กงสีปรับตัวอย่างไรให้ได้ไปต่อ

4 Min
2829 Views
12 May 2022

หากจะนิยามภาพของปัญหาของธุรกิจครอบครัวแบบ กงสี ที่ดีที่สุด ก็คงเป็น “คนทำไม่ได้ คนได้ไม่ทำ”

จุดแข็งของกงสี คือ ความเป็นครอบครัว
แต่จุดอ่อนของกงสี คือ ความเป็นครอบครัว เช่นกัน

กงสี มักดีในตอนแรก โดยเฉพาะช่วงที่ธุรกิจกำลังก่อตั้ง ซึ่งต้องการแรงมาช่วยกันสร้าง การมีคนในครอบครัวมาช่วยกันย่อมเข้มแข็งและผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นที่ดีมากๆ เป็นช่วงที่ไม่ต่างอะไรกับช่วงฮันนีมูนของคู่รัก

แต่ กงสี มักเป็นสัญญาใจของคนก่อตั้งที่มักไม่ได้จัดการในตอนแรกที่ชัดเจนนัก ความเป็นครอบครัวนี่แหละจะมากลายเป็นจุดอ่อนก็เมื่อธุรกิจเริ่มไปได้ดีแล้ว ปัญหากลืนไม่เข้า คายไม่ออก พูดไม่ได้ หรือใครที่เริ่มพูดเรื่องนี้ออกมา จะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ได้ ในทันที

และนี่คือภาพลักษณ์ของ กงสี ที่คนรุ่นหลังมอง
กงสี หมายถึง คนทำไม่ได้ คนได้ไม่ทำ
กงสี หมายถึง ธุรกิจของลูกชายคนโต
กงสี คือ ทำแทบตายแล้วไปลุ้นที่พินัยกรรม
กงสี ไม่เคยวัดผลจากความสามารถแต่ขึ้นกับสายเลือด

กงสีกลายเป็นระบบที่ล้าหลังในสานตาคนรุ่นหลัง
จนไม่อยากกลับมาสานต่อมันอีก

ดังนั้นกงสีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างรุ่นให้ได้และสิ่งเหล่านี้คือทางออกที่ผมถอดบทเรียนจากธุรกิจครอบครัวที่ก้าวพ้นคำว่า กงสี ไปสู่คำว่าธุรกิจจนสำเร็จ

1. ผลประโยชน์ต้องชัด

ปัญหากงสีส่วนใหญ่ มักเกิดจากเรื่องนี้
กงสี เป็นธุรกิจที่ผูกกันด้วยใจ
ที่คนในครอบครัวต่างร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง แล้วไปลุ้นกันที่พินัยกรรม

และเมื่อใครคนหนึ่งรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ออกมาเรียกร้องอะไรสักอย่าง คนนั้นจะกลายเป็นคนเห็นแก่ได้ในครอบครัวในทันที

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กงสี ต้องทำความเข้าใจใหม่ทั้งหมด
เพราะการที่คนในครอบครัวออกมาเรียกร้องผลประโยชน์
อาจไม่ใช่ความเห็นแก่ได้ และไม่ใช่เรื่องที่ผิด
หากเค้ามีเหตุผลเพียงพอต่อข้อเรียกร้องเหล่านั้น

การบอกว่าเค้าเห็นแก่ได้ต่างหากที่อาจเป็นเรื่องที่ผิด

กงสี จำเป็นอย่างมากที่จะต้องก้าวข้ามปัญหาเรื่องนี้ออกไปให้ได้ ต้องมีความชัดเจนและยุติธรรมในเรื่อง การจัดสรรหุ้น และ รายได้

กงสีมักมีข้อครหามากในเรื่องนี้
คนทำไม่ได้ คนได้ไม่ทำ เกิดจากความไม่ชัดเจนในส่วนนี้

ผู้ถือหุ้น ไม่เท่ากับ คนทำงาน
ผลตอบแทนที่ได้ย่อมแตกต่างกัน

รายได้ของคนทำธุรกิจมีเพียง
เงินปันผล เงินเดือน และโบนัส เท่านั้น
คนที่ถือหุ้น ย่อมไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนและเงินโบนัส
เช่นกันคนทำที่งาน ย่อมไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล

การกำหนดเรื่องนี้ให้ชัดไม่เพียงแต่ลดปัญหาในเรื่องผลตอบแทนในธุรกิจครอบครัวได้
แต่ยังเป็นการขีดเส้นอำนาจในการทำงานภายในอีกด้วย
อย่างเช่น อำนาจการตัดสินใจหรือสั่งงาน
อำนาจการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น

2. เงินธุรกิจ ไม่เท่ากับ เงินครอบครัว

หากธุรกิจคุณยังไม่เคยทำเรื่องนี้ คุณต้องเคยได้ยินคำถามที่ว่า
ขายดีแต่ไม่รู้เงินหายไปไหน ? อย่างแน่นอน
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่กับธุรกิจกงสีเท่านั้น แต่ยังมักเกิดกับ SMEs ด้วย

กงสีมักมองว่าเงินในธุรกิจ ก็คือ เงินกงสี
เพราะมันเป็นเงินที่เราเอาไปลงทุนเอง
มันก็ต้องเป็นเงินของเรา
ใครอยากซื้อรถก็มาเบิกก้อนนี้
ใครอยากซื้อบ้านก็มาเบิกก้อนนี้

แต่ในความเป็นจริง เงินธุรกิจ ไม่เท่ากับ เงินครอบครัว
การนำเงินไปใช้ คือ การนำกระแสเงินสดของธุรกิจออก
ดังนั้นคุณจะไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของธุรกิจได้เลย

เงินกงสี ควรเป็นเงินเดือนที่ตั้งจากธุรกิจ
หรือเงินปันผล จากธุรกิจเท่านั้น

แน่นอนการทำเรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่ยุ่งยากขึ้น
แต่ หากคุณอยากก้าวข้ามคำว่าธุรกิจครอบครัว
สู่ความเป็นมืออาชีพ จำเป็นต้องทำเรื่องนี้ให้ได้

3. เงินเดือนต้องเหมาะกับความสามารถ

หากไม่ใช่คนในครอบครัว คุณจะจ้างคนมาทำงานตำแหน่งนี้ด้วยเงินเดือนเท่าไร ? นี่คือคำถามที่เราควรตั้งสำหรับการรับใครเข้าทำงาน

สิ่งที่ผู้ใหญ่มักทำกลับไม่ได้เริ่มจากคำถามนี้
เมื่อลูกหลานกลับมาช่วย
เพื่ออยากให้ลูกหลานรู้สึกว่าเราเป็นธรรม ไม่ได้รักใครมากกว่า
ด้วยการให้เงินเดือนแต่ละคนเท่าๆกัน
โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความสามารถและความรับผิดชอบที่มี

แต่หารู้ไม่ว่าการกระทำแบบนี้นอกจากจะไม่แฟร์แล้ว
ยังเป็นการดูถูกความสามารถของลูกหลานด้วยซ้ำ
เมื่อความสามารถของคนจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของรายได้

ดังนั้นคำตอบของคำถามข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ผู้ใหญ่จะต้องตอบให้ได้ และมันยังเป็น การแสดงความยอมรับต่อความสามารถลูกหลานคุณอีกด้วย

4. กระจายอำนาจลดบทบาทตัวเองลง

หากอยากได้คนเก่งมาทำงาน ต้องให้อำนาจกับเค้าด้วย
นี่คือสิ่งที่ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นคนสอน

และการให้อำนาจใครเพิ่ม ย่อมหมายถึง การลดบทบาทของใครลงไป

ธุรกิจครอบครัวมักบริหารแบบการ รวมอำนาจ ไว้ที่เจ้าของมากเกินไป อำนาจการตัดสินใจ หรือทำอะไรสักอย่างขึ้นกับเพียงเดียว และมั่นใจในตัวเองสูงมากๆ จากการพกความเชื่อมั่น ที่เคยสร้างธุรกิจนี้จนถึงทุกวันนี้มาได้มาก่อน

กงสี ใช้เงินของตระกูลมากมายส่งลูกหลานเรียนสูงๆ ไปเปิดโลก เรียนต่อที่ต่างประเทศ เพียงหวังให้เค้ากลับมาสานต่อธุรกิจของตระกูล แต่เมื่อวันที่เค้ากลับมากลับทำสิ่งที่ตรงข้าม
คือไม่ให้โอกาสเค้าแสดงศักยภาพ หรือ สิ่งที่เค้าได้เรียนมา

ดังนั้น
จำเป็นอย่างมากที่ผู้ใหญ่จะต้องลดบทบาทตัวเองลง
ปรับบทบาทตัวเองเป็นพี่เลี้ยงที่ค่อยให้คำปรึกษา
ให้อำนาจตัดสินใจกับเค้ามากขึ้น
โดยเริ่มลองจากโปรเจ็คเล็กๆ ก็ได้

และแน่นอนทางฝั่งทายาทก็เช่นกัน
ต้องพิสูจน์ตัวเองกับผู้ใหญ่ให้ได้
เราพร้อมแล้ว พร้อมสำหรับอำนาจที่เค้ามอบให้
ค่อยๆ ทำให้เค้าเห็นจากโปรเจ็คเล็กๆ ที่ได้โอกาสมา

5. หาคนเก่งๆ มาช่วย

สิ่งนี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ตระกูลจิราธิวัฒน์ สามารถก้าวข้ามธุรกิจครอบครัวแบบ กงสี สู่ความเป็นมืออาชีพ ได้สำเร็จ

เมื่อแบ่งเรื่องเงิน เรื่องผลประโยชน์ได้อย่างลงตัวแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ ธุรกิจครอบครัว ควรทำเพื่อสเกลอัพตัวเองให้ได้
คือ การหาคนเก่งๆ มาช่วยงาน

การทำสิ่งนี้เป็นการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาไปไกลกว่าเดิมอีกด้วย บางครั้งคนในครอบครัวมักมีมุมมองต่างๆ ที่อาจจะแคบจนเกินไป จากการที่ต่างเติบโตมาในรูปแบบที่คล้ายๆกัน

การหาคนภายนอกที่มีความสามารถมาช่วย
ยังเป็นการทำให้ธุรกิจได้เปิดรับมุมมองหรือแนวคิดใหม่ๆ
ที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นได้

แต่สิ่งต้องระวังที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือ
ต้องไม่ทำให้เค้ารู้สึกว่าเป็นคนนอก
การไม่ทำอะไรข้ามหัวเค้า
การคุยกันลับหลังภายในครอบครัว
เป็นสิ่งที่ต้องระวังมาก

สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การได้คนเก่งๆมาทำงาน
แต่คือ การรักษาเค้าไว้ให้ได้

และสุดท้าย
ธุรกิจแบบ กงสี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวเสียตั้งแต่วันนี้ หากรู้ว่าปัญหาต่างๆที่มักเกิดคืออะไร ควรรีบวางแผนจัดการ ซึ่งแน่นอนมันต้องใช้เวลา แต่ปลายทางย่อมคุ้มค่า ที่ได้เป็นการรักษาความสัมพันธ์และความมั่งคงในครอบครัวเอาไว้ ก่อนที่มันจะยากเกินแก้ไข