กรีกโบราณเป็นสวรรค์ของชาวรักร่วมเพศจริงหรือ?

3 Min
3462 Views
11 Oct 2020

ในช่วงหลายปีนี้ อินเทอร์เน็ตทำให้คนมีความรู้กว้างไกลขึ้น ซึ่งมันก็ทำให้คนค้นพบ “ข้อเท็จจริง” มากมายที่ทำลายความเชื่อที่มีมาแต่เก่าก่อน ซึ่งเรื่องหนึ่งที่อาจทำให้หลายคนช็อกก็คือ “ข้อเท็จจริง” ที่ว่าพฤติกรรม “รักร่วมเพศ” เป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากมายในยุคกรีกโบราณอันถือเป็นยุคที่เป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตก

ซึ่งถ้าใครทันดูภาพยนตร์เรื่อง Alexander ในปี 2004 ที่ Colin Farrell เล่นเป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ (และบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เล่นเป็นพระเจ้าเปารวะของอินเดียที่ชี่ช้างมาสู้กับพระเจ้อเล็กซานเดอร์) เราก็จะเห็นภาพความ “เกย์” ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์และความรักของพระองค์กับเด็กหนุ่มชัดมาก ๆ ซึ่งหลายคนก็มองว่านี่แหละคือ “ข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์

“ข้อเท็จจริง” นี้ทำให้ชาว LGBTQ ทั้งหลายพยายามยกให้เห็นการเป็นที่ยอมรับของพฤติกรรมรักร่วมเพศในอดีตเพื่อมาแย้งกับค่านิยมที่ต่างออกไปในปัจจุบัน และหลาย ๆ คนก็ถึงกับวาดภาพว่ากรีกโบราณคือสวรรค์ของชาวเกย์

คำถามคือมันจริงหรือ?

ถ้าตอบแบบซีเรียสในแบบวิชาการแบบสั้น ๆ คำตอบคือ ไม่จริง

แต่ถามว่ากรีกโบราณไม่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศเลยหรือ? คนกรีกโบราณรังเกียจเดียดฉันท์พฤติกรรมรักร่วมเพศโดยสิ้นเชิงเลยหรือ? คำตอบก็คือไม่จริงเช่นกัน

แล้ว “ความจริง” มันเป็นอย่างไร? ไปดูกัน

ในความเป็นจริงเพศวิถีของคนกรีกโบราณเป็นประเด็นร้อนที่นักวิชาการที่ศึกษายุคคลาสสิกถกเถียงกันมาหลายสิบปี แต่ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ยอมรับร่วมกันพอสมควรก็คือ 1. ผู้ชายกรีกโบราณไม่ใช่ “เกย์” ในความหมายปัจจุบัน แต่เป็นพวกที่ร่วมเพศกับอะไรก็ได้ หญิงก็ได้ ชายก็ดี ผู้ใหญ่ก็ได้ เด็กก็ดี หรือจะเป็นสัตว์ก็ยังได้ 2. รสนิยมทางเพศแบบชายรักชายมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะได้รับการเชิดชู และบทบาทของ “ฝ่ายรุก” กับ “ฝ่ายรับ” ไม่เหมือนกัน และผู้ที่เป็น “ฝ่ายรับ” นั้นถือว่าเป็นผู้ที่ต่ำต้อยน่าดูถูก 3. “กรีกโบราณ” คือการพูดรวมถึงสังคมที่หลากหลาย แต่ละนครรัฐมี “วัฒนธรรม” ต่างกันรวมถึงค่านิยมทางเพศ

เราจะมาว่ากันทีละข้อ

ประการแรก มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมายว่าผู้ชายชาวกรีกนั้นร่วมเพศกับอะไรสารพัด ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้มีลักษณะ “ต้องห้าม” ในเซนส์ของทุกวันนี้ ซึ่งในแง่นี้การร่วมเพศกับผู้ชายด้วยกันก็จึงเป็นแค่ด้านหนึ่งของพฤติกรรมทางเพศของผู้ชายกรีกเท่านั้น และโดยทั่วไป ไม่มีผู้ชายกรีกที่จะมีพฤติกรรมในการร่วมเพศเฉพาะแต่กับผู้ชาย ดังนั้นในภาษากรีกโบราณจึงไม่มีคำว่า “เกย์” หรือคำที่ใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมทางเพศที่จำกัดอยู่แต่กับเพศเดียวกัน

ประการที่สอง ในเรื่องพฤติกรรมทางเพศ คนกรีกซีเรียสกับการเป็น “ฝ่ายรุก” หรือ “ฝ่ายรับ” มาก มันไม่ได้มีเซนส์ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็เหมือนกันเหมือนปัจจุบัน สำหรับคนกรีกการเป็นชายชาตรีต้องเป็นฝ่ายรุกเท่านั้น การเป็นฝ่ายรับคือการสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นชาย หรือในแง่หนึ่งแล้วการเป็น “ฝ่ายรับ” หรือฝ่ายที่ถูกสอดใส่ จึงเป็นเรื่องของผู้หญิงและเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ด้อยกว่าชายชาตรี (ซึ่งก็แน่นอน คนเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิมีเสียงในโลกของการเมืองใน “ประชาธิปไตยแบบกรีก”) ภาวะแบบนี้จึงไม่แปลกที่สำหรับคนกรีกโบราณ “กะเทย” หรือผู้ชายที่มีลักษณะแบบผู้หญิง นั้นถือเป็นสิ่งที่ต่ำและพึงจะได้รับการดูถูก

ประการที่สาม กรีกโบราณมีหลายนครรัฐมาก แต่ละนครรัฐมีคติเรื่องเพศต่างกัน เช่น คนสปาร์ตาที่บ้าความเป็นชายชาตรีก็จะมีคติทางลบกับพฤติกรรมรักร่วมเพศระหว่างชายด้วยกันมากกว่านครรัฐอื่น ๆ คนเอเธนส์ค่อนข้างจะเปิดกว้างกว่าคนสปาร์ตา แต่สำหรับคนเอเธนส์เอง พฤติกรรมรักร่วมเพศระหว่างชายกับชายก็ต้องมีลิมิต มันจำกัดอยู่แค่ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กหนุ่มเท่านั้น โดยผู้ใหญ่ก็จะต้องเป็น “ฝ่ายรุก” ส่วนเด็กก็จะต้องเป็น “ฝ่ายรับ” เท่านั้น นอกจากนี้ คนรักร่วมเพศนั้นจะแต่งงานอยู่กินกันไม่ได้ เพราะ “ครอบครัว” คือเรื่องของผู้ชายกับผู้หญิง ซึ่งนี่ทำให้สำหรับคนเอเธนส์แล้ว คนเธบันและคนอีเลี่ยนที่ผู้ชายสามารถแต่งงานกันได้ และมีกองทัพที่เต็มไปด้วย “คู่รัก” ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันทั้งในสนามรบและบนเตียงนั้นถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ทำให้เราพูดไม่ได้เลยว่ายุคกรีกโบราณเป็นยุคที่ “วัฒนธรรมเกย์” รุ่งโรจน์ เพราะอย่างน้อย ๆ ในเอเธนส์ที่เป็นแอ่งอารยธรรมตะวันตก พฤติกรรมรักร่วมเพศแบบจริงจังระดับผู้ชายอยู่กินกันฉันผัวเมียก็ไม่ใช่สิ่งที่สังคมจะรับได้ ซึ่งนี่ก็ยังไม่นับว่าคนเอเธนส์มีการดูถูกคนที่เป็น “ฝ่ายรับ” และ “กะเทย” อย่างจริงจังอีก

อ้างอิง: