เคยทำอะไรแล้วรู้สึกเสียใจในภายหลังไหมครับ?
เคยรู้สึกว่าไม่น่าทำแบบนั้นเลยหรือเปล่า?
เชื่อไหมว่า การหยุดรอสัก 60 วินาที อาจจะเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยคุณไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากอารมณ์ของตัวเองก็ได้นะ
คุณ Amelia Aldao Ph.D. เธอได้นำเสนอแนวคิดนี้ผ่านเว็บไซต์ด้านจิตวิทยาอย่าง Psychology Today ครับ โดยหลังจากเธอได้เขียนบทความลงไป เนื้อหาดังกล่าวก็ถูกหยิบขึ้นมาเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่กระแสดีคอนเทนต์หนึ่งเลยทีเดียว
ต้องขอเล่าให้ฟังก่อนว่า ดอกเตอร์ Amelia เป็นนักจิตวิทยาคลินิก และผู้ก่อตั้ง Together CBT คลินิกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเยียวอาการอย่าง อาการวิตกกังวล (Anxiety) โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ความเครียด และอาการซึมเศร้า (Depression) หรือพูดง่าย ๆ เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริงในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจิตของมนุษย์นั่นเอง
อย่างที่เรากล่าวไปในด้านบนครับ เราพลั้งพลาดทางอารมณ์กันเยอะมาก เพราะฉะนั้นการควบคุมมันให้ได้จึงสำคัญในการดำรงชีวิต ทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์และการงาน แล้วจะทำอย่างไรถึงจะควบคุมอารมณ์ได้อย่างอยู่หมัดล่ะ? เธอได้นำเสนอกฎ 60 วินาทีครับ ก่อนที่จะส่งข้อความด้วยความโกรธ ก่อนที่จะปฏิเสธการเชิญชวนอะไรบางอย่าง ก่อนจะปฎิเสธโอกาสที่มาถึง ก่อนจะส่งอีเมลบ่นหัวหน้าเกี่ยวกับการทำงาน ลองหยุดสักนิด ก่อนจะทำอะไรด้วยอารมณ์ แวะพักอารมณ์สัก 60 วินาทีกันก่อน
60 วินาทีจะเปิดโอกาสให้คุณได้สำรวจร่างกายและอารมณ์ตัวเอง มันจะทำให้คุณไตร่ตรองความคิดของคุณเองก่อน มันอาจจะทำยาก แต่ลองตั้งเวลาในมือถือเป็นตัวช่วยก็ได้ครับ แล้วพอครบ 60 วินาที ค่อยมาดูกันว่าเราอยากจะทำแบบนั้นอยู่หรือเปล่า
เธอระบุอีกว่า ถ้า 60 วินาทียังไม่พอ คุณสามารถเพิ่มระยะเวลาเป็น 2 นาทีหรือ 5 นาทีเลยด้วยซ้ำ โดยตัวเลขเจาะจงเหล่านี้ไม่สำคัญมากครับ พยายามหาช่วงเวลาที่เหมาะสมกับตัวเองให้ได้มากที่สุดจะดีกว่า
บางคนอาจจะเรียกวิธีการเล่านี้ว่า ‘การมีสติ’ หรือ ‘Mindfulness’ ครับ หรือบางท่านก็เรียกที่จะเรียกมันว่า การสำรวจอารมณ์ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ไม่สำคัญ การปล่อยเวลาให้ไหลผ่านไป ทำให้เรามีห้วงเวลาที่จะสำรวจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น และยิ่งมีเวลามากเท่าไหร่ คุณจะจัดการและควบคุมมันได้มากขึ้นนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามครับ ถ้าคุณรู้สึกว่าการใช้อารมณ์ของตัวเองส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำก็ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก็น่าจะเหมาะสมที่สุด อย่าไปคิดว่าการไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นสิ่งไม่ดีครับ เพราะเมื่อร่างกายมนุษ์ป่วยได้ จิตใจเราก็ป่วยได้เช่นกัน มันเป็นเรื่องปกติเอาเสียมาก ๆ เลย
แล้วคุณล่ะครับ คิดว่าแนวคิด หรือวิธีการนี้ใช้ได้หรือเปล่า นำไปลองทำ แล้วมาร่วมแชร์กันหน่อยดีกว่า
อ้างอิง: The 60-Second Approach to Managing Emotions, Amelia Aldao Ph.D. (https://bit.ly/2Iys2zf)