ข่าวดี! เสือโคร่งในป่าไทยเพิ่มขึ้นจาก 80 ตัว เป็น 160 ตัว สะท้อนป่าเมืองไทยยังดี
การประเมินจำนวนเสือโคร่งในป่าธรรมชาติของไทยก่อนหน้านี้ พบว่าในปี 2556 ประเทศเรามีเสือโคร่งเหลืออยู่ประมาณ 60-80 ตัว
แต่ข้อมูลล่าสุดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าจำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 130-160 ตัว
ตัวเลขนี้มาจากแหล่งข้อมูล 3 ส่วน
หนึ่ง การเก็บข้อมูลภาคสนามของนักวิจัยที่ติดตามร่องรอยและบันทึกภาพโดยกล้องดักถ่ายอัตโนมัติที่ติดไว้ในผืนป่าต่างๆ เช่น ในพื้นที่กลุ่มป่าทางฝั่งตะวันตกอย่างห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร แม่วงก์ ฯลฯ และพื้นที่ทางเขาใหญ่เป็นหลัก
สอง รายงานโดยอ้างอิงจากจำนวนเสือโคร่งที่ถูกถ่ายภาพได้ และได้รับการเปรียบเทียบจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ผ่านการตรวจสอบลวดลายบนตัวเสืออย่างละเอียด
เพราะเสือโคร่งแต่ละตัวจะมีลายบนตัวไม่เหมือนกัน ทำนองเดียวกับลายนิ้วมือของคนเรานั่นเอง
สาม อ้างอิงจากที่ยังเห็นพวกมันวนเวียนเดินผ่านกล้องดักถ่าย รวมไปถึงการติดตามผ่านการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมไว้ที่ตัวเสือ ซึ่งหากหายนานเกินไป ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า ได้ย้ายไปอยู่ในที่ที่ไม่มีกล้องดักถ่ายภาพติดตั้ง หรือถ้าเป็นเสือโคร่งที่อายุมากแล้ว ก็อาจเดาได้ว่า เสียชีวิต (อายุขัยเฉลี่ยของเสือโคร่งในป่า คือ 15 ปี)
เรื่องนี้ถือเป็นข่าวดี เพราะการรักษาเสือโคร่งได้ หมายถึงงการรักษาป่าในภาพรวมของระบบนิเวศได้ทั้งหมด
1.
เสือ นับเป็นนักล่าสูงสุดของป่าในประเทศไทย ซึ่งสามารถใช้ชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า
เพราะป่าจะมีเสือได้ ต้องมีอาหารของเสือ คือ เก้ง กวาง กระทิง วัวแดง ไปจนถึงลูกช้าง และป่าที่จะมีเหยื่อของเสือได้ ก็ต้องมีความสมบูรณ์พร้อมเหมือนกัน
นอกจากนี้ เสือโคร่งในไทย คือ เสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 สายพันธุ์ย่อยของเสือโคร่งที่เหลือรอดในปัจจุบัน พบได้แค่ในป่าของประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และมาเลเซีย เท่านั้น
มองในภาพรวม เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบัน ทั่วโลกมีเสือโคร่งเหลือรอดอยู่ประมาณ 3,500 ตัว ในป่า 13 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ รัสเซีย ภูฏาน อินเดีย เนปาล จีน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และไทย
แต่จากข้อมูลในพื้นที่ ใน 13 ประเทศ ที่ (เคย) ปรากฏว่ามีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติ ตอนนี้อาจเป็นเพียงเรื่องราวเล่าขานของวันวาน
เช่น จากรายงานที่ยังไม่เป็นทางการ ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา ไม่พบหลักฐานชัดๆ อย่าง ‘ภาพถ่าย’ มาหลายปีแล้ว
เช่นเดียวกับจีน แม้จะมีโครงการส่งสัตว์ไปให้ต่างประเทศช่วยเพาะเลี้ยง (แบบเดียวกับที่ไทยเคยรับเอาแพนด้ามาผสมพันธุ์) ก็ไม่มีหลักประกันว่า เสือโคร่งที่ถูกส่งกลับมาจะเอาตัวรอดได้ เมื่อนำไปปล่อยป่าจริงๆ
จากประเทศทั้งหมดที่ระบุว่า (เคย) มีเสือโคร่ง ถึงตอนนี้มีแค่ไทย อินเดีย และเนปาล ที่กล้าออกมาบอกว่า “เสือโคร่งเพิ่มขึ้น”
ประเทศอื่นๆ สถานการณ์ค่อนข้างทรงตัวและลดลง สาเหตุอาจมาทั้งที่ทราบแน่แล้วว่าลดลง หรือไม่ก็ไม่ได้ทำงานวิจัยในพื้นที่อย่างเข้มข้นเหมือนเมืองไทย ข้อมูลใหม่ๆ จึงไม่ปรากฏออกมามากนัก
2.
ปัจจุบัน เสือยังคงเป็นสัตว์ที่อยู่ในลิสต์รายการที่คนต้องการเอาหนังไปเสริมบารมี เอาเนื้อไปกิน เอากระดูกกับอวัยวะเพศ (ผู้) ไปปรุงยา
บวกกับเรื่องโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก็ทำให้เสือบางแห่งอาจไม่มีที่อยู่ เช่นเดียวกับการพัฒนาถนนหนทางในป่า การทำไร่ ทำสวนปาล์ม ยันสวนทุเรียน ก็ล้วนคุกคามความเป็นอยู่ของเสือโคร่งอยู่ตลอด
สำหรับประเทศไทย นับว่าโชคดี เพราะงานลาดตระเวนรักษาป่าในพื้นที่ที่มีเสืออาศัยทำได้เข้มแข็ง การล่าเสือโคร่งในป่าไทยจึงไม่พบเห็นเรื่องทำนองนี้มากนัก (แต่การล่าสัตว์อย่างอื่นก็ยังมีอยู่)
นี่ก็พอเป็นอีกเรื่องที่เราเอาไปอวดชาวโลกได้ ถึงความดีความชอบที่เราสามารถเป็นแหล่งรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากเอาไว้ได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์สูญพันธุ์
3.
ในอนาคต หากเราต้องการอนุรักษ์เสือให้ดีกว่าเก่า หรือเพิ่มจำนวนเสือให้มากกว่าวันนี้ เรายังจำเป็นต้องยกระดับการดูแลพื้นที่ป่าให้กว้างออกไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อเสือโคร่งเพิ่มขึ้น ก็ย่อมต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น (เสือตัวผู้จะไม่อยู่ทับอาณาเขตเดียวกัน – ทำนองสำนวนที่ว่า ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’)
การรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เพราะเสือโคร่งเป็น Protection Dependent Specie หรือสัตว์ป่าที่อยู่รอดได้ด้วยระบบป้องกันที่ดี
หากภัยคุกคามเสือยังมี ก็ไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้เสือโคร่งในป่าอยู่รอดได้
อ้างอิง:
- Thailand Tiger Project. Lessons Learned the Recovery of Wild Tigers and other threatened wildlife in western forest complex 2005-2019
- สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เสวนา “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers” 29 กรกฎาคม 2563