ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความรวดร้าว คนเราจะมีความทรงจำอันเจ็บปวดอยู่กับตัวบ้างก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร และในยุคที่คนเต็มไปด้วยปัญหาทางจิตแบบนี้ หลายๆ คนก็คงอยากจะให้มียาสักตัวที่กินๆ ไป แล้วปัญหาทางจิตมันจะหายขาด หรือกินเพื่อปัญหามันถูกลบเลือนไป
ซึ่งในทางปฏิบัติมันไม่มี
แต่อนาคตทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป
จริงๆ แล้วในทางวิทยาศาสตร์ เขาได้ค้นพบนานแล้วว่า “ยาความดัน” ตัวนึงที่ชื่อว่า Propanolol (ตรงนี้ถ้าสงสัย ว่ามันคือยาความดันกลุ่มไหน มันคือยากลุ่ม Beta-Blocker นะครับ และเป็นคนละตัวกับที่จะเห็นคนไทยกินบ่อยๆ) มันมีสรรพคุณที่สามารถ “ลบความทรงจำอันเจ็บปวด” ในสัตว์ได้ ซึ่งเขาค้นพบมาตั้งแต่ปี 2004 แล้ว
แต่ปัญหาคือมันดันลบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เรายังไม่รู้เงื่อนไขว่ายังไงมันถึงลบได้ มันก็เลยยังไม่ถูกพัฒนาเป็นยา และทดลองในมนุษย์
ที่นี้ ล่าสุด มีทีมทดลองค้นพบแล้วว่าอะไรคือ “เงื่อนไข” ที่ว่า ซึ่งการทดลองก็เป็นปกติ เอาหนูมาช็อตไฟฟ้า แล้วให้มันได้ยินเสียงคลิก เพื่อสร้างความทรงจำว่าเสียงคลิกหมายถึงความเจ็บปวด และเอาหนูมาทดลองฉีดยา Propanolol เข้าไป ปรากฏ มันก็ “ลบความทรงจำ” ได้จริงๆ
แต่เขาไม่จบแค่นั้น เขาตรวจสอบสมองของหนูต่อ (ซึ่งก็มีการประสานกันของการสแกนสมองและผ่าสมองอะไรก็ว่าไป)
สิ่งที่เขาพบก็คือ “เงื่อนไข” ในการ “ลบความทรงจำ” คือสมองในส่วนที่จะลบความทรงจำด้วยยา Propanolol ได้ มันจะต้องไม่มีโปรตีนที่เรียกว่า แชงค์โปรตีน (Shank Protein) อยู่ ถ้ามีโปรตีนตัวนี้ ความทรงจำจะถูกลบไม่ได้
การค้นพบตรงนี้ แม้จะยังห่างไกลสุดๆ กับการจะสร้าง “ยาลบความทรงจำอันเจ็บปวด” ในคน แต่มันทำให้เราเข้าใจกลไกของความทรงจำมากขึ้น และมันก็ทำให้เข้าใจเลยว่าสิ่งที่เรียกว่า แชงค์โปรตีน มันคือ “สารเคมี” ที่มีบทบาททำให้ความจำคงทนถาวร และถ้าเราต้องการจะลบความทรงจำจริงๆ สิ่งที่เราอาจต้องทำก่อนคือต้องแยกแชงค์โปรตีนที่ว่าออกก่อน หรือในทางกลับกัน เราก็อาจพัฒนาเทคนิค “รักษาความทรงจำ” บางอย่างเอาไว้ โดยไปเพิ่มแชงค์โปรตีนก็ได้
พูดง่ายๆ ถึงมันจะอีกไกลกว่า “ยาลบความทรงจำ” จะใช้ในมนุษย์ได้ แต่ก้าวนี้ก็เป็นก้าวสำคัญในความเข้าใจเรื่องเงื่อนไขทางชีวเคมีของความทรงจำ และมันก็น่าจะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับ “อวัยวะอันลึกลับ” อย่างสมองต่อไปในอนาคต
อ้างอิง
- IFLS. One Protein Indicates How Erasable A Memory Is, Rat Study Indicates> https://bit.ly/3jmIuFQ