รู้จัก Singleton Hypothesis เมื่อโลกในอนาคตอาจไม่เหลือพื้นที่ให้เราได้ ‘ตัดสินใจ’ เพราะ ‘ซูเปอร์คอมพิวเตอร์’ จะตัดสินใจแทนเราหมด
สำหรับคนชอบอ่านนิยายไซไฟหรือหนังไซไฟ เราคงจะคุ้นเคยกับธีมแบบหนึ่งที่ว่าด้วยโลกอนาคตที่ถูกปกครองด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ ‘มองเห็นทุกอย่าง’ และสามารถประมวลข้อมูลเพื่อตัดสินใจอย่าง ‘ดีที่สุด’ ให้กับทุกเรื่องบนโลกใบนี้
ซึ่งเรื่องราวแบบนี้เป็นเรื่องของอนาคตอันหดหู่ เรื่องที่มนุษยชาติต้องต่อสู้กับ ‘ซูเปอร์คอมพิวเตอร์’ อันชั่วร้ายนี้ และนี่ก็ธีมคลาสสิคของหนังไซไฟระดับคลาสสิกตั้งแต่ Terminator ไปจนถึง Matrix
ไอ้สถานการณ์แบบนี้มันมีศัพท์เทคนิคเรียกครับ เขาเรียกว่า Singleton Hypothesis ซึ่งคนบัญญัติคือนักคิดแนวอนาคตวิทยาชื่อดังอย่าง นิค บอสตรอม (Nick Bostrom) โดยความคิดนี้คือมันเชื่อว่าพัฒนาการของอารยธรรมใดๆ มันจะไปสู่จุดสูงสุดที่จะมี ‘สิ่งทรงปัญญาเหลือล้น’ และทำการตัดสินใจให้กับสมาชิกสังคม ซึ่ง ณ จุดนั้นจะไม่เหลือ ‘เสรีภาพ’ อีก เพราะคุณไม่ต้องตัดสินใจอะไรเอง ‘สิ่งทรงปัญญาเหลือล้น’ ตัดสินให้คุณหมด
เราอาจจินตนาการได้ไม่ยากว่า ‘สิ่งที่ทรงภูมิปัญญาอย่างเหลือล้น’ นี่คือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ แต่จริงๆ ไอเดียแบบนี้ก็ปรากฏในการบรรยาย ‘สายพันธุ์ต่างดาว’ ที่มีความรู้สึกนึกถึงร่วมกัน ตัดสินใจร่วมกัน โดยบางทีมันก็จะมีสิ่งที่คล้ายๆ เป็น ‘สมองส่วนกลาง’ ทำการตัดสินใจให้สมาชิกทั้งหมด (ลองนึกถึงแมลงสมองใน Starship Troopers ก็ได้ครับ)
ซึ่งในแง่นี้ เราก็จะเห็นภาพว่าเผ่าพันธุ์ต่างๆ ก็ไม่ได้ล่มสลาย ล้มตาย มันอยู่กันได้
และนี่คือสิ่งที่ Bostrom บอกเลย คือเขาเน้นว่า พวกหนังไซไฟจะทำให้เรา ‘มอง’ ภาวะที่ ‘สิ่งทรงปัญญาเหลือล้น’ มาตัดสินใจแทนเราในแง่ร้าย แต่ความจริงมันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น
คือเราไม่คิดเลยว่าทุกวันนี้เราไม่สามารถ ‘ตัดสินใจอย่างดีที่สุด’ เองได้ บางทีมันมีสิ่งที่ ‘เห็นภาพรวม’ กว่าเราและตัดสินใจได้ดีกว่าเราอยู่ตลอด (อันนี้นึกถึงคนนึกอะไรไม่ออกก็ไป ‘ดูดวง’ ก็ได้)
ซึ่งตรงนี้ เราก็ไม่ได้พูดถึงแค่พวก ‘อัลกอริธึ่ม’ บนอินเทอร์เน็ตที่มันกำหนดทุกวันอยู่แล้วว่าเราจะได้ข่าวอะไรไม่ได้ข่าวอะไร เพราะจริงๆ แม้แต่ในทางการเมือง คนมันก็สร้าง AI เพื่อ ‘ปกครองประเทศ’ กันมาแล้ว และจากผลวิจัย AI พวกนี้ก็น่าจะตัดสินใจได้ดีกว่า ‘นักการเมือง’ อีกด้วย
แน่นอน อะไรพวกนี้ฟังดู ‘หลอน’ มากสำหรับมนุษย์ปัจจุบันที่เชื่อใน ‘เสรีภาพ’ แต่เอาจริงๆ ในประวัติศาสตร์เป็นแสนปีของมนุษยชาติ ไอ้ที่เราเรียกว่า ‘เสรีภาพ’ มันเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่มาก อายุไม่กี่ร้อยปี คนในอดีต มันไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีเสรีภาพ มันโดนกำหนดทั้งนั้น ไม่ว่าจะจากครอบครัว จากสังคม จากรัฐ หรือกระทั่งจากเทพเจ้า
พูดง่ายๆ คนในอดีตมันก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องมี ‘เสรีภาพ’ มันก็อยู่กันได้ และนี่คือหลักฐานเลยว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์มันดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องมี ‘เสรีภาพ’
แน่นอน การพูดอะไรแบบนี้ฟังดูอนุรักษนิยมจนน่ากลัวและหลุดไปเป็นฟาสซิสต์ด้วยซ้ำ แต่ถ้านั่นยังโหดไม่พอ ฝ่ายที่สนับสนุนการ ‘ยุติเสรีภาพ’ โดยให้ ‘สิ่งทรงปัญญาเหลือล้น’ ปกครอง ก็จะบอกอีกว่า การทำแบบนี้มันอาจจะยุติ ความขัดแย้งและสงครามต่างๆ ของมนุษยชาติได้
หรือพูดง่ายๆ ถ้าทุกวันนี้คุณยอมรับอำนาจเหนือหัวของรัฐได้ ทำไมคุณจะไปอีกหน่อย แล้วยอมรับให้มี ‘รัฐบาลโลก’ โดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และยุติความขัดแย้งต่างๆ ของมนุษยชาติไปตลอดกาลไม่ได้?
ทั้งหมดที่ว่ามามันฟังดูเป็น ‘ของแสลง’ ของทุกคนที่ ‘เชื่อในเสรีภาพ’ แต่มันก็ดูจะตั้งคำถามที่สำคัญว่า ถ้ามอง ‘เสรีภาพ’ ในเชิงหน้าที่แล้ว เอาจริงๆ มันคือสิ่งที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดจริงเหรอ? หรือสังคมที่สารพัดสิ่งถูก ‘ตัดสินใจจากส่วนกลาง’ มันจะดีกว่า?
และก็ไม่ต้องไปไหนไกล เรากำลังพูดถึงโมเดลในการพัฒนาประเทศที่ต่างกันสุดขั้วของอเมริกากับจีนเลย และทุกวันนี้จีนก็ได้ทำให้เห็นแล้วว่า สังคมที่ส่วนกลางมีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายราวกับเทพเจ้า มันไม่ได้นำไปสู่ความล่มสลายเสมอไป เพราะมันก็ทำให้เกิดความรุ่งเรืองได้ (อย่างน้อยๆ ก็ในทางเศรษฐกิจ)
เรื่องพวกนี้ก็คงเป็นที่เถียงกันอีกยาวนาน และมันก็คงไม่มีทางจะมีข้อยุติใดๆ
เนื่องจากสุดท้าย มันอาจไม่ใช่เรื่องของ ‘ประสิทธิภาพการตัดสินใจ’ เพราะถึงทุกวันนี้ ‘คนอื่น’ หรือ ‘อัลกอริธึ่ม’ ก็ดูจะตัดสินใจได้ดีกว่าเราแบบเห็นๆ แต่เราก็ยัง ‘เชื่อในการตัดสินใจของตัวเอง’ อยู่
ไม่ว่าจะเรียกมันว่า ‘ความดื้อด้าน’ หรืออะไรก็ตาม แต่การไม่ลังเลที่จะเสี่ยง การไม่ลังเลที่จะตัดสินใจผิดๆ ผ่าน ‘ความหวัง’ และจินตนาการถึงชีวิตและโลกที่ดีขึ้นมันก็ดูจะเป็นคุณลักษณะที่ ‘เป็นมนุษย์’ มากๆ ซึ่งคนจำนวนมากก็ไม่พร้อมจะละทิ้งมันไปไม่ว่ามันจะนำพาหายนะมาแค่ไหนก็ตาม
อ้างอิง
- IFLS. What Is The “Singleton Hypothesis”, And What Does It Mean For The Future Of Humanity? .https://bit.ly/3DgF3IM