การตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารจะเปลี่ยนมนุษยชาติไปอย่างไร

5 Min
2432 Views
14 Sep 2022

ภารกิจ Artemis 1 นั้น เรียกได้ว่าเป็นที่จับตามองกันอย่างมากเพราะถือเป็นการเปิดฉากภารกิจ Artemis อย่างเป็นทางการ และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการพามนุษยชาติกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ เป้าหมายของ Artemis ไม่ใช่บริวารของโลกเรา หากแต่เป็นดาวเคราะห์สีแดงสนิมที่อยู่ห่างจากโลกเราออกไปหลายสิบหลายร้อยล้านกิโลเมตร ชื่อว่าดาวอังคาร หรือ Mars

ภาพจำลองการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารของมนุษยชาติ – ที่มา: NASA

มนุษย์เริ่มเฝ้าดูดาวอังคารมาตั้งแต่ยุคของกาลิเลโอในช่วงศตวรรษที่ 17 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ มาจนถึงศตวรรษที่ 20 เมื่อมนุษยชาติมีเทคโนโลยีและความสามารถเพียงพอที่จะส่งยานสำรวจและยานลงจอดไปสำรวจดาวอังคารได้ ในศตวรรษที่ 21 นี้ เรามีเทคโนโลยีที่ดีพอที่จะส่งยานสำรวจต่างๆ นานาไปยังดาวอังคารด้วยอัตราความสำเร็จระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ ภารกิจ Artemis ถูกตั้งเป้าไว้ไม่ได้ให้หยุดที่ดวงจันทร์ แต่เป็นดาวอังคาร โดยการเดินทางไปดวงจันทร์นั้นถือเป็นแค่การสาธิตเทคโนโลยีที่จะใช้จริงบนดาวอังคารเท่านั้น

ภาพจำลองการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารของมนุษยชาติ – ที่มา: NASA

แล้วการเดินทางไปยังดาวอังคารจะเปลี่ยนมนุษยชาติไปอย่างไร
รัฐบาลและเอกชน

การกลับไปดวงจันทร์ในครั้งนี้ของ Artemis แตกต่างจากยุค Apollo เพราะว่าเรากลับไปดวงจันทร์ด้วยความรู้ใหม่ที่เราศึกษามาตั้งแต่ยุค Apollo จนถึงตอนนี้ ในยุค Apollo เราคิดว่าดวงจันทร์นั้นก็เป็นบริวารหินธรรมดาๆ ไม่มีน้ำ ไม่มีชั้นบรรยากาศ ไม่มีอะไรเลย มีเพียงแค่หินและฝุ่นเท่านั้น แต่ในยุค Artemis เรากลับไปดวงจันทร์โดยรู้ว่าดวงจันทร์นั้นมีน้ำแข็งเป็นจำนวนมากอยู่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่ถูกแช่แข็งมาหลายพันล้านปีแล้ว และนี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ลองตั้งถิ่นฐานบนวัตถุดาราศาสตร์อื่นๆ โดยใช้ทรัพยากรจากวัตถุดาราศาสตร์นั้นๆ ในการอยู่รอด ในที่นี้ วัตถุดาราศาสตร์ที่เราพูดถึงก็คือดวงจันทร์

ภาพแสดงการสำรวจหาน้ำบนดวงจันทร์โดยอุปกรณ์ M3 ของยาน Chandrayaan-1 – ที่มา: ISRO/NASA/JPL-Caltech/USGS/Brown Univ.

เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้มีแค่ภารกิจ Artemis เท่านั้นที่หมายว่าจะไปดวงจันทร์ นอกจาก Artemis ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศของนานาประเทศแล้ว ยังมีบริษัทเอกชน เช่น SpaceX และ Boeing อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น Artemis ไม่ได้ปราศจากคู่แข่ง นั่นก็คือรัสเซียและจีน เรียกได้ว่าเรากำลังอยู่ในยุค Modern Space Race ที่แข่งกันว่าใครจะได้ไปดาวอังคารก่อน ต่างจาก Space Race ในศตวรรษที่ 20 ตรงที่มีเอกชนเข้ามาร่วมด้วย และเป้าหมายไม่ได้เป็นดวงจันทร์

จรวด SLS ของ NASA (ซ้าย) และยาน Starship ของ SpaceX (ขวา) – ที่มา: NASA และ SpaceX

แต่ครั้งนี้ดีกว่าช่วงยุค Apollo และยุค Space Race ตรงที่เรารอบคอบกว่าเดิม ดังที่เห็นในการเลื่อนแล้วเลื่อนอีกของ SLS ตั้งแต่การเลื่อนการวิจัยและพัฒนา การประกอบ ไปจนถึงการ Scrub การปล่อย Artemis 1 ถึงสองครั้ง

ตัวภารกิจ Artemis เองนั้นเป็นที่รู้ดีว่าหลายๆ บริษัทอวกาศก็มีส่วนร่วมในโครงการด้วย เช่น SpaceX แต่ SpaceX เองนั้นก็มีภารกิจที่พุ่งเป้าไปยังการเดินทางไปดาวอังคารของตัวเองด้วย เช่น Starship และใครจะไปถึงก่อนกันนั้นก็เป็นเรื่องที่มีการโต้เถียงกันมาพอสมควร แต่เมื่อใครสักคนไปถึงแล้ว สิ่งต่อไปที่เราจะต้องพูดถึงก็คือ ‘Democratization of Mars’

Democratization of Mars

หลายๆ คนอาจจะพอเคยได้ยินคำว่า ‘Democratizing Access to Space’ ในบทความอวกาศจากสื่ออวกาศอย่าง Spaceth.co แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าอวกาศนั้นเป็นของทุกๆ คน และทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าถึงอวกาศ และการเข้าถึงอวกาศต้องไม่ถูกห้ามไว้ด้วยการบอกว่าคุณต้องเป็นนักบินอวกาศเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดและอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ไม่เพียงแต่ทำลายขีดจำกัดของมนุษย์ทุกคนในการข้ามผ่านม่านเหล็กที่เรียกว่า ‘Karman Line’ ไปได้ แต่ยังให้โอกาสแก่ทุกๆ คนให้มีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรอวกาศได้

ภาพจำลองอาณานิคมบนดาวอังคารโดย SpaceX – ที่มา: SpaceX

แน่นอนว่าเมื่อมนุษยชาติมีถิ่นฐานบนดาวอังคารแล้ว เราก็จะไม่ได้มีแค่มนุษย์โลก แต่มีมนุษย์ดาวอังคาร หรือมนุษย์ดวงจันทร์ หากแต่มนุษย์ทั้งสามดาวนั้นมีอิสระหนึ่งเดียวกัน นั่นก็คือพวกเขาสามารถเข้าถึงอวกาศได้โดยปราศจากการกีดกันใดๆ และอวกาศควรจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยประชาธิปไตยที่ว่าไม่ใช่แค่การฟังและปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ หากแต่เป็นการไม่ละทิ้งเสียงส่วนน้อย และการหา Compromise ร่วมกัน

ภาพจำลองการสำรวจดาวอังคารของมนุษย์ – ที่มา: NASA

ดังนั้น การมาเยือนดาวอังคารของมนุษยชาติกับเป้าหมายในการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารนั้น นอกจากจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นแล้ว การพูดถึงเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอวกาศนั้นเป็นของราษฎร

และเมื่อมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะบนดาวดวงไหนมีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน นั่นก็หมายความว่ามนุษย์บนดาวอังคารก็ต้องมีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรบนโลกด้วยเช่นกัน นั่นจึงจะนำไปสู่ Interplanetary Trade หรือการค้าขายระหว่างดาว

ในอนาคตที่เรามีถิ่นฐานบนดาวอังคารแล้ว แน่นอนว่าสาธารณูปโภคหลายอย่างก็อาจจะต้องพึ่งพาเสบียงจากโลกเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุปกรณ์ต่างๆ เชื้อเพลิง และอากาศหายใจ จริงอยู่ที่เทคโนโลยีในตอนนั้น เราอาจจะสังเคราะห์บางอย่างขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรการันตีว่าเราจะสังเคราะห์ทุกอย่างที่เราต้องการได้หมด และอาจจะต้องพึ่งพาดาวบ้านเกิดของเรานั่นเอง

จริยธรรมและศีลธรรม

เมื่อศีลธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่บนโลก มันก็จะเป็นเรื่องใหญ่บนดาวอังคารเช่นกัน

การเดินทางในอวกาศนั้นมากับความเสี่ยงเสมอ ทั้งทางกายและจิตใจ ในกรณีของการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารนั้น ก็มี Scenario นับไม่ถ้วนที่อาจเกิดได้ เช่น อาจจะมีเด็กเกิดมาบนดาวอังคารแต่ไม่ได้อยากอยู่บนดาวอังคาร เช่นนี้แล้วเด็กคนนั้นสามารถเดินทางกลับโลกได้หรือไม่ หากจินตนาการว่าบนดาวอังคารมีระบบการปกครองคล้ายกับโลก เราก็คงจะได้เห็นลูกฟ้องพ่อแม่ที่เป็น Mars Colonists ว่าด้วยสิทธิของพวกเขาในการเลือกดาวบ้านเกิดของตนเอง

ภาพจากภาพยนตร์ Interstellar ขณะ Cooper อยู่บนดาว Mann – ที่มา: Interstellar

แม้แต่การส่งนักบินอวกาศไปยังดาวอังคาร ก็มีเรื่องของจริยธรรมที่ต้องพูดถึงอีกนับไม่ถ้วน ในเมื่อการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารนั้น ผู้ที่อยู่บนดาวอังคารสุดท้ายก็ต้องได้รับอนุญาตให้สามารถมีบุตรหลานได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น แน่นอนว่าก็ต้องมีการทดลองว่าเด็กที่เกิดมานอกโลก ในอวกาศ หรือบนดาวอังคารนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งนี่ก็จะนำไปสู่คำถามทางจริยธรรมที่ร้ายแรงอีกเช่นกัน

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์ดาวอังคารและดาวโลกนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดไม่ได้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน คนแต่ละคนบนดาวคนละดวงก็จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างแบบ simple แต่ significant ก็คือ lifestyle ของชาวดาวอังคารที่ไม่สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้ แต่สามารถกับคนดาวอังคารด้วยกันเองเท่านั้น

ด้วยระยะห่างของดาวอังคารกับโลก การสื่อสารนั้นอาจจะใช้เวลาตั้งแต่ 20 นาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง ยังไม่นับเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการสื่อสารกับโลก เพราะฉะนั้นการสื่อสารด้วย Line, Messenger, IG บนดาวอังคารไปโลกนั้นเป็นเรื่องที่ลืมไปได้เลย การไปดาวอังคารนั้นจึงไม่ต่างจากการออกบวชตัดขาดจากโลกภายนอกนั่นเอง

อย่างการส่งรถ Tesla Roadster กับ Starman ไปอวกาศของ Elon Musk นั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้และไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร อาจถือได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แต่ก็มีคำถามมากมายที่เกิดขึ้นมากับ gimmick นี้ เช่น ขยะอวกาศ การปนเปื้อนทางชีววิทยา หรือการกลัวว่าเดี๋ยว Starman จะวนกลับมาตกใส่หัวใครสักคน

Tesla Roadster และ Starman จากการ Test Flight จรวด Falcon Heavy – ที่มา: SpaceX

และเราก็จะวนกลับมาที่เดิมเพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Space Democratization ทุกคนย่อมมีสิทธิ์เข้าถึงอวกาศ
เราจึงสามารถสรุปได้ว่า ณ ตอนนี้ เราไม่สามารถเดาได้เลยว่ามนุษยชาติเมื่อตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารแล้ว อนาคตของมนุษยชาติทั้งบนโลกและดาวอังคารจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราทำได้เพียงแค่มองในมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างก็เช่น เมื่อเรามีมนุษย์อยู่บนดาวอังคารแล้ว เทคโนโลยีต่างๆ นานามันจะต้องล้ำและถูกนำกลับมาประยุกต์ใช้บนโลกแน่ๆ ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ว่าก็อาจจะเป็นเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมขั้นสูง ที่น่าจะถูกนำมาใช้ในการทำให้พืชที่ปลูกบนดาวอังคารทนทานต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น แน่นอนว่าการใช้งานบนดาวอังคารน่าจะไม่มีปัญหา เพราะมันจำเป็น แต่ถ้าดันเอากลับมาใช้บนโลก ก็จะมีคำถามด้านจริยธรรมขึ้นมาอีก

เราจึงต้องติดตามดูต่อไปว่ามนุษยชาติกับภารกิจการเดินทางไปยังดาวอังคารจะเป็นอย่างไร