยังอยู่ ม.5 และสามารถพาทีมคว้าแชมป์ไทยแลนด์ ไฮสคูล 2008 ได้อีกด้วย
เชาว์วัฒน์ วีระชาติ (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 132 ด้วยฝีเท้าโดดเด่นแม้เจ้าตัวเพิ่งเข้ามาสวนกุหลาบได้ปีเดียวแต่เขาก็สามารถพาทีมคว้าแชมป์จตุรมิตร 2555 ร่วมกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และยังมีประสบการณ์ได้ไปเล่นในเจลีกกับ เซเรซโซ โอซากะ ยู23 อีกด้วย
ธีรเทพ วิโนทัย (ชลบุรี เอฟซี) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รุ่น 150 นักเตะที่ฉายแววตั้งแต่เด็กๆ ที่สามารถพาโรงเรียนคว้าแชมป์มานักต่อนักตั้งแต่ระดับ ม.ต้น แม้ตอนนี้เขาจะมีอายุขึ้นเลขสาม แต่ก็เป็นนักเตะตัวอย่างให้กับรุ่นน้องๆ ทั้งด้วยร่างกายที่ฟิตและฟอร์มการเล่นที่ยังยอดเยี่ยม
นอกจากนั้นยังมีทั้ง กิตติศักดิ์ ระวังป่า (โรงเรียนอัสสัมชัญ) โชคทวี พรหมรัตน์ (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน) อดิศร พรหมรักษ์ (โรงเรียนสวนกุหลาบ) สุทธินันท์ พุกหอม (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน) วรวุธ ศรีมะฆะ (โรงเรียนสวนกุหลาบ) พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี (โรงเรียนเทพศิรินทร์) อดิศักดิ์ ไกรษร (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน) และอีกหลายคนที่ยังไม่ได้กล่าว
เท่านี้ก็การันตีได้แล้วว่าจตุรมิตรสามัคคีเป็นแหล่งผลิตนักเตะชั้นดีให้กับวงการฟุตบอลไทยมาโดยตลอด แม้ปัจจุบันนักเตะที่ก้าวออกมาเป็นแข้งระดับซูเปอร์สตาร์จะน้อยลง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย ด้วยโรงเรียนเหล่านี้ได้ผลิตนักฟุตบอลมาแล้วมากมาย ทำให้นักเตะระดับตำนานหลายคนเลือกที่จะส่งลูกหลานไปโรงเรียนที่เขาได้แจ้งเกิด เพื่อบ่มเพาะเด็กๆ ให้ได้เรียนรู้ทักษะฟุตบอลอย่างที่เขาเคยผ่านมา แน่นอนว่าทั้งสี่โรงเรียนนี้ยังคงเป็นที่ไว้ใจของผู้ปกครองหลายคนที่อยากสนับสนุนลูกหลานให้เอาดีกับกีฬาฟุตบอล
สำหรับการแข่งขันจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 29 ที่ผ่านมา รอบชิงชนะเลิศจัดที่สนามศุภชลาศัย เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 62 โรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นฝ่ายเอาชนะโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนไปได้ 2-0 คว้าแชมป์ไปครอง นับเป็นแชมป์ครั้งแรกในรอบ 20 ปี ของโรงเรียนเทพศิรินทร์อีกด้วย