4 Min

‘ขั้วโลกใต้’ เป็นของใคร? บทเรียนที่มนุษย์ควรเรียนรู้ ก่อนจะไปแย่งพื้นที่กันนอกโลก

4 Min
5141 Views
29 Sep 2020

คนไทยมักจะคุ้นกับการเรียกแผ่นดินที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่อยู่ตอนใต้สุดของโลกใบนี้ว่า “ขั้วโลกใต้” ซึ่งจริงๆ คือทวีปที่มีชื่อว่า ‘แอนตาร์กติกา’ และขั้วโลกใต้ก็คือส่วนเล็กๆ ของดินแดนนี้

1.

เราคงเคยจำกันได้มาตั้งแต่เด็กๆ ว่าแอนตาร์กติกาคือดินแดนที่หนาวเย็นที่สุดในโลก ซึ่งไม่มีมนุษย์คนไหนอาศัยอยู่ และเราอาจจินตนาการว่ามันเป็น “ดินแดนรกร้างไม่มีเจ้าของ”

แต่ในความเป็นจริง แอนตาร์กติกาคือดินแดนที่ชาติต่างๆ พยายามจะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่อย่ามากมายมหาศาล

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราขอย้อนไปในยุคสมัยที่ดินแดนแห่งนี้ยังไม่มีเจ้าของก่อน

2.

ตลอดประวัติศาสตร์โลก ดินแดนแอนตาร์กติกาถือว่าเป็นดินแดนที่ไม่เคยมีมนุษย์ผู้ใดไปอาศัย และรกร้างมาโดยตลอด เพราะอากาศหนาวเหน็บสุดๆ แทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น

อย่างไรก็ดี ในยุคล่าอาณานิคม อังกฤษก็เข้ามา “ปักธง” เคลมว่า ดินแดนนี้เป็นของตัวเองตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 แต่การเคลมที่ว่าก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะดินแดนแห่งนี้รกร้างและหนาวเหน็บเกินกว่าคนในยุคนั้นจะใช้ประโยชน์อะไรได้

3.

เวลาผ่านไปเป็นร้อยปี อังกฤษก็ไม่ได้ไปทำอะไรกับแอนตาร์กติกา จนตอนต้นศตวรรษที่ 20 ชาติต่างๆ ก็เริ่มดาหน้าเคลมว่าตัวเองเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้ ซึ่งก็มีตั้งแต่ฝรั่งเศส นอร์เวย์ ไปถึงนาซีเยอรมนี

ถามว่าแต่ละชาติได้ทำอะไรกับดินแดนนี้ไหม?

คำตอบคือ “ไม่ได้ทำ” ดินแดนนี้ก็เลยเป็นดินแดนที่ชาติต่างๆ เข้าไปเคลมว่าเป็นเจ้าของเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินา ชิลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น…

4.

พอโลกเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น สองมหาอำนาจอย่างอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้เข้าไปเคลมดินแดนแอนตาร์กติกาบ้าง แต่ “ข้อสรุป” ก็คือ ทั้งสองชาติตกลงว่าจะไม่มีใครเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้ และให้ดินแดนแห่งนี้เป็น “สมบัติของมนุษยชาติ”

ต่อมาสองชาติมหาอำนาจก็เชื้อเชิญให้บรรดาชาติที่เคยกล่าวอ้างว่าตนเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้มาทำสนธิสัญญาแอนตาร์กติกาแห่งปี 1959

สนธิสัญญานี้มี “ข้อห้าม” ชัดเจนว่าในดินแดนแห่งนี้ ห้ามมีชาติใดนำกำลังทหารมาประจำการ ห้ามชาติใดทำเหมือง ห้ามชาติใดทดลองนิวเคลียร์ และในทางปฏิบัติก็คือสิ่งเดียวที่ทุกๆ ชาติทำได้คือการวิจัยโดยสันติสันติภาพ

สนธิสัญญาที่ว่าเป็นก้าวสำคัญมาก เพราะเป็นครั้งแรกๆ ที่อเมริกากับสหภาพโซเวียตทำ “ข้อตกลงสันติภาพ” อะไรกันได้ในช่วงสงครามเย็น

และผลก็คือ “ในทางทฤษฎี” ขั้วโลกใต้ก็ไม่เป็นของชาติใดมาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน

5.

อย่างไรก็ดี “ในทางปฏิบัติ” สิ่งที่ยุ่งเหยิงก็คือ เนื่องจากไม่มีชาติใดสามารถอ้างอำนาจอธิปไตยของตนเหนือดินแดนแอนตาร์กติกาได้ ดังนั้น ดินแดนแห่งนี้จึง “ไร้กฎหมาย”

นั่นหมายความว่า โดยทั่วไป ในศูนย์วิจัยหนึ่ง ก็จะใช้กฎหมายของประเทศที่เป็นเจ้าของศูนย์วิจัย แต่ในพื้นที่อื่นๆ

ในทางปฏิบัติคือไม่มีกฎหมายกำกับนั่นเอง

และที่มึนงงไม่แพ้กันก็คือ ตั้งแต่สนธิสัญญาแอนตาร์กติกาแห่งปี 1959 จนถึงการทบทวนสนธิสัญญานี้ ไม่มีมาตรการว่าจะมี “การลงโทษ” ใดๆ กับประเทศที่เป็นคู่สัญญาที่ละเมิดสัญญา

ในสมัยก่อน ที่คนยังไม่ค่อยไปทำอะไรกับแอนตาร์กติกา สภาวะแบบที่ว่าดูจะเวิร์ค เพราะไม่ค่อยมีใครละเมิดสัญญา

ทว่า…ชาติแรกๆ ที่ละเมิดสัญญาน่าจะเป็น “จีน” ที่สร้างศูนย์วิจัยอย่างต่อเนื่อง และบางศูนย์สร้างโดยยังไม่ผ่านมติด้านการประเมินความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ใครจะทำอะไรจีนได้ เพราะถึงจีนจะ “ทำผิด” แต่ “ความผิด” ที่ว่า ไม่มี “บทลงโทษ”

อีกทั้งในยุคหลังๆ การละเมิดสัญญาก็เกิดขึ้นเนืองๆ เช่น ชิลีและอาร์เจนตินาได้ส่งทหารไปประจำการ ด้วยเหตุผลว่ากลัวชาติอื่นจะส่งทหารไปประจำการก่อนนั่นเอง

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการละเมิดสนธิสัญญาเน้นๆ แต่ก็อย่างที่บอก มันไม่มี “บทลงโทษ”

6.

ภาวะอันยุ่งเหยิงนี้ดูจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจริงๆ ในทางปฏิบัติ ชาติต่างๆ ที่เคยเคลมความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนนี้ บางทีก็ “ทำตัวราวกับเป็นเจ้าของ” โดยทำให้ดินแดนแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีการปั๊มตราพาสปอร์ตนักท่องเที่ยว ราวกับนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศตัวเอง ทั้งที่จริงๆ ในกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ยอมรับว่าแอนตาร์กติกาเป็นของชาติใดทั้งนั้น ไม่ว่าจะส่วนใด

ประเด็นเหล่านี้ดูจะหนักขึ้นอีก เพราะตอนนี้ทรัพยากรในส่วนอื่นๆ ของโลกเริ่มถดถอยแล้ว แต่แอนตาร์กติกาก็ยัง ‘อุดมสมบูรณ์’ แม้ว่าผืนแผ่นดินจะปลูกอะไรไม่ขึ้น

แต่แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่นั้น แท้จริงแล้วก็คือแหล่งน้ำจืดที่คิดเป็น 70% ของแหล่งน้ำจืดบนพื้นโลก และรอบๆ แอนตาร์กติกาก็ไม่มีใครไปแย่งกันทำการประมง

พวกปลาต่างๆ จึงเต็มท้องทะเล นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ภายใต้ทะเลนั้นก็น่าจะเป็นแหล่งน้ำมันที่ใหญ่โตกว่าแหล่งใหญ่ๆ ของโลกอีกหลายแหล่ง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แม้ว่าจะมีสนธิสัญญาค้ำคออยู่ แต่ชาติต่างๆ ก็ทำตัวราวกับว่าตัวเองเป็นเจ้าของแอนตาร์กติกามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลประโยชน์ที่มีมหาศาลนั่นเอง

7.

ทั้งนี้ สิ่งที่คนทั่วไปจะเรียนรู้ได้จากแอนตาร์กติกาดูจะสำคัญในแง่ของการจัดการทรัพยากรของมนุษยชาติที่อยู่ “นอกโลก” มาก

เพราะพื้นที่ของดวงจันทร์ไปจนถึงดาวทุกดวงในจักรวาลนั้น สถานะแทบจะไม่ต่างกับแอนตาร์กติกาเลย

เพราะในสายตากฎหมายระหว่างประเทศ มันคือสมบัติของมนุษยชาติ ที่มนุษยชาติเข้าไปหาประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่มีชาติใดจะอ้างตนเป็นเจ้าของได้อย่างชอบธรรม

แต่ในทางปฏิบัติก็จะงงๆ และอลเวง ไม่ต่างจากแอนตาร์กติกาในปัจจุบัน เพราะสุดท้าย ถึงจะมี “ข้อตกลง” แต่กลับไม่มี “บทลงโทษ” ที่ชัดเจน

ดังนั้น ชาติต่างๆ ก็พร้อมจะ “ลักไก่” ทำราวกับตัวเองเป็นเจ้าของ “สมบัติของมนุษยชาติ” ได้ตลอดเวลา

ซึ่งเราก็คงจะเห็นปัญหานี้มากขึ้นในอนาคต เมื่อการเดินทางข้ามดาวกลายเป็นเรื่องปกติ

อ้างอิง: